“ทำไมภาษีถึงเป็นเรื่องยาก?” มิตรสหายหลายท่านชอบถามคำถามนี้กับ @TAXBugnoms เป็นประจำว่าทำไมเรื่องราวที่มีคำสั้นๆว่า “ภาษี” นั้นถึงเป็นเรื่องที่เข้าใจยากแสนยาก คิดคำนวณหลายทียังไงก็ไม่เข้าใจ ว่าแต่จะคิดรายได้ ค่าลดหย่อนยังไงให้เข้าใจง่ายๆกันบ้างฟระ!!

จากคำถามวันนั้น เลยเป็นที่มาของ ซีรีย์ชุดนี้ ที่มีชื่อเอาฤกษ์เอาชัยว่า “ภาษีง๊ายง่าย” ว่าด้วยเรื่องความเข้าใจเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบ Step-by-Step สำหรับคนที่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องคำนวณภาษี ทำไมต้องมีนู้นนั้นนี้เต็มไปหมด ดังนั้นเราจะมาไล่กันไปทีละขั้นตอนกันเลย เพื่อความเข้าใจแบบชัดแจ้งแจ่มแจ๋วคร้าบบบ (หวังว่าจะเป็นแบบนั้นนะครับ แหะๆ)

ก่อนอื่นผมขอบอกว่า วิธีการคำนวณภาษีนั้นไม่มีอะไรยากเลยครับ เพราะมันคือ การเริ่มต้นจากสมการง่ายๆสามตัว เริ่มจากนำรายได้ (เงินได้) ที่เราได้รับ มาหักออกด้วยค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด และหักลบสุดท้ายด้วยรายการค่าลดหย่อน ก่อนจะไปคูณด้วยอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่เป็นอัตราก้าวหน้าตั้งแต่ 5-35% ดังนี้

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
(เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี

ดังนั้นในซีรีย์ “ภาษีง๊ายง่าย” ตอนที่ 1 นี้ เรามาเริ่มต้นกันที่ตัวแรกของสมการเลย คือ "เงินได้" นั่นเอง หลายคนอาจจะงงว่าเอ๊ะแล้วเงินได้นี่มาจากไหน แล้วอะไรถือเป็นเงินได้บ้าง เอาล่ะครับ มาเริ่มต้นคิดไล่ตามติดทีละ Step ของเงินได้ดังนี้ครับ

คำถามแรก  ในแต่ละปีเรามีรายได้ไหม

ถามตัวเองช้าๆชัดว่า เรามีรายได้อะไรบ้างในชีวิต จากการทำงาน จากการรับจ้าง จากการขโมย #เฮ้ยไม่ใช่แล้ว ถ้าปีนั้นเราไม่มีรายได้ สรุปง่ายๆคือ ไม่ต้องเสียภาษี ครับผม

คำถามที่สอง รายได้นั้นถือเป็น “เงินได้” ทางกฎหมายไหม

(กฎหมายภาษี มีอีกชื่อหนึ่งที่เรียกว่าประมวลรัษฏากรครับ) ซึ่งคำว่าเงินได้นั้น หมายความรวมถึง 5 สิ่งเหล่านี้ ได้แก่ เงิน - ทรัพย์สิน - ประโยชน์ส่วนเพิ่ม - ภาษีที่ออกให้ - เครดิตเงินปันผล ถ้ารายได้ที่เราได้รับนั้นไม่เข้าเงื่อนไขตรงนี้ก็ถือว่าโชคดีไม่ต้องเสียภาษีแน่นอนจ้า #ฝันไปเหอะ

คำถามที่สาม เงินได้จากข้อสองนั้น ได้รับยกเว้นภาษีไหม

เนื่องจากมีเงินได้บางประเภทได้รับยกเว้นภาษีด้วยครับ (ตรวจสอบได้ตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฏากรและกฎกระทรวงฉบับที่ 126 ครับ) ยกตัวอย่างเช่น เงินที่คุณพ่อคุณแม่ให้ลูกนั้น ถือเป็น เงินได้ทางกฎหมาย แต่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42(10) กรณีที่เป็นการให้ตามหน้าที่อุปการะธรรมจรรยา ดังนั้นต่อให้ถือเป็น “เงินได้” ตามกฎหมาย แต่ถ้ากฎหมายถือว่ายกเว้นเงินได้ ก็แปลว่าไม่ต้องนำมาเสียภาษีครับ

คำถามที่สี่  เงินได้นั้นเกิดขึ้นจากที่ไหน ระหว่าง เงินได้ในประเทศไทย กับ เงินได้จากต่างประเทศ

ซึ่งตัวนี้เราจะต้องมาดูโดยละเอียดดังนี้ครับ

  1. ถ้าเป็นเงินได้จากประเทศไทย ต้องเสียภาษีในประเทศไทยจ้า #อ้าวไหนบอกละเอียด
  2. แต่ถ้าเป็นเงินได้จากต่างประเทศ ต้องเสียภาษีในประเทศไทยก็ต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขสองข้อนี้ครับ
    1. นำเงินได้ที่เกิดขึ้นในปีนั้นเข้ามาประเทศไทยในปีเดียวกัน
    2. ในปีนั้นอยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วัน

ดังนั้น ถ้าเป็นเงินได้จากต่างประเทศ และไม่เข้าเงื่อนไขทั้งสองข้อนี้
ก็แปลว่าไม่ต้องเอามาคำนวณเพื่อเสียภาษีจ้า

ความแตกต่างระหว่าง เงินได้ในประเทศ และ ต่างประเทศ

ถ้าเป็นเงินได้ในประเทศไทย จะหมายความต่อไปนี้ครับ คือ เงินได้จาก หน้าที่ กิจการ กิจการของนายจ้าง หรือ ทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย เช่น นายเกรย์แมนทำงานให้กับบริษัทออมมันนี่ ถือเป็นเงินได้จากกิจการของนายจ้างในประเทศไทยครับ

แต่ถ้าเป็นเงินได้ในต่างประเทศ จะต้องดูว่าเป็นเงินได้จาก หน้าที่ กิจการ หรือ ทรัพย์สินที่ทำในต่างประเทศ หรือเปล่าครับ เช่น นายเกรย์แมนทำงานให้บริษัทกูเกิ้ลในสหรัฐอเมริกา แบบนี้ถือเป็นกิจการของนายจ้างในต่างประเทศครับ

เกร็ดความรู้  คำว่าเงินได้ในต่างประเทศนั้น ไม่จำเป็นต้องทำงานในต่างประเทศนะครับ ทำงานที่ไหนก็ได้ เช่นเดียวกันกับเงินได้ในประเทศไทยก็สามารถทำงานนอกประเทศได้เช่นเดียวกัน เช่น นายเกรย์แมนถูกบริษัทออมมันนี่ส่งไปทำงานที่ญี่ปุ่น แบบนี้ยังถือว่าเป็น กิจการของนายจ้างในประเทศไทย ต้องเสียภาษีในประเทศไทยนะครับ :)

สำหรับตอนแรกของซีรีย์นี้ จะเป็นเรื่องของ เงินได้ ซึ่งเป็นตัวแรกของสมการก็จบลงแต่เพียงเท่านี้ครับ ในตอนต่อไปเราจะมาดูในเรื่องของการคิดคิดค่าใช้จ่ายกันบ้างว่าจะมีวิธีและหลักการคิดอย่างไร สำหรับวันนี้ต้องลากันไปก่อน ฝากกด Like และ ติดตามตอนต่อไปได้ทีเพจ @TAXBugnoms ด้วยนะคร้าบบบ