สวัสดีครับ เนื่องจากเมื่อวานนี้ (22 ธันวาคม 2558) หลายๆคนคงได้เห็นข่าวอันแสนจะฮือฮาเรื่องการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำนวนสูงสุดถึง 15,000 บาทจากการชอปปิ้งงงง (ที่มา : ขาช็อปเฮ !!! คลังจัดหนักยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซื้อสินค้า-บริการ 1.5 หมื่นบาท) โดยมีเนื้อหาของข่าวโดยสรุปดังนี้ครับ

กระทรวงการคลังได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในระหว่างวันที่ 25 -31 ธ.ค.58 จากผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยให้ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานการซื้อสินค้าหรือรับบริการเป็นใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบตาม ม.86/4 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ไม่รวมถึงการซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ

Update ล่าสุด มติดังกล่าวได้ประกาศเป็นกฎหมายตาม กฎกระทรวงฉบับที่ 310 เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามเงื่อนไขดังนี้ครับ

ข้อ ๑ กําหนดให้เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบกํากับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร ในระหว่างวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามจํานวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนํามารวมคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด

ข้อ ๒ การซื้อสินค้าตามข้อ ๑ ไม่รวมถึงสินค้า ดังต่อไปนี้
(๑) สุรา เบียร์ และไวน์
(๒) ยาสูบ
(๓) น้ํามัน และก๊าซสําหรับเติมยานพาหนะ
(๔) รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ

จากข่าวและกฎหมายข้างต้น @TAXBugnoms ขอสรุปข้อมูลที่น่าสนใจไว้ดังนี้ครับ

1. กฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม - 31 ธันวาคม 2558 เท่านั้น โดยมีวงเงินจำนวน 15,000 บาท (ซึ่งในส่วนนี้รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มที่จ่ายไปด้วยครับ)

2. คำว่า "ค่าซื้อสินค้าและบริการ" หมายความถึงการซื้อสินค้าและบริการทั่วไปนี่แหละครับ จะของอะไรก็ได ้บริการแบบไหนก็ได้ ยกเว้นการซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ และต้องเป็นการซื้อจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้นครับ ตัวอย่างเช่น ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ หรือ ร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่สามารถออกใบกำกับภาษีได้

3. หลักฐานที่ใช้ประกอบการลดหย่อนภาษี ต้องเป็น "ใบกำกับภาษี" แบบเต็มรูป เท่านั้น ไม่ใช่ใบเสร็จรับเงินนะครับ โดยใบกำกับภาษีต้องมีข้อความถูกต้องตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฏากร ซึ่งหน้าตาเป็นประมาณนี้ครับ นั่นแปลว่าใบกำกับภาษีอย่างย่อใช้ไม่ได้ครับ

ทีนี้มีหลายคนสงสัยว่าต้องทำยังไงบ้าง ผมขอชี้แจงและย้ำรายละเอียดให้ทราบเพิ่มเติมนะครับ

1. ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป บุคคลธรรมดาอย่างเราสามารถขอได้ครับ เวลาซื้ออย่าลืมขอให้ออกเป็นชื่อเราด้วยนะครับ

2. รายการนี้ คือ การลดหย่อน ไม่ใช่รายการลดยอดภาษีนะครับ ถ้าเราซื้อของ 15,000 บาท จะเอามาหักออกจากเงินได้สุทธิที่คำนวณภาษีได้ ดังนั้นดูดีๆด้วยครับว่าเราเสียภาษีในขั้นภาษีไหน เช่น ถ้าเสียภาษีในขั้น 10% เราก็จะประหยัดภาษีได้สูงสุด 1,500 บาท (เหมือนซื้อของลด 10% นั่นเอง)

3. การซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนมูลค่าเพิ่มนั้น ตอนนี้ยังไม่มีข้อห้ามนอกจากตัวที่ยกเว้นในกฎหมายนะครับ คือ สุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ ดังนั้นถ้าหากไม่ใช่ของพวกนี้ สามารถซื้อได้และนำมาลดหย่อนได้ครับ 

4. ในหลักการเดียวกันกับข้อ 3 ย่อมแปลว่าการซื้อของเงินผ่อน หรือ ผ่อนชำระ ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันครับ เนื่องจากไม่มีข้อห้ามทางกฎหมายว่าไว้ครับ

5. ถ้าเอาง่ายๆ และป้องกันปัญหาได้แน่ๆ คือ การซื้อของตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำครับ เพราะมั่นใจได้ว่าสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปได้แน่ๆครับ

สิ่งที่สำคัญสำหรับภาษีเรื่องนี้ คือ กระแสเงินสดนะครับ อย่าซื้อของฟุ่มเฟือยถ้าไม่จำเป็น ดังนั้นสำรวจตัวเองก่อนว่า เรามีเงินพอที่จะซื้อสินค้าหรือบริการเหล่านี้หรือเปล่า อย่ามองแต่เรื่องลดภาษีเป็นหลักนะครับ แต่ให้ดูความต้องการที่เหมาะสมและสภาพคล่องของตัวเองประกอบด้วยครับ

และนอกจากค่าลดหย่อนสำหรับขาช้อปจำนวน 15,000 บาทแล้ว เรายังมีค่าลดหย่อนท่องเที่ยวสำหรับ เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวหรือที่ได้จ่ายเป็นค่าโรงแรมภายในประเทศ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้ครับ

1. ผู้รับเงินคือใคร คือ  “ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว” ที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ หรือ “ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม” ที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม 

2. ค่าใช้จ่ายแบบไหน ต้องเป็นการจ่าย “ค่าบริการ” ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว หรือที่ได้จ่ายเป็น “ค่าที่พักในโรงแรม” ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมสำหรับ การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเท่านั้นนนน  นั่นแปลว่า ค่าเดินทาง เช่น น้ำมันรถ ค่าตั๋วรถทัวร์ ค่าตั๋วเครื่องบิน หมดสิทธิครับผม (TwT)

3. จำนวนเงินเท่าไร  ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่สูงสุดแล้วรวมกัน ไม่เกิน 15,000 บาท

สำหรับใครที่สนใจเรื่องนี้ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมค่าลดหย่อนท่องเที่ยวได้ที่บทความ ไปเที่ยวทั้งที มาลดหย่อนภาษีกันดีกว่า ครับ

ดังนั้นสรุปสั้นๆก็คือ ในช่วงก่อนสิ้นปี ตั้งแต่วันที่ 25 - 31 ธันวาคม 2558 หากใครที่ยังไม่ได้ท่องเที่ยวหรือยังไม่ได้ชอปปิ้ง ก็สามารถใช้สิทธินี้มา