เข้าสู่โค้งสุดท้ายช่วงสิ้นปีทีไร ใครหลายคนจะนึกถึงการซื้อ LTF เพื่อลดหย่อนภาษีใช่ไหมล่ะครับ แต่ผมขอย้ำอีกทีนะครับว่า ก่อนจะซื้อ LTF กองไหนก็ตามนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องท่องจำให้ขึ้นใจคือ จุดประสงค์ในการลงทุนของเราต้องเป็นเรื่องหลัก และสิทธิประโยชน์ในการประหยัดภาษีเป็นแค่เรื่องรอง

ทำไมผมถึงพูดแบบนี้? ก็เพราะว่าสิ่งที่วัดความสามารถของผู้จัดการกองทุนที่เรานำเงินไปลงทุนด้วยนั้นคือ เรื่องของผลตอบแทนที่ได้รับครับ โดยเฉพาะการลงทุนใน LTF ที่ต้องถือหน่วยลงทุนไว้ขั้นต่ำ 5 ปีปฎิทิน ซึ่งหากเราเลือกกองทุนที่ดี ผลตอบแทนที่ได้บวกสิทธิประโยชน์ทางภาษีก็จะทำให้ชีวิตยิ่งดีไปกันใหญ่ แต่ถ้าหากเราเลือกกองทุนที่ผิด ผลตอบแทนที่ได้รับอาจจะไม่ดี เลยได้แค่สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นเครื่องปลอบใจเท่านั้นครับ

หลายๆครั้งเวลาที่เราได้รับจดหมายอัพเดทพอร์ตจากบลจ. หรือเดินไปอัพบุ๊คกองทันตามธนาคาร เราก็มักจะลุ้นกับยอดรวมของเงินที่เราลงทุนไปว่าเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน (บางครั้งก็ลุ้นว่าขาดทุนหรือไม่) ถ้าบางคนลงทุนไว้หลายแห่ง ก็จะถึงขั้นนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกันว่า ที่ลงทุนไปนั้นที่ไหนให้ผลตอบแทนเยอะกว่า ดังนั้นถ้าหากเราเลือกลงทุนในกองทุนที่ถูกต้อง ชีวิตเราก็น่าจะดีและมีความสุขใช่ไหมล่ะครับ!

แต่ปัญหาก็คือ... แล้วถ้าหากกองทุนที่เราเลือกนั้นเป็นกองทุนที่แย่ขึ้นมาล่ะ แหม่ๆ .. ใครจะไปรู้ว่ากองทุนที่เราเลือกนั้นดีไม่ดีกันล่ะ ตอนซื้อ LTF ก็รีบจะตายเพราะมันใกล้ปลายปี แถมยังต้องต่อคิวนานอีกต่างหาก ได้มาลดภาษีก็ดีเท่าไรแล้ว แบบนี้คงต้องปลงกับชีวิตแล้วค่อยเปลี่ยนไปซื้อกองทุนใหม่ในปีหน้าแทนสินะ !!

หยุดก่อนครับ!! อย่าเพิ่งคิดแบบนั้นเลยครับ เพราะการซื้อกองทุน LTF ที่ผิดนั้นมันไม่ได้แปลว่าเราจะต้องอยู่กับมันไปจนครบกำหนดเงื่อนไขทางภาษี แต่เราสามารถเลือกที่จะ “สับเปลียน” กองทุนจากกองทุนเดิมที่ไม่น่าพอใจ ไปยังกองทุนใหม่ที่ไฉไลกว่าได้ครับ ซึ่งการสับเปลี่ยนกองทุนนั้นจะไม่ถือว่าเป็นการขายและไม่ผิดเงื่อนไขทางภาษีอีกด้วยครับ

โดยการสับเปลี่ยนกองทุนนั้น จะทำได้โดยแยกออกเป็นสองกรณีคือ

  1. สับเปลี่ยนกองทุน LTF ใหม่ในบลจ.เดิม (ไม่เสียค่าธรรมเนียม)
  2. สับเปลี่ยนกองทุน LTF ใหม่ไปยังบลจ.ใหม่ (มีค่าธรรมเนียมขึ้นอยู่กับแต่ละบลจ.)

ขอเน้นย้ำตรงนี้นะครับว่า การสับเปลี่ยนกองทุนที่ไม่ถือเป็นการขายนั้น ต้องสับเปลี่ยนกองทุนประเภทเดียวกันเท่านั้น คือ LTF ไป LTF หรือ RMF ไปยัง RMF ห้ามสับเปลี่ยนกองทุนโดยข้ามประเภทกันโดยเด็ดขาดครับ

เอาล่ะ เรามาดูตัวอย่างกันดีกว่าครับ สมมุติว่า... ผมลงทุนในกองทุน XYZ-LTF ซึ่งผลตอบแทนต่ำเตี้ยเรี่ยติดดินมาก ผมไม่พอใจเลยขอเปลี่ยนไปลงทุนใหม่ในกองทุน ABLTF ของทาง Aberdeen ซึ่งมีผลตอบแทนทีดีกว่า (ในขณะนั้น) โดยสิ่งที่ต้องทำมีดังนี้ครับ

  1. เปิดบัญชีกับทาง บลจ. ใหม่ (Aberdeen) ให้เรียบร้อยเสียก่อน และบอกว่าเดี๋ยวจะย้ายเข้ามาแล้วนะ หรือถ้ามีบัญชีอยู่แล้วก็ไม่ต้องเปิดใหม่ครับ
  2. เดินไปบอกทาง บลจ. เดิม (กองทุน XYZ-LTF) พร้อมตีหน้าเศร้าบอกว่า โทษทีเราอยู่ร่วมกันไม่ได้ขอลาไปก่อนละกัน ดังนั้นชั้นจะขอสับเปลี่ยนกองทุนไปจากเธอ
  3. ระบุให้ชัดเจนว่าจะสับเปลี่ยนไปทาง บลจ.ใหม่ (กองทุน ABLTF) พร้อมกรอกฟอร์มให้เรียบร้อย
  4. บลจ.ทั้งสองจะติดต่อหากันและยืนยันข้อมูลในระบบ หลังจากหน่วยลงทุนของเราจะถูกสับเปลี่ยนไปยังกองทุนใหม่ภายในระยะเวลาประมาณ 5 วันทำการ

ทีนี้การสับเปลี่ยนกองทุนนั้น จะมีค่าธรรมเนียมอยู่ 2 ส่วน คือ ค่าธรรมเนียมในการสับเปลี่ยนออกจากกองทุนเดิม และ ค่าธรรมเนียมในการสับเปลี่ยนเข้ากองทุนใหม่ ซึ่งจากตัวอย่างที่ยกมานี้ การสับเปลี่ยนไปยังกองทุน ABLTF จะไม่เสียค่าธรรมเนียมในการสับเปลี่ยนเข้าครับ ส่วนค่าธรรมเนียมในการสับเปลี่ยนออกต้องสอบถามทางบลจ.ที่เป็นผู้ดูแลกองทุนเดิมของเราครับ

เห็นไหมครับว่า การสับเปลี่ยนกองทุนนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงแต่สิ่งทีต้องพิจารณาเปรียบเทียบกันคือ “ค่าธรรมเนียม” ในการสับเปลี่ยนที่เราต้องเสียไป (ขึ้นอยู่กับแต่ละ บลจ.) กับผลตอบแทนของกองทุน LTF ตัวใหม่ที่คาดหวังว่าจะได้รับครับว่า มันคุ้มกันหรือเปล่า ซึ่งตรงนี้ผมขอแนะนำว่า เราคงต้องพิจารณาถึงผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุน ทั้งความสม่ำเสมอ และความน่าเชื่อถือต่างๆที่ได้รับด้วยครับ เช่น การได้รับรางวัลจาก MorningStar หรือความน่าเชื่อของทาง บลจ. ประกอบกันครับ

สุดท้ายแล้ว.. ผมอยากแนะนำว่าทางที่ดีที่สุดคือการเลือกซื้อ LTF ตามวัตถุประสงค์ในการลงทุนของเรา เลือกกองทุนที่ผลตอบแทนดีและสอดคล้องกับสิ่งที่เราต้องการเป็นสาเหตุหลัก และมีประโยชน์ทางด้านภาษีเป็นเรื่องรอง แต่ถ้าหากทำพลาดไปแล้ว การสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนก็เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งทางออกที่ช่วยให้เราบริหารจัดการผลตอบแทนของเราให้เกิดประโยชน์มากที่สุดครับ

หมายเหตุ : บทความนี้ได้รับการสนับสนุนข้อมูลโดย บลจ. Aberdeen และสำหรับผู้ที่สนใจซื้อ หรือสับเปลี่ยนหน่วยไปยังกองทุนของ บลจ. Aberdeen สามารถติดต่อได้ที่ผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนทั่วประเทศ ตามรายละเอียดในลิงค์นี้ครับ www.aberdeen-asset.co.th/LTF-RMF

ผลการดำเนินงานในอดีต/ ผลการเปรียบเทียบ ผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ติดต่อขอรับหนังสือชี้ชวนได้ทุกวันทำการที่ บลจ.อเบอร์ดีน หรือผู้สนับสนุนการขายทุกราย หรือดาวน์โหลดผ่านทางเว็บไซต์ของบลจ. การลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งอาจทำให้ได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรก ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และคู่มือภาษีก่อนตัดสินใจลงทุน

บทความนี้เป็นบทความ Advertorial