สวัสดีครับ กลับมาเจอกันกับ @TAXBugnoms บ่อยๆในช่วงนี้ (อิอิ) หลังจากที่ผมได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์เงินเดือนและการวางแผน "ภาษี" ไปหลายรอบ ก็ยิ่งพบว่ามีคำถามตอบกลับมามากมายเต็มไปหมดครับ และหนึ่งในคำถามที่หลายคนสงสัยว่า “สิ่งที่ได้รับนอกเหนือจากเงินเดือน” เช่น สวัสดิการ สิทธิและประโยชน์ต่างๆนั้น มันต้องเสียภาษีด้วยหรือเปล่านะ!

เอาแบบนี้ดีกว่าครับ ผมขอแยกสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการทำงานออกเป็นสองกลุ่มก่อนละกันครับ ระหว่าง กลุ่มแรกคือ รายได้เนื้อเน้นๆ ที่ได้รับนอกเหนือจากการทำงานตามปกติ กับอีกกลุ่มหนึ่ง คือ สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมที่บริษัทมอบให้ เรามาไล่ดูกันไปทีละตัวละกันนะครับผม

กลุ่มแรก : รายได้เสริมที่ได้รับจากการทำงาน

สำหรับเรื่องนี้ต้องบอกเลยว่า รายได้เสริมที่ได้รับจากการทำงานนั้น ต้องถือเป็นเงินได้ตามประมวลรัษฏากรอย่างแน่นอนครับ แต่จะถือเป็นเงินได้ประเภทไหนนั้น ผมขอแยกแนวคิดสั้นๆให้พิจารณากันตามนี้ครับ

1. กรณีที่ได้รับรายได้เพิ่มจากการทำงานในที่เดิม

เช่น มนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งได้รับเงินเดือนเป็นประจำ แล้วนายจ้างมีสั่งทำโปรเจคพิเศษของบริษัท นอกเหนือจากเงินเดือนปกติ แบบนี้จะยังถือเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือน (เงินได้ประเภทที่ 1) อยู่ดีครับ

ดังนั้นต่อให้มีกี่งาน หรือเยอะแค่ไหน แต่ถ้าได้จากนายจ้างคนเดียวกันแล้วละก็ ถือเป็นเงินได้ประเภทเดิมตลอดแหละคร้าบ

2. กรณีที่ได้รับรายได้จากการทำงานในที่ใหม่

แหม่ บางทีรายได้มันขาดมือ ทำงานที่เดียวไม่พอใช้ เลยต้องไปหางานทำเพิ่ม เช่น มนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งทำงานให้กับบริษัท ออมมันนี่ และต่อมาไปรับงานเพิ่มจากบริษัท ออมมันนู่น (ที่มีรูปแบบคล้ายๆออมมันนี่เป๊ะ) ได้จ้างไปเป็นฟรีแลนซ์ แบบนี้จะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 ทันทีครับ เพราะว่าเป็นการทำงานกับนายจ้างใหม่ซึ่งไม่ได้ผูกพันกับการทำงานเดิม

โดยกรณีนี้มีสิ่งหนึ่งที่น่าเศร้าแบบสุดๆ สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีเงินได้ทั้งประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 แบบนี้คือ การหักค่าใช้จ่ายที่กฎหมายกำหนดไว้ให้นั้น จะให้สิทธิหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ 2 ประเภทนี้ รวมกันสูงสุดเพียง 60,000 บาทเท่านั้น (วิธีคำนวณค่าใช้จ่าย หมายถึง 40% ของเงินได้สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท)

และนอกจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว สิ่งที่ควรระวังอีกเรื่องสำหรับคนที่มีเงินได้ประเภทที่ 2 มากๆก็คือเรื่องของ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” ครับ ดังนั้นตรงนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ฟรีแลนซ์ทั้งหลายต้องระวังให้ดีนะครับ ถ้ามีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีเมื่อไร และไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วล่ะก็ ระวังพี่สรรพากรจะมาหาโดยไวนะคร้าบ

กลุ่มที่สอง : ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการทำงาน

สำหรับประเภทที่ 2 นั้น เรามาต่อกันที่ผลประโยชน์ของมนุษย์เงินเดือนได้รับจากการทำงานบ้างครับ ดูๆแล้วก็เห็นทีจะไม่พ้นเรื่องของสวัสดิการต่างๆที่ทางนายจ้างของเรามีให้ เอ๊ะนั่นน่ะสิ! แบบนี้จะต้องเสียภาษีหรือเปล่านะ เอ้า เรามาดูกันต่อเลยครับ

1. สวัสดิการรถรับส่งพนักงานฟรี

พนักงานได้รถรับส่งพนักงานฟรีตามวันเวลาที่ตกลงกันไว้ แบบนี้ไม่เข้าข่ายเป็นประโยชน์ส่วนเพิ่มของพนักงาน แต่ถือว่าเป็นประโยชน์ส่วนเพิ่มของกิจการแทน ดังนั้นไม่ต้องถือเป็นเงินได้และนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครับ

2. ได้อยู่บ้านนายจ้างฟรี

เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าการอยู่บ้านนายจ้างฟรีๆนั้น ถือเป็นเงินได้จากประโยชน์ส่วนเพิ่มในการทำงาน (มาตรา 39) แต่การอยู่บ้านนายจ้างฟรีๆนั้น ฟังเผินแล้วเหมือนจะไม่ใช่เงินได้ (เพราะไม่ต้องเสียอะไร) แต่กฎหมายได้กำหนดไว้ตาม ป.23/2533 เลยครับว่าให้คิดมูลค่าของสิทธิประโยชน์ตรงนี้ใน อัตรา 20% ของเงินเดือนที่ไม่รวมโบนัส นั่นแน่! อย่าคิดว่าจะรอดนะคร้าบ

3. ทานอาหารฟรีๆ

การทานอาหารฟรีๆในแต่ละมื้อนั้น ถือเป็นประโยชน์ส่วนเพิ่มของการทำงานเช่นกันครับ (มาตรา 39) แต่วิธีการคำนวณกฎหมายบอกเลยครับว่า ให้นำเงินค่าจ้างอาหารทั้งหมดมาหารด้วยจำนวนพนักงาน แหม่.. แบบนี้คิดแล้วเพลียใจจริงๆเลย

แต่มีบางกรณีที่จะต้องไม่ถือเป็นเงินได้ก็มีเหมือนกันครับ เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางที่เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายอย่าง ป. 59/2538 ซึ่งมีเงื่อนไขดังนี้ครับ

ข้อ 1 ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางที่ลูกจ้างหรือผู้มีหน้าที่หรือตำแหน่งงาน หรือผู้รับทำงานให้ ได้รับเนื่องจากการเดินทางไปปฏิบัติงานตามหน้าที่ในประเทศหรือต่างประเทศเป็นครั้งคราว ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องเข้าลักษณะดังนี้

(1) ต้องเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงซึ่งบุคคลดังกล่าวได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่จะต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น

(2) ในกรณีบุคคลดังกล่าวได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงในอัตราไม่เกินอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงสูงสุดที่ทางราชการกำหนดจ่ายให้แก่ข้าราชการ ตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ ในประเทศหรือต่างประเทศ แล้วแต่กรณี ตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายในลักษณะเหมาจ่าย ให้ถือว่าค่าเบี้ยเลี้ยงดังกล่าว เป็นค่าเบี้ยเลี้ยงซึ่งบุคคลดังกล่าวได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น โดยไม่ต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินมาพิสูจน์

(3) ในกรณีบุคคลดังกล่าวได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงในอัตราเกินกว่าอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงตาม (2) และบุคคลดังกล่าวไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ว่าได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมด