สวัสดีคร้าบบ หลังจากที่ห่างหายกันไปนานถึงเดือนกว่าๆ กลับมาพบกับผม TAXBugnoms กันอีกครั้ง ประจำการที่ Aommoney กับบทความภาษีประจำสัปดาห์ ในหัวข้อที่ชวนให้ปวดหัวนิดๆ ว่า “อยากได้คืนภาษี จนบางทีลืมไปว่าต้องจ่ายเพิ่ม” กันครับ

ถ้าใครติดตามผมทางเพจ หรือบทความในบล็อกภาษีข้างถนนมาสักระยะหนึ่ง คงได้ยินผมพูดย้ำอยู่บ่อยๆว่า “สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่การประหยัดภาษี แต่คือการประหยัดค่าใช้จ่ายโดยรวม” บ้างใช่ไหมครับ และบทความนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการมองไปที่เรื่องของ “การได้คืนภาษี” จนลืมไปว่าจริงๆแล้วเราต้องมองว่าสิ่งที่เราควรจะมองจริงๆ นั้นมันคืออะไร?

เมื่อสัปดาห์ก่อน มีคุณพี่แฟนเพจท่านหนึ่งมาปรึกษาผมเรื่องภาษี สมมุติว่าชื่อพี่เก่าละกันครับ พี่เก่าแกได้ถามคำถามเรื่องการขอคืนภาษีชวนให้ผมคิดครับว่า...

“คุณหนอมคะ ตอนนี้พี่มีรายได้สองทาง คือ รายได้เงินปันผลจากหุ้น และ รายได้เงินปันผลกองทุน แต่ยื่นภาษีไปเฉพาะเงินปันผลจากหุ้น ยังไม่ได้ยื่นรายได้เงินปันผลกองทุนไป แบบนี้ได้ไหมคะ?”

คำตอบแรกมาแบบนี้ ก็ตอบกันตรงๆ ไปว่า “ได้ครับ” เพราะทั้งสองตัวนี้เป็นเงินได้ต่างประเภทกัน เงินปันผลจากหุ้นเป็นเงินได้ประเภทที่ 4 (มาตรา 40(4)(ข)) ส่วนเงินปันผลจากกองทุนรวมนั้นเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 (มาตรา 40(8)) ซึ่งเงินได้ทั้งสองประเภทนี้สามารถเลือกใช้สิทธิ Final TAX ได้เหมือนกัน คือ ยอมให้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 10% ทันทีที่มีรายได้และสามารถเลือกใช้สิทธิไม่นำมารวมคำนวณภาษีตอนปลายปีได้ครับ 

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเราคิดว่านำมารายได้ส่วนนี้มารวมคำนวณแล้วได้ภาษีคืนเพิ่มขึ้นหรือเสียภาษีน้อยลง สามารถเอารวมคำนวณได้เหมือนกันครับ ถ้าใครอ่านตรงนี้แล้วงงๆ ผมเคยเขียนบทความเรื่องนี้ไว้ที่ ภาษีกับการลงทุน : 2 ขั้นตอนสั้นๆเพื่อจัดการเงินปันผลจากหุ้นและกองทุนรวม และมีคลิปวิดีโอใน Youtube ไว้เหมือนกันครับ หากใครสนใจรับชมได้ทีนี่ครับ

ทีนี้คำถามต่อมาของพี่เก่าคนเดิมยังเพิ่มเติมมาอีกครับว่า เอ๊ะ! คุณหนอมคะถ้าเอารายได้เงินปันผลจากกองทุนรวมมารวมจะดีกว่าไหมคะ เพราะตอนแรกยื่นภาษีแล้วไม่เอาเงินปันผลกองทุนรวมมารวมคำนวณ พี่จะได้คืนภาษี 150,000 บาท แต่ถ้าเอามารวมคำนวณแล้วจะได้คืนภาษี 100,000 บาท

ฟังถึงตรงนี้ใครก็ต้องคิดว่า เอ๊ะ! ถ้าแบบนี้มันก็ไม่ควรรวมใช่ไหมครับ เพราะถ้ารวมแล้วจะได้คืนภาษีน้อยลงจากเดิมตั้ง 50,000 บาท แต่พี่เก่าแกยังบอกผมต่อครับว่า "ไม่นะคะ!! คุณหนอมลองคิดดูสิคะว่า ถ้าเลือกแบบแรกเราจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (Final TAX) ของเงินปันผลกองทุนรวมไป 80,000 บาทแล้วนะคะ ถ้าไม่เอามารวมก็เท่ากับว่าพี่จะได้คืนภาษีแค่ 150,000 - 80,000 = 70,000 บาทเท่านั้นเองนี่คะ

ทีนี้ความสับสนก็เริ่มพลิกผันมาทางด้านผมแล้วสินะครับ เอ๊ะ! ถ้าแบบนี้การเอามารวมและนำภาษีที่ถูกหักไว้มาใช้ จะทำให้เราได้คืนมากขึ้นเป็น 100,000 บาท แถมภาษีหัก ณ ที่จ่ายของเงินปันผลกองทุนรวมจำนวน 80,000 บาทก็ถูกรวมไปแล้วด้วยนี่นา 

โอ้ยยย สับสน เอายังไงดีล่ะ!!

ผมเชื่อว่า... ใครหลายคนอาจจะมีคำตอบไว้ในใจกันแล้วนะครับว่าจะเลือกทางไหน แต่ผมอยากบอกว่าต่อให้เลือกทางไหนก็ตาม ข้อมูลที่ให้มาทั้งหมดนี้คือความเข้าใจที่ผิดครับ! เพราะสิ่งสำคัญที่เราต้องดูคือ ยอดภาษีที่ต้องจ่ายทั้งหมด กับภาษีที่ถูกหักไว้ทั้งหมด ไม่ใช่ยอดหลังจากหักภาษีแล้วได้คืน!!! แบบนี้ต่างหากครับ

ผมเลยถามกลับพี่เก่าไปว่า ผมขอดูข้อมูลการคำนวณภาษีหน่อยนะครับ จากข้อมูลที่พี่เก่าให้มา ผมทำภาพสรุปออกมาเป็นรูปตามตารางด้านล่างนี้ครับ

เห็นไหมครับว่า ถ้าเราเปรียบเทียบกันทั้งสองกรณีแล้ว การเอาภาษีรวมหรือไม่รวมนั้น มันไม่ใช่คำตอบเลย เพราะสิ่งที่เราต้องดูนั้น มันคือยอดภาษีที่ต้องเสียจริงต่างหากครับ 

ถ้าเราเลือกแบบแรก เราจะเสียภาษีจริงๆคือ 84,000 บาท แต่ถ้าเราเลือกแบบหลังเราจะเสียภาษีจริงๆ 130,000. บาท ซึ่งตรงนี้บางทีแล้วยอดที่ได้คืนนั้นมันไม่ใช่สิ่งที่สำคัญเลยครับ เพราะเราต้องมองว่าจริงๆสิ่งที่เราเสียไปนั้นมันคือเท่าไรต่างหากครับ

ย้อนกลับไปที่คำพูดเดิมของผมตั้งแต่แรกในต้นบทความครับ ผมบอกว่า “สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่การประหยัดภาษี แต่คือการประหยัดค่าใช้จ่ายโดยรวม” ใช่ไหมครับ แต่สำหรับบทความนี้ผมคงต้องเพิ่มอีกประโยคหนึ่งครับว่า “ถ้าหากจะประหยัดภาษีแล้ว อย่าดูที่ตัวเลขภาษีที่ได้คืน แต่จงดูที่ตัวเลขที่เสียไปครับ”