แหม่… เปิดหัวกันมาแบบนี้ หลายคนคงสงสัยสินะครับว่า มันเป็นคำถามที่ต้องการอะไรกันแน่ ไม่เป็นไรครับ เพราะวันนี้ผมม TAXBugnoms เจ้าเก่าเจ้าเดิม เพิ่มเติมคือความสดใสในการลดหย่อนภาษีจะมาไขข้อข้องใจกับคำถามนี้ให้ฟังกันครับ

หลายๆคนที่เป็นมือใหม่ในการลดหย่อนภาษี มักจะเริ่มจากคำถามแบบนี้ด้วยความสงสัยครับว่า มันมีอะไรลดหย่อนภาษีได้บ้าง เห็นคนนู้นว่าดี คนนี้ว่าใช่ จะซื้ออะไรดี ประกัน LTF RMF หรือมีนโยบายอันไหนที่น่าสนใจกันบ้าง บอกมาให้หมดนะ!! เพราะชั้นอยากจะลดภาษีเต็มที่แล้ว!!

วันนี้ผมเลยอยากจะแนะนำเป็นคำถามง่ายๆ ในการตรวจสอบตัวเองครับว่า เพื่อนๆพี่ๆน้องๆ พร้อมหรือยังกับการลดหย่อนภาษีของตัวเอง และควรจะวางแผนต่อไปยังไง ถึงจะเรียกว่าคุ้มค่าที่สุด

1. ปีนี้เสียภาษีเท่าไร?

คำถามแรกเหมือนคำถามทักทายว่าสบายดีไหมใช่ไหมครับ (ฮา) แต่จริงๆมันคือคำถามที่ตอกย้ำครับว่า “เราเข้าใจการคำนวณภาษีหรือเปล่า” เพราะถ้าหากเรายังไม่รู้เลยว่าเราเสียภาษีเท่าไร แล้วเราจะไปวางแผนลดหย่อนภาษีได้ยังไงกันล่ะครับ

2. เหลือค่าลดหย่อนอะไรที่ยังไม่ได้ใช้บ้าง?

คำถามต่อมา คือ ไอ้ภาษีที่ต้องเสียในข้อ 1 นั้น เราใช้ค่าลดหย่อนทั้งหมดครบหรือยังครับ (เช็ครายการค่าลดหย่อนล่าสุดได้ที่บทความ สรุปรายการลดหย่อนภาษีประจำปี 2559 พร้อม UPDATE เทคนิคประหยัดภาษีที่คุณต้องรู้!!) ซึ่งถ้าหากตรงนี้ค่าลดหย่อนยังไม่ครบ หรือหลงลืมตัวไหนก็อย่าลืมจัดไปให้ครบครับ มันจะเพิ่มการประหยัดภาษีให้เราได้อย่างแน่นอนครับ

3. แล้วเราควรที่จะเพิ่มค่าลดหย่อนอะไรบ้าง?

หลายคนอาจจะสงสัยว่าคำถามนี้ต่างจากคำถามข้อที่ 2 ยังไงใช่ไหมครับ ผมบอกเลยครับว่า ค่าลดหย่อนในข้อที่ 3 ที่อยากจะให้เพิ่มนั้น หรือควรหาเพิ่มนั้น มันคือค่าลดหย่อนในการออมเงินครับ ซึ่งตัวฮอตฮิตติดเทอร์โบก็จะมีอยู่ 3 ตัวที่รู้จักกันดี นั่นคือ LTF, RMF และ ประกันชีวิต ซึ่งแต่ละตัวก็มีเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไปครับ โดยผมขอทวนหลักเกณฑ์สำหรับ 3 ตัวนี้ให้ฟังอีกทีนะครับ

กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)

เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระยะยาว โดยเน้นลงทุนในตลาดหุ้นเป็นหลัก โดยที่เราสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ในจำนวนสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งมีเงื่อนไขว่าต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 7 ปีปฎิทินสำหรับการซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 – 31 ธันวาคม 2562  

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่เราสามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภทตั้งแต่ ตลาดเงิน ตราสารหนี้ หุ้น อสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ โดยมีวัตถุประสงค์ไว้ใช้ในการวางแผนเกษียณ โดยที่เราสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ในจำนวนสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งมีเงื่อนไขเพิ่มเติมตามนี้ครับ

      - ต้องซื้อติดต่อกันทุกปี (แต่ถ้าผิดเงื่อนไขสามารถผิดได้ 1 ปี)
      - ต้องซื้อเป็นจำนวนเงินขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี หรือ 5,000 บาท
      - ต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี และถือไว้จนอายุครบ 55 ปี

นอกจากนั้นยอดรวมของ RMF + กบข./กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน + กองทุนการออมแห่งชาติ + ประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทอีกด้วยครับ

เบี้ยประกันชีวิต มี 2 ประเภท คือ

      - ประกันชีวิต (แบบทั่วไป) ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
      - ประกันชีวิต (แบบบำนาญ) ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท

โดยประกันชีวิตแบบทั่วไปนั้นในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้ การหักค่าเบี้ยประกันจะหักได้สูงสุด 10,000 บาท แต่ถ้าหากคู่สมรสมีรายได้จะหักสูงสุดได้ถึง 100,000 บาทครับ

สำหรับใครที่สงสัยว่าประกันชีวิตของตัวเองเป็นแบบไหน ลดหย่อนภาษีได้หรือไม่ ผมแนะนำให้สอบถามจากตัวแทนประกันได้เลยครับ หรือจะดูจากใบเสร็จรับเงินค่าประกันที่เราจ่ายไปก็ได้ครับว่าเรามี “เบี้ยประกันชีวิต” ที่สามารถนำไปลดหย่อนได้จำนวนเท่าไหร่ครับ

ทีนี้ลองมาตั้งโจทย์ดูกันเล่นๆครับว่า ในกรณีที่เงินได้ทั้งปีแตกต่างกันในแต่ละกรณี จะสามารถลดหย่อนภาษีด้วยค่าลดหย่อนทั้ง 3 ตัวนี้ได้สูงสุดเท่าไรบ้างครับ

ผมขอตั้งคำถามต่อให้ลองคิดกันอีกหน่อยครับว่า ในชีวิตจริงของเรานั้น เราคงไม่สามารถเลือกลดหย่อนภาษีได้เต็ม MAX แบบนี้ (เนื่องจากเราต้องมีเงินเหลือไว้ทำอย่างอื่นด้วยใช่ไหมครับ) ดังนั้นลองคิดดูครับว่า เราจะเลือกเกณฑ์อะไรมาใช้ในการเลือกดีล่ะว่า เราควรจะซื้อ LTF เท่าไร RMF เท่าไร และประกันชีวิตเท่าไร

สำหรับผมแล้ว ผมมองว่าเรื่องนี้ไม่มีคำตอบตายตัวครับ แต่มันต้องตั้งคำถามว่า เราต้องการอะไรบ้างตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป (LTF คือ ลงทุนระยะยาว, RMF คือ วางแผนเกษียณ, ประกัน คือ ป้องกันความเสี่ยง) และเราสามารถปล่อยเงินจำนวนนี้ให้ “จม” ได้นานแค่ไหน เช่น

  1. ถ้าเลือก LTF เราต้องถือครอง 7 ปีปฎิทิน นั่นคือ เงินของเราทั้งจำนวนนั้นจะถูกฝังไว้ประมาณ 5 ปีกับอีกไม่กี่วัน แบบนั้นเราโอเคหรือเปล่า ถ้าหากฉุกเฉินต้องใช้เงินเรามีไหม?
  2. ถ้าเลือก RMF เราต้องซื้อติดต่อกันทุกปี และถือไปจนถึงอายุ 55 ปี นั่นแปลว่าเงินเราจะต้องอยู่นานขนาดนั้น (ตามวัตถุประสงค์การลงทุน) และเราโอเคกับมันหรือเปล่า หรือเรามีช่องทางในการวางแผนเกษียณทางอื่นที่ดีกว่านี้
  3. ถ้าเลือก ประกันชีวิต เราต้องแน่ใจว่ามีเงินส่งเบี้ยประกันครบตามอายุกรมธรรม์ ไม่มีการเวนคืนก่อนกำหนด (เพราะอาจจะผิดเงื่อนไขภาษี) รวมถึงมีความคุ้มครองที่พอดีและพอใจที่เราต้องการหรือเปล่า

นี่คือเรื่องของเกณฑ์คร่าวๆในการตัดสินใจลดหย่อนภาษีดัวยเครื่องมือที่ฮอตฮิตอย่างการออมและการลงทุน