สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกครั้งกับ @TAXBugnoms และการแก้ไขกฎหมายภาษีอีกตัวหนึ่งในโค้งสุดท้ายปลายปีแบบนี้ครับ โดยวันนี้เป็นเรื่องของ “ห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคล” นั่นเองครับ 

วันนี้ในหน้า Facebook ของกรมสรรพากรได้โพสรูปพร้อม Caption ประกอบสั้นๆว่า "คณะบุคคล และ หสม. ได้รับยกเว้นภาษี เป็นของขวัญปีใหม่ กฎกระทรวงฉบับที่ 309 (พ.ศ.2558) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร" ซึ่งกฎกระทรวงที่ว่านี้เป็นกฎหมายใหม่ที่เพิ่งออกมาสดๆร้อนๆเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี่เองครับ

ก่อนอื่นผมขอย้อนเวลาหาอดีตเรื่องการแก้ไขกฎหมายของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลตั้งแต่ช่วงต้นปี 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหาใจความสำคัญดังนี้ครับ

1. ห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลนั้นต้องคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเติมคือการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อแสดงให้เห็นถึงส่วนแบ่งกำไรที่เป็นตัวเงินที่แท้จริงของกิจการ

2. ถ้าหากส่วนแบ่งกำไรตามข้อ 1 ที่ว่านี้ (ตามรายงาน) ได้มีการแบ่งปันให้กับผู้เป็นหุ้นส่วนที่เป็นบุคคลธรรมดานั้น ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกรอบหนึ่ง โดยถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 นั่นเองครับ

ถ้าหากใครที่คิดว่าตัวเองไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญแน่ๆ หรืออ่านแล้วไม่เข้าใจว่าผมกำลังพูดถึงเรื่องอะไร ผมมีทางเลือกให้สองทางครับ ทางแรก คือ เลิกอ่าน ส่วนทางที่สองคือ อ่านรายละเอียดเรื่องนี้เพิ่มเติมเพื่อประดับเป็นความรู้จากบทความต่อไปนี้ครับ

[สรุป] การปรับปรุงภาษีห้างหุ้นส่วนสามัญคณะบุคคลในบทความเดียว
5 ขั้นตอนควรรู้ก่อนยื่นภาษีห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคล

และเมื่อกฎหมายใหม่เมื่อต้นปีออกมาบังคับใช้แบบนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อปัญหาในเรื่องของการมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในสินทรัพย์ต่างๆที่สามารถก่อให้เกิดรายได้ครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ที่ได้จากมรดก หรือการเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารร่วมกันระหว่างบุคคลนั้น จะถือว่าการกระทำที่เกิดขึ้นนั้นจะอยู่ในรูปแบบของ “ห้างหุ้นส่วนสามัญ” และถูกบังคับให้เสียภาษีถึง 2 รอบกันเลยทีเดียว และแบบนี้มันก็คงไม่แฟร์สักเท่าไรใช่ไหมคร้าบ

จากการที่กรมสรรพากรได้เล็งเห็นปัญหาข้อนี้  (แม้ว่าจะเล็งนานไปหน่อย) จึงได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 309 เพื่อแก้ไขข้อกฎหมายในประมวลรัษฏากรเพิ่มเติมสำหรับสองกรณีดังต่อไปนี้ครับ

“(๘๙) เงินได้ที่ได้รับจากส่วนแบ่งของกําไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่
นิติบุคคล ที่ได้รับจาก

(ก) การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมอันได้มาโดยทางมรดก หรือได้รับจากการให้โดยเสน่หา ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ตามส่วน ๒ หมวด ๓ ลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร

(ข) ดอกเบี้ยเงินฝากตามมาตรา ๔๐ (๔) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร และถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา ๕๐ (๒) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ดังกล่าวไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน”

ซึ่งทั้งสองกรณีนี้จะเป็นการแก้ไขในกฎกระทรวง 126 ซึ่งเป็นเรื่องของการยกเว้นภาษีเงินได้นั่นเองครับ และจากข้อกฎหมายจะเห็นได้ว่า หากเป็นส่วนแบ่งกำไรที่ได้รับจากการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมจากทางมรดก หรือ ได้รับจากการให้โดยเสน่หา จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในส่วนแบ่งกำไรนี้ครับ

และกรณีดอกเบี้ยจากเงินฝากที่ฝากร่วมกัน เมื่อยอมให้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตรา 15% โดยที่ไม่ขอคืนและนำมาใช้เครดิตภาษี (หักออกจากภาษีที่ชำระ) ก็จะได้รับสิทธิยกเว้นในขั้นของการแบ่งกำไรเช่นเดียวกันครับ

เพื่อความเข้าใจ...
ขออนุญาตยกตัวอย่างง่ายๆประกอบข้อกฎหมายดังนี้ครับ

กรณี บุคคลสองคนได้รับมรดก หรือ ได้รับที่ดินมาโดยเสน่หา (มีคนยกที่ดินให้) และนำไปหารายได้จากการให้เช่าร่วมกัน ก็จะถือว่าทั้งสองคนนั้นมีสภาพเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญโดยปริยายและต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในส่วนนี้ครับ แต่หลังจากที่เสียภาษีเรียบร้อยในส่วนนี้แล้ว ก็จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกทอดหนึ่งเมื่อมีการแบ่งกำไรของห้างหุ้นส่วนสามัญให้กับบุคคลทั้งสองคร้าบ

เช่นเดียวกัน กรณีที่บุคคลสองคน ร่วมกันฝากเงินในบัญชีธนาคารแล้วได้ดอกเบี้ย หากเลือกที่จะถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้แล้ว ก็ไม่ต้องนำส่วนแบ่งจากดอกเบี้ยมาเสียภาษีอีกรอบครับ

ป.ล. บทความทั้งหมดนี้อ้างอิงจากข้อกฎหมาย กฎกระทรวงฉบับที่ 309 นะครับ หากใครสนใจคลิกที่ลิงค์เพื่ออ่านข้อความเพิ่มเติมได้เลยคร้าบบ

สุดท้ายนี้ผมคงต้องบอกว่า สำหรับเรื่องราวของกฎหมายของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลนี้ค่อนข้างซับซ้อนมากๆและอาจจะทำให้เรางงกันได้ครับ ดังนั้นถ้าหากใครอ่านแล้วมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามผมผ่านข้อความในเพจ @TAXBugnoms ได้เลยครับ สำหรับวันนี้ต้องขอลาไปก่อน สวัสดีคร้าบบ ...