สวัสดีครับ กลับมาพบกับผม TAXBugnoms กันอีกแล้วในทุกๆสัปดาห์ กับบทความและข่าวคราวเรื่องภาษีดีๆ ที่มีมาฝากกันอย่างต่อเนื่องในเวปไซด์ Aommoney แห่งนี้ครับ ฮ่าๆ (หัวเราะทำไม - -”)

สำหรับบทความประจำสัปดาห์นี้ พี่หนอมขออัญเชิญทุกท่านกลับไปที่จุดตั้งต้นเบาๆ อย่างการคำนวณภาษีกันอีกครั้ง โดยวันนี้มีตัวอย่างมาให้อ่าน + ดู + ฟัง กันไปพร้อมๆกันเลยครับว่า “วิธีคำนวณภาษี” นั้นเป็นอย่างไร ซึ่งตัวอย่างในวันนี้ไม่ได้มาจากไหนไกลครับ มันมาจากกกก คอร๋สการเงินสุดฮอตอย่าง Money Literacy ที่จัดขึ้นมามากกว่า 10 ครั้งทั่วประเทศไทย (ติดตามการรับสมัครคอร์สนี้ได้ที่เพจ Money Coach เลยครับผม)

เอาล่ะครับ เพื่อไม่ให้อารัมภบทพร่ำเพร้อไปมากกว่านี้ เรามาดูกันเลยดีกว่าครับว่า ตัวอย่างของเราในบทความนี้ มีรายละเอียดอะไรบ้าง

นายชัดเจนอายุ 26 ปี ประกอบอาชีพวิศวกรโยธาในบริษัทชั้นนำแห่งหนึ่ง ปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 32,000 บาท โบนัสขั้นต่ำปกติ 2 เดือน

ในส่วนของรายรับนอกเหนือไปจากเงินเดือนแล้ว นายชัดเจนยังตกลงเซ็นสัญญารับจ้างคุมงานก่อสร้างอีกมูลค่า 80,000 บาท โดยผู้รับเหมาจะจ่ายให้เขาเป็น 8 งวด งวดละ 10,000 บาท เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป (รายรับรายการนี้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 3%)

ในแต่ละเดือนนายชัดเจนมีรายการที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณภาษีดังต่อไปนี้

- ภาษี (จากเงินเดือน) 2,200 บาท
- ประกันสังคม 750 บาท
- หักสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 5% ของเงินเดือน
- เงินค่างวดผ่อนชำระคอนโดมิเนียม 4,000 บาทต่อเดือน คิดเป็นเงินต้น 1,000 บาท ที่เหลือ 3,000 เป็นดอกเบี้ย
- เงินบริจาค 500 บาท

ในส่วนของรายจ่ายรายปีมีดังต่อไปนี้

- เบี้ยประกันชีวิต 20,000 บาท ชำระในเดือนธันวาคม
- ปลายปี 2558 นายชัดเจนวางแผนที่จะซื้อกองทุนรวม LTF 50,000 บาท

คำนวณภาษีเงินได้ที่นายชัดเจนต้องชำระในปี 2558

สมการการคำนวณภาษีของนายชัดเจน คือ
[(รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) - เงินบริจาค] x อัตราภาษี

รายได้มีอยู่ 2 กลุ่ม คือ รายได้จากเงินเดือน และ รายได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ โดยเราจะแยกพิจารณาตามนี้ครับ

- รายได้จากเงินเดือน (ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 ในการคำนวณภาษี)

เงินเดือนทั้งปี จำนวน 32,000 x 12 = 384,000 บาท
โบนัส 2 เดือน จำนวน 32,000 x 2 = 64,000 บาท
รวมทั้งสิ้น 448,000 บาท

- รายได้จากวิชาชีพอิสระ - วิศวกรรม (ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 6 ในการคำนวณภาษี)

ค่าจ้างงวดละ 10,000 บาท จำนวน 8 งวด 10,000 x 8 = 80,000 บาท

การหักค่าใช้จ่ายของเงินได้ทั้ง 2 ประเภทนั้นแตกต่างกันดังนี้

- เงินได้ประเภทที่ 1 (เงินเดือน) หักค่าใช้จ่ายได้สูงสุด 40% ไม่เกิน 60,000 บาท ในที่นี้ คือ 60,000 บาท
- เงินได้ประเภทที่ 6 (วิศวกรรม) หักค่าใช้จ่ายได้สูงสุด 30% ในที่นี้คือ 24,000 บาท

เมื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาคำนวณตามตารางเพื่อหักค่าลดหย่อนจะได้ดังนี้ครับ

เมื่อได้เงินได้สุทธิแล้ว สิ่งต่อมาคือการคำนวณภาษี …
โดยเปรียบเทียบกับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะคำนวณภาษีออกมาได้ทั้งสิ้นจำนวน (150,000 x 0) + (123,800 x 5) = 6,190 บาท

แต่จากข้อมูลเราจะเห็นว่านายชัดเจนถูกหักภาษี ณ ที่จ่า่ยไว้ทั้งสิ้นจำนวน 28,800 บาท ซึ่งคำนวณมาจากเงินเดือน 12 เดือน (2,200 x12) และ ค่าจ้างจากวิชาชีพอิสระ (80,000 x 3%) ดังนั้นจะกลายเป็นว่า นายชัดเจนได้ภาษีคืนเป็นจำนวน 22,610 บาทนั่นเองครับ!!!

หากใครดูแล้วยังงงๆ ไม่เข้าใจ ผมมีคลิปการคำนวณภาษีเรื่องนี้มาฝากให้ดูกันด้วยครับผม สามารถดูได้ที่ Youtube Channel TAXBugnoms ด้านล่างนี้เลยครับ

บทสรุปจากกรณีศึกษา

สำหรับบทสรุปในกรณีนี้ เราจะเห็นว่าการคำนวณภาษีจากเงินได้หลายๆประเภทนั้นไม่ยากครับ เพียงแต่เราต้องมองโจทยให้ออกก่อนว่า รายได้นั้นถือเป็นเงินได้ประเภทไหนตามกฎหมาย และสามารถหักค่าใช้จ่ายได้เท่าไร หลังจากนั้นมาดูค่าลดหย่อนที่เกิดขึ้นว่ามีอะไรบ้าง นำทั้งหมดมาปนรวมกัน Mix & Match ปั้บก็จะได้ออกมาเป็นจำนวนภาษี

ซึ่งกรณีของนายชัดเจนนี้ สิ่งที่ต้องแก้ไข คือ ฝ่ายบุคคลหักภาษีเยอะเกินไปกว่าความเป็นจริงมาก (อันนี้ต้องแนะนำให้แจ้งเรื่องค่าลดหย่อนจากทางฝ่ายบุคคลก่อนเป็นอันดับแรกครับ) นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการประหยัดภาษีส่วนเพิ่ม (ถ้าต้องการและมีกระแสเงินสดเหลือ) ก็สามารถทำได้อีกเช่นเดียวกันครับ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ LTF, RMF หรือประกันชีวิตเพิ่ม รวมถึงการที่จะเพิ่ม % ในการสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำได้เช่นเดียวกันครับ

สุดท้ายนี้ผมคงต้องฝากไว้อย่างเช่นเคยครับว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการวางแผนภาษี คือ การคำนวณภาษีให้ถูกต้องเป็นลำดับแรก หลังจากนั้นเราค่อยวางแผนลดหย่อนเพิ่มเติมตามสมควร เพียงเท่านี้ภาษีก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากอะไรเลยใช่ไหมล่ะคร้าบ