เมื่อไม่นานมานี้ เราจะเห็นข่าวทางคณะรัฐมนตรีมีมติกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์มามากมายครับ ซึ่งในวันนี้ผมได้รวบรวมมาตรการการลดหย่อนภาษีทั้งหมดฃออกมาเป็นตารางง่ายๆสั้นๆในสไตล์ TAXBugnoms พร้อมกับเงื่อนไขดังต่อไปนี้ครับ

โดยเงื่อนไขสำหรับสิทธิประโยชน์เรื่องการลดหย่อนภาษีนั้น 5 ปี ประกอบด้วยรายละเอียดต่อไปนี้ครับ

  1. ต้องเป็นบ้านหลังแรกที่ มูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท และต้องซื้อภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559
  2. ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตั้งแต่ปีภาษี 2559 เป็นต้นไป (เริ่มยื่นแบบภายใน 31 มีนาคม 2560)
  3. ห้ามโอนหรือขายต่อภายในเวลา 5 ปี และต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในบ้านหลังนั้นด้วย

ซึ่งถ้าพิจารณาเงื่อนไขคร่าวๆ เราจะเห็นว่านโยบายตัวใหม่นี้คลับคล้ายคลับคลากับนโยบายบ้านหลังแรกนั่นเองครับ เพียงแต่เปลี่ยนสิทธิในการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน มาหักเป็นค่าลดหย่อนแทน ทีนี้เรามาดูสิทธิในการลดหย่อนภาษีเพื่อความเข้าใจอันดีกันต่อเลยนะครับ

สมมุติว่านายบิ้กจี้ซื้อบ้านหลังแรกของตัวเองในราคา 3 ล้านบาท ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 และคาดว่าจะถือครองครบตามเงื่อนไขที่กำหนด นายบิ๊กจี้จะได้สิทธิลดหย่อนภาษีดังนี้

  1. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากการซื้อบ้าน มาใช้เป็นค่าลดหย่อนสูงสุดเป็นจำนวน 100,000 บาท
  2. นำมูลค่า 20% ของราคาบ้าน (600,000 บาท) มาใช้สิทธิยกเว้นภาษี (โดยการลดหย่อน) ปีละ 120,000 บาทเป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน

แหม่.. นี่คือตัวอย่างที่ยกมาทำให้เงื่อนไขภาษี และโลกใบนี้สวยงามจนใครหลายคนน่าจะเกือบเผลอใจซื้ออสังหาริมทรัพย์เหลือเกินใช่ไหมล่ะครับ ยิ่งอ่านก็ยิ่งดูดี นโยบายนี้ช่างเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายที่ดี และได้สิทธิลดหย่อนภาษีเป็นของแถมอีกด้วยครับ

แต่เดี๋ยวก่อน… พักสมองปรับจูนกันสักนิด เพราะสิ่งสำคัญที่เราต้องคิด คือ ถ้าหากเราไม่ได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสักเท่าไร ลองมาดูกันต่อไปอีกสักหน่อยว่า มาตรการกระตุ้นที่ออกมาใหม่นี้มันมีประโยชน์อะไรกับเรา “จริง” หรือเปล่าครับ

ก่อนที่โฉนดในมือกำลังจะกลายเป็นกระดาษเช็ดน้ำตา และกาวในมืออีกข้างจะทำให้เราสนใจสิทธิในการลดภาษีมากกว่าบ้านที่เราซื้อ เรามาดูตัวอย่างกันต่อดีกว่าครับว่าในโลกแห่งความจริงนายบิ้กจี้ผู้เป็นมนุษย์เงินเดือนจะสามารถใช้สิทธินี้ได้มากแค่ไหน...

สมมุติต่อไปว่า นายบิ้กจี้คนดีศรีสยาม ผู้เป็นหนุ่มโสดตัวเปล่าเล่าเปลือย มีรายได้จากการเป็นมนุษย์เงินเดือน ในอัตรา 30,000 บาทต่อเดือนพอดี๊พอดีที่จะกู้ขั้นต่ำกับทางธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อซื้อบ้านตามนโยบายดังกล่าวได้ ทีนี้.. เราลองมาคำนวณภาษีที่นายบิกจี้ต้องเสียกันก่อนที่จะมีมาตรการกระตุ้นอสังหากันดีกว่าครับ

เงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน(360,000 - 60,000 - 30,000) = 270,000 บาท
สรุปว่า.. ภาษีที่นายบิ้กจี้ต้องเสียคือ = 6,000 บาท

เมื่อมีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์มา นายบิ้กจี้จึงไม่รีรอคว้าโอกาสนี้ไว้ รีบโอนบ้านซื้อใหม่ทันที๊ทันทีสมมุติต่อไปว่า นายบิ๊กจี้ได้สิทธิในการลดหย่อนภาษีจำนวนปีละ 120,000 บาทมา และได้สิทธิในการใช้ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมลดหย่อนภาษีสูงสุดถึง 100,000 บาทต่อปี ถ้าเราลองคำนวณภาษีของนายบิ้กจี้ใหม่ก็จะพบว่า...

เงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน360,000 - 60,000 - 30,000 - 100,000 - 120,000 = 50,000 บาท
ทำให้.. นายบิ้กจี้ไม่ต้องเสียภาษีสักบาท ... ชะละล่า
เพราะเงินได้สุทธิได้รับยกเว้นนั่นเอง

เมื่อเรามาถึงจุดนี้ ย่อมแปลว่าสิทธิที่นายบิ้กจี้ได้มานั้น สามารถลดภาษีได้สูงสุดเพียงแค่ 6,000 บาทเท่านั้นครับ แต่สิ่งที่เป็นภาระจริงๆ ที่คนเงินเดือน 30,000 บาทอย่างนายบิ้กจี้ต้องเจอก็คือ… ค่าผ่อนบ้านเดือนละ ....... บาท (กรุณาเติมตัวเลขในช่องว่างตามความต้องการผ่อน) และคำถามสุดท้ายคือนายบิ้กจี้จะสามารถผ่อนไหวหรือไม่ เมื่อเทียบกับรายได้และค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน

เอาล่ะครับ เพื่อให้เข้าใจกับแบบสุดติ่ง ผมอยากจะให้ลองดูอีกตัวอย่างนึงของนายบิ้กตู่ เอ้ย นายบิ้กจ๊ะ ผู้ซึ่งมีรายได้จากการเป็นมนุษย์เงินเดือนในอัตรา 100,000 บาทต่อเดือนกันบ้างครับ โดยกำหนดให้นายบิ๊กจ๊ะมีมีเงื่อนไขเหมือนนายบิ๊กจี้ทุกประการ ถ้าลองคำนวณดูเราจะได้ตัวเลขอีกอย่างนึงที่คุณต้องหลั่งน้ำตากันเลยทีเดียวครับ

เงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน 1,200,000 - 60,000 - 30,000 = 1,110,000.- บาท
ดังนั้น … ภาษีที่นายบิ้กจ๊ะต้องเสียคือ = 142,500 บาท

แต่ถ้าหากเลือกนายบิ้กจ๊ะเลือกใช้มาตรการกระตุ้นเพื่อลดภาษีนี้ขึ้นมาจริงๆ แล้วล่ะก็มันจะเกิดอะไรขึ้นบ้างครับ

เงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน1,200,000 - 60,000 - 30,000 - 100,000 - 120,000 = 890,000.- บาท
ทำให้.. ภาษีที่คำนวณได้ของนายบิ้กจ๊ะคือ =  93,000 บาท
แหม่.. ลดลงไปอีกเพียบ

ถ้าหากคุณเป็นคนที่มีฐานะดี มีรายได้ที่ต้องเสียภาษีเป็นจำนวนมาก และมีความสามารถในการผ่อนชำระ การซื้ออสังหาริมทรัพย์ตามมาตรการกระตุ้นนี้ ถือเป็นเรื่องราวดีๆที่เกิดขึ้นเลยล่ะครับ เพราะคุณจะสามารถใช้สิทธิการลดหย่อนภาษีได้เต็มที่ตามความสามารถในการหารายได้ของคุณ

แต่ถ้าหากคุณเป็นคนที่ตรงข้ามกับที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ขอแนะนำว่า… อย่าลืมตรวจสอบความสามารถในการผ่อนชำระก่อนนะครับว่าไหวหรือเปล่า เพราะภาษีที่ใช้สิทธิลดหย่อนไปนั้นหากทำผิดเงื่อนไขก็แปลว่าเราต้องกลับไปจ่ายเพิ่มพร้อมกับเงินเพิ่มที่ต้องเสีย (1.5% ต่อเดือน) อีกด้วยครับ

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ..คนที่ไม่มีบ้านหลังแรก หรือไม่เคยมีบ้านมาก่อนนั้น น่าจะอยู่ในกลุ่มที่มีเงินเดือนเท่าไร และนโยบายนี้ถ้าออกเป็นกฎหมายชัดเจนออกมาเมื่อไร ใครกันแน่ที่จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้ คิดไปคิดมาแล้วปวดหัวซะแล้วครับ เอาเป็นว่าอย่าลืมพิจารณาให้ดีละกันนะคร้าบ

สุดท้ายแล้ว.. นิทาน เอ้ย บทความนี้ตั้งใจจะสอนให้รู้ว่า
ไม่ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆจะดีแค่ไหน