สวัสดีครับ กลับมาพบกับผม TAXBugnoms เจ้าเก่าคนเดิม ผู้ทำหน้าที่เติมความรู้ด้านภาษีให้กับพี่ๆน้องๆทุกคนคร้าบบ สำหรับบทความในวันนี้เป็นเรื่องราวดีๆเกี่ยวกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีกแล้วครับ 

วันก่อนมีคำถามจากแฟนเพจ TAXBugnoms รุ่นเก่าแก่คนหนึ่ง ถามถึงเรื่อง การยื่นภาษีในกรณีที่ออกจากงานแล้วเปลี่ยนงานใหม่ ว่ามีเรื่องภาษีอะไรที่ต้องรู้และเตรียมตัวยื่นแบบแสดงรายการให้ถูกต้องกันบ้าง ดังนั้นวันนี้พรี่หนอมถือโอกาสสรุปเรื่องภาษีที่คนเปลี่ยนงานหรือกำลังจะเปลี่ยนงานต้องรู้ ออกมาเป็นเคล็ดลับ 3 ข้อนี้ เพื่อที่ว่าจะได้ยื่นภาษีได้อย่างถูกต้องคร้าบ 

เอาล่ะ .. เรามาดูกันเลยดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง 

1. รายได้ทุกอย่างในปีนั้นต้องนำมายื่นภาษี 

การเปลี่ยนงาน การออกจากงานระหว่างปี ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในปีนั้น เราต้องนำข้อมูลมายื่นภาษีให้ถูกต้องครับ เช่น ในปี 2558 นายบักหนอมทำงานที่บริษัท ออมมันนี่ จำกัด 5 เดือนแล้วลาออกมานั่งตบยุงเฉยๆ แบบนี้เงินเดือนที่นายบักหนอมได้รับจากออมมันนี่ 5 เดือนนั้นก็ต้องนำมายื่นแบบแสดงรายการภาษีด้วยครับ

 หรือ ถ้าในปี 2558 นายบักหนอมทำงานที่บริษัทอื่นมาเป็นเวลา 3 เดือน แล้วมาทำงานต่อที่บริษัท ออมมันนี่ จำกัด 9 เดือน ก็เท่ากับว่านายบักหนอมจะต้องนำเงินเดือนทั้ง 2 ที่มารวมกันเพื่อยื่นแบบแสดงรายการภาษีเช่นเดียวกันครับ

 สิ่งสำคัญที่อยากจะเน้นย้ำคือ... เมื่อเราออกจากงานแล้ว อย่าลืมที่จะติดตามขอเอกสารหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายของปีนั้นๆ จากที่ทำงานเก่าแต่ละแห่ง มาให้ครบถ้วนด้วยครับ ไม่ใช่ว่าออกจากงานแล้วก็ลาลับจบกันไปเลย เพราะแบบนี้อาจจะมีปัญหากับตัวเราได้นะคร้าบ

2. เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ต้องนำมายื่นภาษีด้วยนะ 

สำหรับเคล็ดลับข้อต่อมา จะเป็นในที่ทำงานเก่าของเรานั้น มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับพนักงาน ซึ่งเราก็จะถูกหักเงินเข้ากองทุนจากเงินเดือนอยู่เป็นระยะๆ ดังนั้นเมื่อออกจากงานแล้ว สิ่งที่ต้องพิจารณาตามหลักกฎหมาย มีดังนี้ครับ

ถ้าอายุงานไม่เกิน 5 ปี

เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้คืนนั้น ต้องนำมารวมคำนวณเป็น เงินได้ เหมือนรายได้จากเงินเดือนทุกประการครับ

ถ้าอายุงานเกิน 5 ปี

เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้คืนนั้น ได้รับสิทธิแยกในการคำนวณภาษีเงินได้ โดยสามารถแยกคำนวณต่างหากจากเงินเดือนในรายการ “เงินได้ที่จ่ายครั้งเดียวเนื่องจากออกจากงาน” ครับ

โดยหลักการสำคัญในการคำนวณเงินกองทุนตรงนี้ TAXBugnoms ขอเพิ่มเติมให้อีก 3 เรื่องครับ 

1) จำนวนเงินที่นำมาคำนวณภาษี คือ เงินได้ส่วนที่เป็นผลประโยชน์ + เงินส่วนที่บริษัทสมทบ เท่านั้น ซึ่งตรงนี้ผมแนะนำให้ดูจากใบหักภาษี ณ ที่จ่ายที่แนบมาตอนได้รับเงินจากกองทุนครับ จะบอกว่ายอดที่นำมาคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นเท่าไร ให้ใช้ยอดนั้นในการยื่นแบบแสดงรายการคร้าบ

2) จำนวนวันที่นับต้องเป็นปีบริบูรณ์ครับ นั่นคือ ปีเต็มๆไม่เม้มว่าไม่ถึง ดังนั้นต้องดูด้วยว่าเราทำงานครบ 5 ปีบริบูรณ์หรือเปล่า ซค่งสามารถแยกยื่นตามหลักการในข้อ 2 ข้างต้นได้ครับ

3) หากไม่ต้องการเสียภาษีสำหรับรายได้ในส่วนนี้ สิ่งที่เราทำได้คือ ขอโอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากกองทุนเก่า ไปยังกองทุนใหม่ของที่ทำงานแห่งใหม่ครับ ซึ่งจะถือเป็นการโอนย้ายและได้สิทธิไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วยครับ

อ้อ.. มีอีกกรณีหนึ่งที่อยากบอกให้รู้ไว้ครับ นั่นคือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น จะได้รับยกเว้นไม่ต้องมาคำนวณภาษีก็ต่อเมื่อออกจากงานตอนที่มีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป หรือ ตาย หรือ ทุพพลภาพ คร้าบบ

3. กรณีได้รับเงินชดเชยอื่นๆ 

อย่าลืมพิจารณาเรื่องความแตกต่างระหว่างการ “ลาออก” กับ “ไล่ออก” ด้วยนะครับ เพราะถ้าหากเป็นการลาออกจากงานตามความสมัครใจ (เซ็นหนังสือลาออกเอง) แล้วได้รับค่าชดเชย เงินได้ส่วนนี้จะไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมายแรงงานแต่อย่างใด และนั่นแปลว่าเราต้องเอามารวมคำนวณภาษีด้วยนะคร้าบบ

สำหรับเรื่องการคำนวณภาษีนั้น ผมได้เคยเขียนบทความไว้ในบล็อกภาษีข้างถนน ชื่อว่า [บทความพิเศษ] สุดยอดวิธีคำนวณภาษีเมื่อออกจากงาน!!! ถ้าหากใครสนใจก็สามารถแวะเข้าไปอ่านกันได้เลยครับ หรือถ้าหากไม่เข้าใจก็ส่งคำถามมาได้ที่เพจ TAXBugnoms ได้เลยคร้าบ

https://www.youtube.com/embed/UAGe0h4JO6s

สุดท้ายนี้ สิ่งที่ผมอยากจะฝากไว้ก็คือ ไม่ว่าจะออกจากงานเมื่อไรหรือแบบไหนก็ตาม สิ่งสำคัญเรื่องหนึ่งที่มนุษย์เงินเดือนอย่างเราต้องรับผิดชอบก็คือ การคำนวณและยื่นแบบภาษีของตัวเองให้ถูกต้องครับ เพราะมันถือเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี และทำให้ถูกต้องตามกฎหมายนั่นเองคร้าบบบ