สวัสดีครับ กลับมาพบกับบทความใหม่ประจำสัปดาห์กันอีกครั้งกับพรี่หนอม @TAXBugnoms ครับ วันนี้เป็นเรื่องราวของภาษีที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนกันบ้างครับ ที่ได้ไอเดียเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะเมื่อวันก่อนผมได้รับเกียรติให้เป็นแขกรับเชิญในรายการสุดฮิตอย่าง Money Talk มาครับ และคำถามนี้ก็เป็นหนึ่งในหัวข้อการเสวนาวันนั้นด้วยครับ

เมื่อพูดถึงการลงทุน ใครหลายคนจะนึกถึงการลงทุนในหุ้น หรือ กองทุนรวมเป็นหลัก ซึ่งผมเองก็ได้เคยเขียนบทความเรื่องภาษีกับการลงทุนในหุ้นและกองทุนรวมมาหลายครั้งแล้วครับ ทั้งที่มีใน บล็อกภาษีข้างถนน และ Aommoney.com หากใครสนใจสามารถอ่านบทความต่อไปนี้ได้เลยครับ

5 Checklist ความเข้าใจเรื่องภาษี “หุ้นและกองทุนรวม”
5 เรื่องภาษีน่ารู้ สำหรับนักลงทุนมือใหม่
ครบทุกความเข้าใจ กำไรจากการขายหุ้น รอลุ้นเครดิตภาษี โดยพี่ @TAXBugnoms
มีเงินได้สุทธิเท่าไร ถึงไม่ควรใช้เครดิตภาษีเงินปันผล
3 ขั้นตอน!! วางแผนภาษีรายได้จากหุ้นและกองทุนรวม

แต่เมื่อพูดถึงคำว่า “ลงทุน” นั้น มันยังไม่จบแค่นี้ครับ เพราะการลงทุนไม่ได้มีแค่การลงทุนในหุ้นและกองทุนรวมเพียงเท่านั้น แต่ยังมีการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆอีกมากมายที่ได้รับผลตอบแทน เช่น เงินฝาก หุ้นกู้ ทองคำ สินทรัพย์ทางเลือก หรือแม้แต่อสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นบทความนี้จะมาพูดคุยเรื่องภาษีจากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆเหล่านี้ให้ฟังกันครับ เอาล่ะครับ เรามาเริ่มกันเลยดีกว่าครับกับรายได้จากการลงทุนในกลุ่มแรก

รายได้กลุ่มดอกเบี้ย

สำหรับรายได้ในกลุ่มแรกนั้น จะเป็นรายได้ในส่วนของดอกเบี้ยครับ ซึ่งทางกฏหมายภาษีหรือประมวลรัษฏากรได้เขียนคำนิยามไว้เป็นเงินได้ประเภทที่ 4 หรือมาตรา 40(4) ดังนี้ครับ

เงินได้ 40(4)(ก) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว หรือผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออกและจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน รวมทั้งเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย ผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนอื่นๆ ที่ได้จากการให้กู้ยืม หรือจากสิทธิเรียกร้องในหนี้ทุกชนิด ไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ก็ตาม

นั่นคือแปลว่า รายได้ในส่วนนี้ ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยจากอะไร หรือผลต่างจากการไถ่ถอนต่างๆ จะถือว่าเป็นเงินได้ในกลุ่มนี้ตามกฎหมาย และต้องนำมาคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษีครับ

แต่สำหรับรายได้ในกลุ่มดอกเบี้ยนี้ จะมีสองเรื่องที่น่าสนใจครับ เรื่องแรกคือ มีรายได้ดอกเบี้ยบางประเภทที่ได้รับยกเว้นภาษี เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากเผื่อเรียก ดอกเบี้ยสหกรณ์ออมทรัพย์ ดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ส่วนที่ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี ดอกเบี้ยที่ได้รับจากเงินฝากประจำปลอดภาษี และดอกเบี้ยเงินฝากประจำผู้สูงอายุครับ (อ่านเพิ่มเติมในบทความ คุ้มโคตรๆ!! กับเงินฝาก 5 ประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษี!! )

ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง คือ การเลือกเสียภาษีแบบ Final TAX หรือการยอมให้ถูกหัก ณ ที่จ่ายแล้วไม่ต้องนำมาคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษีอีกทีหนึ่ง (อ่านเพิ่มเติมในบทความ Final [TAX] Destination : เสียภาษีแบบนี้สิดีออกก) ครับ ซึ่งเงินได้จากดอกเบี้ยในกลุ่มนี้ จะเลือกใช้สิทธิเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 48(3) ดังนี้ครับ

มาตรา 48 (3) ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้ โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตาม (1) และ (2) ก็ได้ สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(4) (ก) และ (ช) ดังต่อไปนี้

(ก) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ดอกเบี้ยเงินฝากสหกรณ์ ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงินที่ได้จากบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคลอื่น ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ดอกเบี้ยที่ได้จากสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้น สำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม

(ข) ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก

(ค) ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนพันธบัตร หุ้นกู้ หรือตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก ทั้งนี้ เฉพาะที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน

ซึ่งวิธีการพิจารณาก็ใช้หลักการง่ายๆเลยครับ นั่นคือ ถ้าหากตอนปลายปีเราคำนวณภาษีแล้วพบว่าเสียในฐานภาษีที่ไม่เกิน 15% เราก็สามารถนำรายได้ในส่วนนี้มารวมคำนวณภาษีเพื่อที่จะได้รับภาษีคืนหรือเสียภาษีน้อยลงครับ แต่ถ้าหากคำนวณแล้วพบว่ารายได้ในส่วนนี้เสียภาษีเกินกว่าอัตรา 15% แบบนี้การเลือกยอมถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ก็เป็นทางออกที่ดีทีสุดครับ

เป็นไงบ้างครับ จบกันไปแล้วกับหลักการเสียภาษีจากการลงทุนในกลุ่มแรกอย่างกลุ่มของดอกเบี้ย ในตอนต่อๆไปของซีรีย์นี้ จะเป็นเรื่องภาษีของการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ กันบ้างครับ ซึ่งจะเป็นสินทรัพย์อะไรและเสียภาษียังไงบ้างนั้น ฝากอดใจรอสักพักนะคร้าบ

สุดท้ายนี้อย่าลืมกด Like ติดตามบทความด้านการเงินและภาษีได้ที่แฟนเพจ