มีแฟนเพจ @TAXBugnoms เคยถามผมมาทางหลังไมค์ว่า “ตกลงว่าอี แอล ที เอฟ มันคืออะไรกันแน่กันคะพี่หนอม และมันต่างจากกองทุนรวมอย่างไร” … เอ่อ…ว่าแต่ว่า ELTF นี่คืออะไรครับ (ไม่ใช่พี่คะ LTF เฉยๆค่ะ!!! แหม่.. จะตลกก็ไม่บอก)

เอาล่ะ เรามาเข้าเรื่องกันดีกว่าครับว่า สิ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดเกี่ยวกับกองทุนรวม (ธรรมดา) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาวที่เราเรียกกันสั้นๆว่า LTF นั้น มีอะไรบ้าง โดยบทความนี้ผมขอทำหน้าที่สรุปประเด็นที่น่าสนใจหลักๆ ออกมา 5 ข้อ ดังนี้ครับ

1. ความเหมือนและความแตกต่างในการลงทุน

ความเหมือน : โดยหลักการแล้ว LTF คือกองทุนรวมประเภทหนึ่ง ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการออมและการลงทุนเป็นหลัก เช่นเดียวกันกับกองทุนรวมธรรมดาที่เราพบเห็นได้ทั่วไป

ความแตกต่าง : ปกติกองทุนรวมนั้นจะมีมากมายหลายประเทศ เอ้ย ประเภท ตั้งแต่ลงทุนพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ หรือจะหนีไปหุ้น ตราสารทุนเมืองนอก ออกไปแตะขอบฟ้าผ่านกองทุนทางเลือกในต่างประเทศก็ได้ เพราะบลจ.ทั้งหลายมีทุกสิ่งมากมายให้เลือกสรร แต่สิ่งที่แตกต่างกันนั้นก็คือกองทุน LTF จะลงทุนในหุ้นของประเทศไทยอย่างเดียว แต่พ่วงสิทธิดีๆที่พี่(สรรพากร)อยากให้ นั่นคือ “การประหยัดภาษี” นี่เองงงงงงงงงงงง

2. ระหว่างกองทุนรวมกับ LTF ควรเลือกลงทุนในอะไรดี

หากคุณสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนและต้องการลดภาษี การเลือกลงทุนใน LTF อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า แต่ถ้าหากคุณไม่เสียภาษีแล้วล่ะก็  แนะนำให้เลือกลงทุนในกองทุนหุ้นดีๆ หรือกองทุนรวมประเภทอื่นแทนจะดีกว่า

เพราะคนส่วนใหญ่มักจะลืมสำรวจตัวเองว่า เอ๊ะ… ตัวชั้นเองก็ไม่เสียภาษีนี่หว่า  ถ้ารู้แบบนี้แล้ว ขอความกรุณาอย่าซื้อ LTF เพราะอาจเป็นภาระทางภาษีให้ลูกหลานได้นะเธอว์

3. ผลตอบแทนจากการลงทุนเหมือนกันไหม

การลงทุนทั้งสองประเภทนี้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเหมือนๆกัน คือ “กำไรจากส่วนต่างราคา (NAV)” และ“เงินปันผล (ถ้ามี)” ซึ่งทางกฎหมายแล้ว ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ดังนี้

กำไรจากส่วนต่างราคา : กองทุนรวมธรรมดาทั้งหลายจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีอยู่แล้ว แต่สำหรับ LTF การที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเมื่อขายนั้น ต้องทำตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเสียก่อน (อ่านต่อข้อ 4)

เงินปันผล : เมื่อได้รับเงินปันผลจากทางกองทุนรวมทั่วไป หรือ LTF ก็ตาม หากเราแจ้งให้ทางบลจ.ทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ในอัตราร้อยละ 10 ก็จะสามารถใช้สิทธิเลือกในการไม่นำมารวมคำนวณภาษีตอนปลายปีได้ แต่ถ้าไม่ยอมให้หัก ณ ที่จ่าย รายได้ส่วนนี้ต้องนำมารวมคำนวณภาษีตอนปลายปี โดยถือเป็นรายได้ 40(8) และยื่นแบบภ.ง.ด. 90 ครับโผม!!

โดยเงินปันผลที่ได้รับมานั้น ไม่สามารถใช้สิทธิเครดิตภาษีได้ เนื่องจากกองทุนรวมเค้าไม่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจ้า

แต่ถ้าหากเลือกกองทุนที่ไม่มีเงินปันผลล่ะ ต้องทำอย่างไรบ้าง … เดี๋ยวนะครัชช.. คือถ้าเลือกกองทุนที่ไม่มีเงินปันผล แล้วคุณพี่จะเอาอะไรมายื่นภาษีล่ะฟระ ก็ไม่ต้องยื่นสิคร้าบบบบบบ ฮึมมมมมม แน่ใจนะว่าถามมมม!!!

4. แล้วมีเงื่อนไขอะไรของ LTF ที่เราต้องระวังบ้าง

สำหรับ LTF นั้น มีเงื่อนไขหลักๆ ที่ต้องระวังคือ

  • ซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 500,000 บาท
  • ต้องถือไว้อย่างน้อย 5 ปีปฎิทิน เช่น หากซื้อในปี 2557 ก็จะสามารถขายได้ตั้งแต่วันแรกของปี 2561 นั่นเองครับ

แต่ถ้าหากเราทำผิดเงื่อนไข กำไรจากการขายจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ทันที 3% และเรายังไม่ได้รับสิทธิยกเว้นในการรวมคำนวณภาษีเงินได้ตอนปลายปี แถมภาษีที่ขอลดไว้ก็ต้องไปจ่ายคืนพร้อมด้วยเบี้ยปรับเงินเพิ่ม  เพื่อเป็นการชดใช้กรรมด้วยนะจ๊ะ!

5. เมื่อขายกองทุนรวมหรือ LTF แล้วต้องทำอย่างไรดี

แหม่.. ขายแล้วก็รับเงินสิจ๊ะ เอ้ย… ไม่ใช่!! สำหรับกองทุนรวมนั้นเมื่อขายแล้วก็ไม่ต้องทำอะไร อยู่เฉยๆชิวๆ รับตังค์กันไป แต่สำหรับ LTF นั้นต้องนำมากรอกแบบแสดงรายการเพื่อคำนวณภาษีด้วยนะ เพราะว่าเราจะได้สิทธิในการซื้อ LTF เพิ่มขึ้นยังไงล่ะ (เอ้า..งงล่ะสิ เอาเป็นว่าถ้าใครงงก็คลิกอ่านได้ “ที่นี๋” คร้าบ)

  • ถ้าหากเป็นการขายที่ถูกต้องเงื่อนไข ▶ เลือก "กำไรที่ได้รับจากการขายคืน" ในช่อง "ยกเว้น"
  • แต่ถ้าเป็นการขายคืนที่ไม่ถูกตามเงื่อนไข ▶เลือก "กำไรที่ได้รับจากการขายคืน" ในช่อง "ไม่ยกเว้น"

สุดท้ายนี้ขอจบแบบสวยๆด้วยประโยคที่แสนจะแคลสสิกว่า

"การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน"

แต่ถ้าไม่อยากเสี่ยง… โปรดเลี่ยงการลงทุนในสิ่งที่คุณไม่รู้

สวัสดีมากครับ!!!