เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมาราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วันถัดมาหลังจากประกาศใช้ (วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559) ซึ่งหลักการจัดเก็บภาษีมรดกนั้น มีเหตุผลว่า ในปัจจุบันการส่งมอบทรัพย์สินต่างๆ หรือการโอนทรัพย์สินโดยทางมรดก นั้นไม่ต้องเสียภาษี ไม่ว่าจะมีจำนวนมากแค่ไหนก็ตาม ซึ่งก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงได้ประกาศใช้ออกมาเพื่อสร้างความเป็นธรรม และจะได้นำภาษีไปพัฒนาประเทศต่อไปครับ (จริงๆนะ..แฮร่)

และวันนี้คือวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ดังนั้นจึงถึงเวลาที่นาย TAXBugnoms คนเดิมจะมา Update เรื่องราวของภาษีมรดกเพิ่มเติมให้ได้ฟังกันอีกครั้งหนึ่งครับ!

คำว่า "มรดก" นั้น หมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย รวมตลอดทั้งทรัพย์สินที่เป็น สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่างๆ ของผู้ตายด้วย ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1599 ได้กำหนดไว้ว่า "มรดกย่อมตกทอดทายาทเมื่อเจ้ามรดกตาย"

ซึ่งคำว่า "ทายาท" นั้นยังแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ทายาทอสูร เอ้ย ไม่ใช่ครับ ทายาทตามพินัยกรรม และ ทายาทโดยธรรม

ทายาทโดยพินัยกรรมนั้น เราเข้าใจกันดีว่าคือทายาทที่เจ้าของมรดกจงใจทิ้งสิ่งเล็กๆที่เรียกว่าทรัพย์ไว้ให้ตามที่พินัยกรรมระบุ ส่วนทายาทโดยธรรมนั้นจะหมายถึง 6 ลำดับขั้นต่อจากเจ้าของมรดกนั่นคือ ผู้สืบสันดาน-บิดามารดา-พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน-พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน-ปู่ยาตายาย-ลุงป้าน้าอา ซึ่งหลักการแบ่งมรดกของทายาทโดยธรรมนั้นจะเรียงตามลำดับของทายาทในแต่ละขั้นเลยล่ะครับ

โดยหลักการจัดเก็บภาษีมรดกนั้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขประมวลรัษฏากรตามมาครับ เนื่องจากการจัดเก็บภาษีนั้นมี 2 ส่วน คือ ภาษีจากการรับมรดก (จัดเก็บจากมรดกที่แต่ละบุคคลได้รับ) กับ ภาษีจากการรับให้ (การส่งมอบให้ก่อนที่จะเสียชีวิต) ซึ่งได้ออกเป็น พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฏากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558 เพื่อยกเลิกมาตรา 42(10) และเพิ่มเติมข้อกฎหมายต่างๆให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นครับ

และภาษีมรดกนั้นจะไม่ใช้บังคับใน 2 กรณีก็คือ กรณี มรดกที่เจ้ามรดกเสียชีวิตก่อนวันที่ พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดกประกาศใช้บังคับ นั่นก็คือวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 และ กรณีมรดกของคู่สมรสที่ได้รับจากเจ้าของมรดก ครับ

เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ผมได้สรุปใจความสำคัญเรื่องการเสียภาษีมรดกออกมาเป็น Infographic สั้นๆง่ายๆในสไตล์ Aommoney.com  เพื่อที่เพื่อนๆพี่ๆน้องๆ จะได้เข้าใจกันมากขึ้นครับ โดยข้อมูลเพิ่มเติมนั้นสามารถอ่านได้ที่ สรุปพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฏากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558 คร้าบ

แต่สำหรับวันนี้ผมมีสรุปเพิ่มเติมในเรื่องของ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมรดก และ การคำนวณมูลค่าของภาษีมรดก มาฝากกันเพิ่มเติมด้วยครับ

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมรดก

สำหรับผู้มีหน้าที่เสียมรดกนั่นคือ ผู้รับมรดกนั่นเองครับ โดยต้องเป็นบุคคลดังต่อไปนี้

1. บุคคลที่มีสัญชาติไทย (บุคคลธรรมดา และ นิติบุคคล)
2. บุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่มีถื่นที่อยู่ในประเทศไทย หรือ ได้รับทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

ทรัพย์มรดกและมูลค่าที่ต้องนำมาเสียภาษีมรดก

สำหรับมูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษีนั้น จะใช้มูลค่าที่ได้รับจากเจ้าของมรดกแต่ละราย ซึ่งไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวกันหรือหลายคราวก็ตาม หากมีมูลค่ารวมกันเกินกว่า 100 ล้านบาท จะเสียภาษีจากส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท

โดยคำว่า "มูลค่า" นั้น คือ มูลค่าของทรัพย์สินที่ได้รับหักหนี้สินที่ตกทอดมาจากการรับมรดกนั้น และยังต้องมีการพิจารณาทบทวนมูลค่ามรดกทุก 5 ปีอีกด้วยครับ

ซึ่งการได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมรดกอย่างง่ายๆ ก็คือ ต้องแสดงเจตนาเพื่อบริจาคหรือใช้ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือ กิจการสาธารณะประโยชน์ ให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์นั้น หรือ บุคคลหรือองค์การต่างประเทศตามที่กฎหมายกำหนด

แต่สำหรับทรัพย์ 5 ประเภทที่ต้องเสียภาษีมรดก คือ อสังหาริมทรัพย์ หลักทรัพย์ เงินฝาก ยานพาหนะ และทรัพย์สินทางการเงินอื่นๆตามที่กฎหมายกำหนดนั้น จะมีหลักการพิจารณามูลค่าดังนี้ครับ

กรณี "อสังหาริมทรัพย์" จะใช้ราคาประเมินเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หักด้วยภาระอื่นๆที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

และกรณี "หลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย" จะใช้ราคาในวันสิ้นสุดเวลาทำการ (ราคาปิด) ที่เกิดขึ้นในวันที่ได้รับมรดก

ส่วนกรณีอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในข่ายของ 2 กรณีนี้ จะกำหนดโดยใช้หลักเกณฑ์ของกฎกระทรวง โดยใช้หลักทั่วไปไม่ได้มีลักษณะเป็นการเฉพาะเจาะจงครับ ซึ่งปกติแล้วมักจะเป็นราคาตลาดนั่นเองครับ

และสำหรับอัตราภาษีมรดกนั้น ถ้าหากเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานก็จะเสียในอัตรา 5% จากส่วนที่เกิน 100 ล้าน แต่ถ้าหากไม่ใช่แล้วก็เสียในอัตรา 10% จากส่วนที่เกิน 100 ล้านเช่นเดียวกันครับ

วิธีการเสียภาษีมรดก

วิธีการเสียมรดกนั้น จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภายใน 150 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับมรดก โดยเสียภาษีพร้อมยื่นแบบแสดงรายการ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา โดยเจ้าหน้าที่จะส่งให้เจ้าพนักงานประเมินทำการตรวจสอบและประเมินภาษีภายใน 1 ปี หากมีการเสียเพิ่ม ต้องเสียภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับใบแจ้งครับ

นอกจากนั้นยังสามารถขอผ่อนได้ 2-5 ปี (เกิน 2 ปี อาจจะเสียเงินเพิ่ม) และสามารถอุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินได้ภายใน 30 วัน (ฟ้องศาลได้ภายใน 180 วัน) รวมถึงยังสามารถขอคืนภาษีที่เสียเกินไปได้ภายใน 5 ปีอีกด้วยครับ

และถ้าหากเราหลีกเลี่ยงไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายใน 150 วันนับแต่วันที่รับมรดกจะมีโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และสามารถถูกประเมินได้ภายใน 10 ปี รวมถึงยังต้องเสียเบี้ยปรับ 1 เท่าและเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนอีกด้วยครับ อย่างไรก็ตามถ้าหากยื่นแบบไว้ไม่ครบถ้วน เบี้ยประจำเสียเพียง 0.5 เท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียเพิ่มเท่านั้นครับ

เป็นไงบ้างครับ ผมหวังว่าเพื่อนๆพี่ๆน้องๆทุกท่านได้อ่านบทความนี้แล้วคงจะเข้าใจเรื่องของภาษีมรดกมากขึ้นไม่มากก็น้อยนะครับ 

สุดท้ายนี้คงต้องขอลาไปก่อน.. ถ้าใครมีปัญหาหรือข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถแวะมาพูดคุยกันได้ที่เพจ @TAXBugnoms ตลอด 24 ชั่วโมงนะคร้าบ อิอิ ^^