สวัสดีครับ กลับมาพบกับผม TAXBugnoms กันอีกแล้วครับผม แหม่.. เผลอแป๊บเดียวก็เขียนบทความมาเกือบๆจะ 3 ปีที่ Aommoney.com แห่งนี้แล้วนะครับเนี่ย (พูดสั้นๆว่าแก่นั่นเองครับ - -") แต่รู้ไหมครับว่า 3 ปีที่ผ่านมานี้ มีอยู่คำถามหนึ่งที่เพื่อนๆพี่ๆน้องๆชอบถามมาอยู่เสมอๆ นั่นคือ เรื่องของ “ประกันชีวิตกับการลดหย่อนภาษี”

โอ๊ะ! แต่บทความนี้ไม่ได้มาพูดเรื่องของการประกันชีวิตกับการลดหย่อนภาษีว่าจะต้องซื้ออย่างไรแบบไหนดีครับ เพราะผมตั้งใจให้เป็นหน้าที่ของน้องเอ้ เจ้าของเพจ วางแผนการเงินกับ Insuranger ดีกว่าครับ แต่บทความนี้ผมจะมาพูดถึงเรื่องเงื่อนไขทางภาษีกันแบบเจาะลึกให้ชัดเจนไปเลยดีกว่าครับผมว่าแบบไหนลดหย่อนได้ ไม่ได้ยังไงบ้าง เอาล่ะครับ เรามาดูกันเลย

ประกันแบบไหนลดหย่อนภาษีได้บ้าง

ปัจจุบัน (วันที่เขียนบทความคือ 24 สิงหาคม 2559) มีประกันที่ทำแล้วเพื่อลดหย่อนภาษีได้อยู่ 3 กลุ่มครับ ได้แก่ ประกันชีวิตแบบทั่วไป ประกันชีวิตแบบบำนาญ และประกันสุขภาพ (บางประเภท) โดยแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ สำหรับ ตัวเราและคู่สมรส กับ คุณพ่อคุณแม่ของเราและคู่สมรส ซึ่งผมขอเริ่มต้นที่ตัวเราและคู่สมรสก่อนครับว่า ประกันชีวิตที่ลดหย่อนภาษีได้นั้นมีอะไรบ้าง

1. ประกันชีวิต (แบบทั่วไป)

สำหรับคนที่ทำประกันชีวิตให้ตัวเอง (ย้ำนะครับว่าต้องทำประกันชีวิตให้ตัวเองเท่านั้น) สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้สูงสุดถึง 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้ครับ

1) กรมธรรม์ประกันชีวิตต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
2) เป็นกรมธรรม์ที่ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย
3) หากมีการจ่ายเงินคืน เงินปันผลหรือผลตอบแทนระหว่างสัญญา ต้องได้รับเงินคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี

ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องเช็คให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจทำครับว่า เงื่อนไขของประกันชีวิตนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขข้างต้นนี้ด้วยหรือเปล่าครับ แต่ถ้าหากหลวมตัวซื้อไปแล้วโดยไม่ได้ตรวจสอบล่ะก็ สิ่งที่จะตรวจสอบให้เราได้ก็คือ “ใบเสร็จรับเงิน” นั่นเองครับ จะมีข้อความระบุไว้ว่าเราสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้เท่าไรครับ

ทีนี้เรามาดูส่วนของประกันชีวิตสำหรับ คู่สมรส กันบ้างครับ ในกรณ๊ที่คู่สมรสมีรายได้ การหักค่าลดหย่อนจะเหมือนกันกับที่ได้ผมเขียนมานี่แหละครับ แต่ถ้าหากคู่สมรสไม่มีรายได้แล้วล่ะก็ เราจะสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้สูงสุดเพียง 10,000 บาทเท่านั้นครับ และต้องมีความเป็นสามีภรรยาในตลอดปีภาษี (พูดง่ายๆ คือ สถานะจดทะเบียนสมรสตลอดทั้งปีนั่นเองครับ) 

2. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ

เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญเป็นประกันชีวิตอีกประเภทหนึ่ง ทีพ่วงในเรื่องของการรับผลตอบแทนในรูปแบบบำนาญหลังเกษียณ โดยจะมีเงื่อนไขการจ่ายเป็นเงินบำนาญตั้งแต่อายุ 55 ปีขึ้นไป จนถึงอายุไม่ต่ำกว่า 85 ปี (ขึ้นอยู่กับแต่ละเงื่อนไขของกรมธรรม์นะครับ)

สำหรับผู้ที่ซื้อประกันชีวิตประเภทนี้จะสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ (เงินได้ที่ต้องเสียภาษี) และไม่เกิน 200,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้ครับ

1. กรมธรรม์ประกันชีวิตมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
2. เป็นกรมธรรม์ที่ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย
3. การจ่ายผลประโยชน์จะต้องจ่ายเป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ
4. ช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์ คือ ตั้งแต่ 55-85 ปี หรือมากกว่านั้น
5. ต้องจ่ายเบี้ยประกันครบก่อนได้รับผลประโยชน์

และยังมีเงื่อนไขร่วมกับค่าลดหย่อนอื่นๆด้วยครับ นั่นคือ เมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เข้ากับ RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข. หรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชนและ กองทุนการออมแห่งชาติ ทั้งหมดนี้สามารถใช้สิทธิได้สูงสุดรวมกันไม่เกิน 500,000 บาทอีกด้วยครับ

เช่นเดียวกันกับการทำประกันชีวิตแบบทั่วไปครับ เงื่อนไขตรงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องเช็คให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจทำประกันชีวิตแบบบำนาญ และที่สำคัญกว่านั้น อย่าลืมดูความแตกต่างของประกันชีวิตแต่ละประเภทด้วยนะครับว่า ตัวเรามีความต้องการประกันประเภทไหนอย่างไรบ้าง

เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา

เอาล่ะครับ หมดในส่วนของเรากันไปแล้ว ต่อไปมาในส่วนของคุณพ่อคุณแม่ของเราบ้างครับ นั่นคือการทำประกันสุขภาพสำหรับคุณพ่อคุณแม่นั่นเองครับ (ย้ำนะครับว่าเฉพาะเบี้ยประกันสุขภาพ ไม่รวมส่วนของประกันชีวิตที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่นะครับ)

สำหรับค่าเบี้ยประกันสุขภาพคุณพ่อคุณแม่ของเรา (หรือบิดามารดานั่นแหละครับ) เราสามารถนำมาใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท โดยมีเงื่อนไขทางภาษีดังนี้ครับ

1) เราต้องเป็นลูกที่ถูกต้องตามกฎหมายของพ่อแม่ (ไม่รวมบุตรบุญธรรม)
2) พ่อแม่ต้องมีรายได้ทั้งปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท
3) เราหรือพ่อแม่ต้องเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีนั้นๆ
4) เป็นความคุ้มครองพ่อแม่อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น  การรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ หรือประกันภัยอุบัติเหตุที่คุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก หรือ ประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses) หรือ เป็นประกันภัยแบบดูแลระยะยาว (Long Term Care)

โดยประกันสุขภาพสำหรับคุณพ่อคุณแม่นี้ สามารถเฉลี่ยกันได้ระหว่างพี่น้องในครอบครัว โดยหารตามจำนวนที่จ่ายร่วมกัน แต่รวมกันสูงสุดต้องไม่เกิน 15,000 บาทครับ

และทางฝั่งของ พ่อแม่คู่สมรส เราก็มีสิทธิที่จะนำเบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่คู่สมรสมาใช้เป็นได้ถ้าเข้าเงื่อนไขทั้งหมดต่อไปนี้ครับ

1) คู่สมรสของเราต้องไม่มีรายได้เลยตลอดปีภาษีนั้น
2) คู่สมรสของคุณเป็นลูกทã