สวัสดีครับ วันนี้ @TAXBugnoms มีข่าวล่ามาเร็วเรื่องของ การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการซื้อ LTF และ RMF มาแลกเปลี่ยนให้ฟังกันครับ เนื่องจากเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา ทางกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้มาถึง 3 ฉบับติดๆ คือ ฉบับที่ 257, 258 และ 259 (คลิกที่เลขเพื่ออ่าบกฎหมายฉบับเต็มได้นะครับ)

โดยออกประกาศฉบับใหม่ที่ว่านี้เพื่อแก้ไขข้อความเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่เคยประกาศไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ฉบับที่ 169, 170 และ 171 คร้าบบ

แต่เพื่อความสั้นง่ายและสบายๆสไตล์ #จบข่าว สำหรับชาวออมมันนี่และแฟนเพจพรี่หนอม ผมเลยได้สรุปใจความสำคัญเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสำหรับผู้ที่จะลงทุนในกองทุนรวม LTF และ RMF ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2558 นี้ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นดังนี้คร้าบ

การเปลี่ยนแปลงสำหรับ LTF

สำหรับ LTF ได้เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจากคำว่า "เงินได้" เป็นคำว่า “ผู้มีเงินได้สามารถซื้อหน่วยลงทุนได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี เป็นจำนวนเงินสูงสุดถึง 500,000 บาท”

การเปลี่ยนแปลงสำหรับ RMF

สำหรับ RMF ก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกันกับ LTF ครับ โดยเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจากคำว่า "เงินได้" เป็นคำว่า “ผู้มีเงินได้สามารถซื้อหน่วยลงทุนได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี เป็นจำนวนเงินสูงสุดถึง 500,000 บาท”  (รวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข., และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน)

โดยข้อความที่เปลี่ยนแปลงจาก คำว่า “เงินได้” ให้เป็นคำว่า “เงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี” นั้นจะส่งผลกระทบให้ เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีต่างๆ ไม่สามารถนำมารวมเป็นฐานเพื่อซื้อ LTF หรือ RMF ได้ แต่ถ้าหากเรามีเงินได้ตามปกติก็จะไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับชีวิตแม้แต่น้อยครับ ซึ้อได้ตามเดิมต่อไปโลด 

เพิ่มเติม เนื่องจากมีหลายคนสับสนความหมายของคำว่า เงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี  ผมเลยเขียนข้อความ Update ความหมายให้ชัดเจนขึ้น และโพสลงใน Facebook @TAXBugnoms ให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆอ่านกันครับ เลยขออนุญาตยกข้อความทั้งหมดมาให้อ่านอีกครั้งหนึ่งครับ

สรุปเรื่องการปรับปรุงกฏหมาย LTF กับ RMF อีกทีนะครับ!!เงินได้สุทธิ = เงินได้ที่ต้องเสียภาษี - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน...

Posted by TaxBugnoms on Wednesday, July 8, 2015

ยกตัวอย่างเช่น ตามกฎหมายเดิม ถ้านายเกรย์แมนมีกำไรจากการขาย LTF (ซึ่งถือว่าเป็นเงินได้ที่ยกเว้นภาษี) จำนวน 50,000 บาท เมื่อนำกำไรจำนวนนี้มากรอกลงในแบบแสดงรายการภาษีแล้ว นายเกรย์แมนจะสามารถนำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นก้อนนี้มาใช้สิทธิซื้อ LTF เพื่อลดหย่อนภาษีเพิ่มได้อีก 15% คือ 7,500 บาท ตราบใดที่ไม่เกินเพดานสูงสุดของการลดหย่อน คือ 500,000 บาท แต่ผลของกฎหมายฉบับใหม่ที่ออกมานี้นายเกรย์แมนจะไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้อีกต่อไปครับ (พูดแล้วเศร้า)

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ถ้าเพื่อนๆมีเงินได้จากเงินเดือนปีละ 500,000 บาท และในปีนั้นมีกำไรจากการขาย LTF จำนวน 100,000 บาท กฎหมายใหม่นี้จะมีผลให้เราสามารถนำเงินได้จากเงินเดือนเพียงตัวเดียวมาเป็นฐานในการคำนวณซื้อ LTF ในอัตรา 15% ของ 500,000 บาท หรือ 75,000 บาทนั่นเองคร้าบบ

แต่ในทางเดียวกันก็ (อาจจะ) เป็นข้อดีในการซื้อ RMF นั่นคือเป็นการตอกย้ำว่า ถ้าปีใดเราไม่มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ในปีนั้นเราก็ไม่จำเป็นต้องซื้อ RMF ได้เช่นเดียวกัน เพราะกำหนดให้ซื้อเป็นจำนวน 3% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี เมื่อไม่มีเงินได้ ก็ไม่ต้องซื้อสบายๆจ้า

ก่อนจากกัน มีอีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะย้ำให้ฟังอีกครั้ง นั่นคือ เรื่องของการซื้อ LTF หรือ RMF ครับ ที่มีหลายคนสอบถามมาบ่อยๆเลยว่า เราสามารถซื้อหลายกองทุนต่อปีได้หรือไม่ คำตอบคือได้ครับ แต่ห้ามซื้อเกินกว่า 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทครับ

และทั้งหมดนี้ก็เป็นการ Update ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อย ซึ่งโดยส่วนตัวผมมองว่าอาจจะเป็นแนวโน้มที่ดีในการต่ออายุ LTF ที่กำลังจะหมดอายุลงในปี 2559 นี้นะครับ เนื่องจากมีการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็คงต้องติดตามกันต่อไปอีกสักพักว่าจะออกมาเป็นอย่างไร และถ้ารู้เมื่อไรจะรีบมารายงานให้ทราบอย่างแน่นอนคร้าบ

สำหรับคนที่อยากได้สั้นโคตรๆ ตามนี้ครับ
จากเดิมที่ซื้อได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ทั้งหมด (รวมเงินได้ที่ยกเว้น)
เปลี่ยนเป็นซื้อได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี