สวัสดีครับ กลับมาพบกับ TAXBugnoms พี่หนอมคนดีคนเดิม เพิ่มเคิมกับการลดหย่อนภาษี สำหรับวันนี้เป็นเรื่องของการบริจาคและสร้างเรื่องราวดีๆให้กับสังคมไทยกันบ้างครับ นั่นคือ เรื่องของการบริจาคเพื่อการศึกษา และได้สิทธิลดหย่อนภาษี 2 เท่ามา เป็นของขวัญให้กับเราอีกด้วยครับ

สำหรับใครหลายคนที่กำลังสงสัยว่าจะบริจาคยังไงดีให้ได้สิทธิลดหย่อนภาษี 2 เท่านั้น บางคนก็ชอบถามเหลือเกินว่า บริจาคให้นักศึกษาใช่ไหม #ไม่ใช่แระ หรือ บริจาคค่านู่นนี่นั่นให้กับสถาบันจะได้หรือเปล่า #อันนี้ต้องตรวจสอบก่อน คราวนี้ล่ะครับ เราจะได้รู้กันว่ามันต้องทำยังไงบ้าง

บริจาคยังไงให้ได้ลดหย่อนภาษี

จริงๆ ที่ตัดสินใจเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา เนื่องจากมีกฎหมายออกใหม่สำหรับเรื่องนี้ครับผม นั่นคือ พระราชกฤษฏีกาฉบับที่ 616 ให้สิทธิลดหย่อนภาษีกรณีการบริจาคให้กับสถานศึกษา ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ ปี 2559 - 256ๅ โดยให้สิทธลดหย่อนสำหรับกรณี “บุคคลธรรมดา” ดังนี้ครับ

สําหรับบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นสําหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา 47 (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจํานวนสองเท่าของจํานวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นสําหรับการจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสําหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนนั้น 

นั่นคือภาษากฎหมายตามมาตรา 3(1) ของพระราชกฤษฏีกาฉบับนี้ ซึ่งผมมีหน้าที่แปลงเป็นภาษาคนให้ฟังสั้นๆง่ายๆในสไตล์ TAXBugnoms นั่นคือ “จ่ายเท่าไรให้คูณสอง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน (ก่อนหักเงินบริจาค)"

ถ้าใครเคยอ่านบทความในซีรีย์ภาษีง๊ายง่าย ก็จะเข้าใจว่า
เงินได้สูทธินั้นมาจากสมการตามนี้ครับ คือ 

“เงินได้สุทธิ = เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน” 

ซึ่งเงินบริจาคที่ว่านี้ อยู่ในส่วนนึงของค่าลดหย่อน แต่เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดก็คือ 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนหมดแล้ว แต่ยังไม่หักเงินบริจาค ดังนั้นสมการก็จะขยายเพิ่มเป็นดังนี้ครับ

“เงินได้สุทธิ = (เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) - เงินบริจาค”

ดังนั้นถ้าหากอยากรู้ว่าบริจาคสูงสุดได้เท่าไร (กรณีนี้คือไม่เกิน 10%) ก็ให้คำนวณตัวนี้ออกมาก่อนครับ แต่โดยปกติก็คือ ส่วนใหญ่มักจะไม่เกินอยู่แล้วนะครับ เว้นแต่ถ้าหากเราเป็นคนบริจาคเยอะจริงๆในแต่ละเดือนก็อาจจะเกินได้ครับ 

สมมุติในวงเล็บ  (เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) เราคำนวณออกมาได้ 300,000 บาท การบริจาค 2 เท่าของเราก็จะจ่ายเงินสูงสุดเพียง 15,000 บาท แต่สามารถนำมาหักออกจากเงินได้สุทธิได้สูงสุดคือ 30,000 บาทซึ่งตรงกับเพดาน 10% ของเงินได้สุทธิที่ว่านี้พอดีครับ

นั่นคือหลักการเบื้องต้นหลักการแรกครับ หลักการต่อมาคือจะทำยังไงให้ได้สิทธิสองเท่า ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ก็เขียนเงื่อนไขไว้สั้นๆ ว่าสถานที่บริจาคต้องเป็น “สถานศึกษา” ซึ่งหมายความว่า สถานศึกษาของรัฐ โรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ซึ่งตรงนี้ผมแนะนำให้ตรวจสอบรายชื่อได้ที่เวปไซด์กรมสรรพากร หัวข้อ รายชื่อสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนดที่ผู้มีเงินได้มีสิทธิขอหักลดหย่อนเงินบริจาค ครับ

อย่างไรก็ตามมีกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง คือ พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 420) กำหนดให้สิทธิลดหย่อนภาษีไว้ 2 เท่าเช่นเดียวกันครับ ซึ่งมีกำหนดเงื่อนไขไว้ชัดเจนว่า ต้องเป็น “ค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา”  คือ ค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ และเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับรายการดังต่อไปนี้ครับ 

(1) จัดหาหรือจัดสร้างอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือที่ดินให้แก่สถานศึกษา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา 

(2) จัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษา แบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ สื่อ และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาให้แก่สถานศึกษา ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด 

(3) จัดหาครู อาจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา หรือเป็นทุนการศึกษา การประดิษฐ์ การพัฒนา การค้นคว้า หรือการวิจัย สำหรับนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษาของสถานศึกษา ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ ให้ใช้ร่วมกันนะครับ คือ รวมกันแล้วสูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิตามตัวอย่างที่กล่าวมา ดังนั้นผมมักจะแนะนำเสมอครับว่า ในใบเสร็จรับเงินที่ได้รับนั้น ควรจะเขียนระบุให้ชัดเจนว่าเป็นค่าอะไร โดยปกติจะใส่เป็น ค่าสนับสนุนการศึกษา ไว้น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดและไม่มีปัญหาในการลดหย่อนครับ

เป็นไงบ้างครับกับเทคนิคสั้นๆง่ายๆในการวางแผนลดหย่อนภาษีด้วยเงินบริจาค 2 เท่าในวันนี้ ซึ่งจริงๆแล้วนอกจากเงินบริจาคเพื่อการศึกษาแล้ว ยังมีเงินบริจาคอื่นๆที่สามารถลดหย่อนได้ 2 เท่าเช่นเดียวกันครับ เช่น การส่งเสริมกีฬา การส่งเสริมวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งไว้มีโอกาสจะมาเล่าให้ฟังในบทความต่อไปครับ

สุดท้ายนี้ผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆพี่ๆน้องๆทุกคนนะครับ หวังว่าจะเลือกคำนวณและวางแผนบริจาคให้ถูกวิธีกันต่อไป สำหรับวันนี้ต้องลาไปก่อน สวัสดีคร้าบบบ