สวัสดีครับ กลับมากันอีกครั้งกับบทความประจำเวปไซด์ออมมันนี่ กับพรี่หนอมคนดีคนเดิมเพิ่มเติมคือเจ้าของเพจ @TAXBugnoms นั่นเองครับผม

ผ่านมาจนเกือบจะถึงสิ้นปีแล้วครับ โดยสิ่งที่ผมอยากจะแนะนำให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆะทบทวนกันให้ดี นั่นคือเรื่องของ “รายการลดหย่อนภาษีประจำปี 2559” นั่นเองครับ โดยผมเคยเขียนบทความทำนองนี้ไปแล้วในปี 2558 กับบทความ 18 รายการลดหย่อนภาษีประจำปี 2558 พร้อมเทคนิคประหยัดภาษีที่คุณต้องรู้ แต่สำหรับบทความสำหรับปี 2559 นี้มีเรื่องอัพเดทมากขึ้นกว่าเดิมครับ เอาล่ะ... เรามาลองดูกันเลยดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง

ขออนุญาตทบทวนความเข้าใจกับอีกทีนะครับว่า คำว่า “ค่าลดหย่อน” ที่เราจะคุยกันนี้ คือ “รายการที่กฎหมายกำหนดไว้ให้นำไปหักออกจากเงินได้เพิ่มขึ้นหลังจากที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว” ซึ่งมาจากวิธีการคำนวณตามนี้ครับ

(รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี

โดยเราจะเรียกการคำนวณในวงเล็บนี้ว่า “เงินได้สุทธิ” ซึ่งวิธีการวางแผนประหยัดภาษีที่เรานิยมกันที่สุด คือ การเพิ่ม “ค่าลดหย่อน” ให้มากที่สุด เพื่อให้เงินได้สุทธิของเราต่ำที่สุด และเสียภาษีน้อยๆนั่นเองครับ

(ตารางอัตราภาษีแสดงให้เห็นว่า ยิ่งมีเงินได้สุทธิมาก ยิ่งต้องเสียภาษีมาก)

ดังนั้นสิ่งที่คนส่วนใหญ่มักจะทำกัน คือ การหาค่าลดหย่อนมาเพิ่มเติม ซึ่งประกอบไปด้วยรายการต่างๆ ที่มีมากมายโดยผม TAXBugnoms ขอแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้ครับ

กลุ่มที่ 1 ค่าลดหย่อนส่วนตัว
ครอบครัว และการเป็นคนดีศรีสังคม

สำหรับค่าลดหย่อนในกลุ่มแรกนี้ จะเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวของเราครับ ซึ่งเป็นค่าลดหย่อนที่สามารถหยิบจับขยับเข้ามาใช้งานได้ง่าย เพียงแค่เรามีคุณสมบัติตามที่ว่ามา เราก็ได้สิทธิเดี๋ยวนั้นเลยครับ

1. ค่าลดหย่อนส่วนตัวจำนวน 30,000 บาท

คือ ค่าลดหย่อนสำหรับคนมีเงินได้ทุกคนที่ยื่นแบบแสดงรายการ แค่เพียงเรายื่นแบบแสดงรายการก็สามารถใช้สิทธิค่าลดหย่อนนี้ได้เลยครับ

2. ค่าลดหย่อนคู่สมรสจำนวน 30,000 บาท

คือ ค่าลดหย่อนของคู่สมรส (ตามกฎหมาย) กรณีที่คู่สมรส (สามีหรือภรรยา) ที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายและไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้และเลือกยื่นแบบแสดงรายการรวมกันในการคำนวณภาษี เราจะได้สิทธิค่าลดหย่อนส่วนเพิ่มเติมจากส่วนนี้ทันทีครับ

3. ค่าลดหย่อนบุตรและการศึกษาบุตรจำนวน 15,000 บาทและ 2,000 บาท

โดยคำว่า “บุตร” หมายถึง บุตรโดยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ คนละ 15,000 บาท และหักได้สูงสุดไม่เกิน 3 คน (นับเฉพาะทีมีชีวิต) โดยมีเงื่อนไขดังนี้ครับ

– บุตรต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี
– ถ้าอายุอยู่ในระหว่าง 21-25 ปี ต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ขึ้นไป
– บุตรต้องไม่มีเงินได้ในปีภาษีตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป

ส่วนค่าลดหย่อนการศึกษาบุตรนั้น มีสำหรับบุตรที่กำลังศึกษาภายในประเทศ โดยจะได้รับค่าลดหย่อนเพิ่มเติมอีกคนละ 2,000 บาท โดยคำว่าการศึกษาหมายถึงตั้งแต่ ชั้นอนุบาลไปจนถึงปริญญาเอก (ไม่รวมชั้นเตรียมอนุบาลนะครับ)

4. เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่จำนวน 15,000 บาท

เน้นว่า ต้องเป็นเบี้ยประกันสุขภาพคุณพ่อคุณแม่เท่านั้นครับ ซึ่งสามารถใช้สิทธิได้ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี หากเรามีการซื้อประกันสุขภาพให้ท่าน สามารถนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพมาลดหย่อนได้สูงสุดถึง 15,000 บาท และค่าเบี้ยประกันสุขภาพนี้สามารถแบ่งกันสำหรับลูกหลายๆคนได้ด้วยครับ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : 2 วิธีลดหย่อนภาษีสำหรับลูกกตัญญู!

5. ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่เราและพ่อแม่คู่สมรส คนละ 30,000 บาท

ถ้าหากเราหรือคู่สมรสมีคุณพ่อคุณแม่ที่อายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท เราก็จะมีสิทธิหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูได้คนละ 30,000 บาท นั่นหมายความว่าถ้าเราเลี้ยงดูถึง 4 คนก็จะได้รับสิทธิสูงสุดถึง 120,000 บาทครับ

แต่มีเงื่อนไขนิดนึงในกรณีของพ่อแม่ของคู่สมรสที่จะนำมาลดหย่อนนั้น เราจะสามารถนำมาลดหย่อนได้ในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้เท่านั้นนะครับ

โดยคุณพ่อคุณแม่จะต้องลงลายมือชื่อในหนังสือรับรอง (แบบ ลย.03) ว่าลูกคนไหนเป็นคนเลี้ยงดู และสิทธิในการเลี้ยงดูนั้นจะสามารถใช้สิทธิได้เพียงครั้งเดียวครับ เช่น พี่น้องสองคน คนโตใช้สิทธิลดหย่อนเลี้ยงดูพ่อ คนเล็กก็ไม่สามารถใช้สิทธิเลี้ยงดูพ่อแล้วครับ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เฉพาะแม่ หรือถ้าคนโตใช้สิทธิทั้งคุณพ่อคุณแม่ ลูกคนเล็กก็ไม่มีสิทธิแล้วครับ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : 2 วิธีลดหย่อนภาษีสำหรับลูกกตัญญู!

6. ค่าลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพจำนวน 60,000 บาท

ถ้าหากเราเป็นผู้ดูแลคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือคนทุพพลภาพที่มีใบรับรองแพทย์ เราสามารถนำมาหักลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าคนพิการหรือคนทุพพลภาพที่นำมาลดหย่อนนั้นต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีด้วยนะครับ

และในกรณีที่คนพิการหรือคนทุพพลภาพเป็น พ่อแม่ – บุตร – คู่สมรส ของเรา เราสามารถใช้สิทธิได้ทั้งสองส่วนครับ เช่น คู่สมรสไม่มีรายได้และพิการ ก็จะสามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด 90,000 บาท (60,000 + 30,000) นั่นเองครับ

กลุ่มที่ 2 ค่าลดหย่อนจากสินทรัพย์
และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ

สำหรับกลุ่มที่ 2 นี้เป็นค่าลดหย่อนที่เกิดขึ้นจากการมีสินทรัพย์ต่างๆ โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นที่อยู่อาศัย รวมถึงสิทธิลดหย่อนที่เพิ่มขึ้นตามมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งสามารถนำค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มาลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เช่นเดียวกันครับ เรามาดูกันต่อเลยดีกว่าว่ามีอะไรบ้างครับ