สวัสดีครับทุกคน เพิ่งผ่านพ้นปีใหม่กันไม่เท่าไร ทางภาครัฐก็มีกฎหมายฉบับใหม่เรื่องภาษีมานำเสนอกันอีกแล้วววคร้าบบ หลังจากที่สิ้นปีกระหึ่มด้วย ค่าลดหย่อนภาษีชอปปิ้ง เพื่อลดหย่อนภาษีให้กับบุคคลธรรมดา แต่มาถึงปี 2559 นี้.. นิติบุคคลอย่างบริษัทและห้างหุ้นส่วนก็ไม่น้อยหน้าเช่นเดียวกัน เพราะได้รับประโยชน์จากโปรโมชั่นใหม่ที่เรียกกันสั้นๆว่า นิรโทษกรรมทางภาษี แถมด้วยสิทธิยกเว้นและลดภาษีเงินได้นิติบุคคลไปอีกต่อหนึ่ง!! (เดี๋ยวนะ มันสั้นตรงไหน - -“)

โดยระหว่างช่วงหยุดยาวปีใหม่ ผมลองสังเกตดูตามหน้า New Feed เฟสบุ๊กส่วนตัว Line และ Twitter รวมถึงข่าวสารต่างๆ จากสำนักข่าวหลายแห่ง เรียกได้ว่าข่าวนิรโทษกรรมทางภาษีนี้กระหึ่มทั้งวงการธุรกิจกันเลยทีเดียวครับ

ก่อนที่จะเวิ่นเว้อเพ้อเจ้อจนเนื้อหายาวไปและทำให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆขี้เกียจอ่าน ผมนาย TAXBugnoms ขอสรุปสั้นๆให้ฟังกันครับว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม มีกฎหมายภาษีใหม่ออกมา 2 ฉบับที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ได้แก่ พระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฎิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร และ พระราชกฤษฏีกาออกความตามประมวลรัษฏากร (ฉบับที่ 595) นั่นเองครับ

ทีนี้เรามาดูกันว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร และเนื้อหาที่น่าสนใจเป็นแบบไหน เอาล่ะครับ.. เรามาเริ่มต้นจากเหตุผลของการออกกฎหมายกันดีกว่าครับ

เหตุผลที่ต้องมีนิรโทษกรรมและลดอัตราภาษี

สำหรับเหตุผลในการออกกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ เนื่องจากทางรัฐมองว่ามีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสนับสนุนให้ผู้เสียภาษีทั้งหลายมีการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของกิจการ ซึ่งวิธีการสนับสนุนก็ถูกนำมาใช้ผ่านเครื่องมือจูงใจที่เราคุ้นเคยกัน นั่นคือ การนิรโทษกรรมทางภาษี และ การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลนั่นเองครับ

รายละเอียดและเงื่อนไขของกฎหมาย

ก่อนอื่น ผมขอพูดถึงกฎหมายฉบับแรก คือ พระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนปฎิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฏากร ก่อนนะครับ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดรายละเอียดและเงื่อนไขไว้ดังนี้ครับ

ผู้มีสิทธิ : บริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทที่เกิดขึ้นในรอบบัญชีครบกำหนด 12 เดือนที่ผ่านมา และวันสุดท้ายของรอบต้องภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558

สิทธิที่ได้รับยกเว้น : ยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฏากร

สิ่งที่ยกเว้นให้ : รายได้ ฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสาร ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559

สิ่งที่ผู้มีสิทธิต้องทำ : ประกอบด้วยขั้นตอนดังต่อไปนี้ครับ

- จดแจ้งต่อกรมสรรพากร ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรกำหนด (ณ วันที่ 4 มกราคม 2559 ยังไม่มีประกาศออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร)

- ยื่นแบบแสดงรายการต่างๆ (ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์) พร้อม “ชำระภาษี” (ถ้ามี) ให้ถูกต้อง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป

- จัดทำบัญชี งบการเงินให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของกิจการตั้งแต่รอบบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป รวมถึงไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากร

อย่างไรก็ตามเงื่อนไขที่ว่านี้ ไม่ได้ให้สิทธิแก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบภาษีอากร หรือเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีปลอม หรืออยู่ระหว่างดำเนินคดีในชั้นศาล ครับ อ้อ.. แน่นอนครับว่ารวมถึงบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนประกอบกิจการหลังจากวันที่ 1 มกราคม 2559 นี้ หรือรอบบัญชีก่อนหน้ายังไม่ครบ 12 เดือน ก็ไม่สามารถใช้สิทธิตามเงื่อนไขนี้ได้เช่นเดียวกันครับ (แน่ละ.. เพิ่งจดจะมาขอนิรโทษกรรมได้อย่างไร)

นี่คือจุดเริ่มต้นของกฎหมายฉบับแรก ซึ่งผมเข้าใจว่าทางรัฐต้องการใช้เป็นแนวทางในการกระตุ้นให้ธุรกิจต่างๆทำถูกต้องตามระบบกฎหมาย โดยให้โอกาสล้างบางสิ่งที่ผิดพลาดในอดีต ทำนองว่าเรามา SET ZERO และเริ่มต้นใหม่อะไรแบบนั้นล่ะครับ (เอ๊ะ.. คุ้นๆว่าเคยได้ยินที่ไหนมาก่อน แต่ช่างมันเถอะคร้าบ)

แค่นิรโทษยังไม่พอ
เรามาต่อกันด้วยสิทธิยกเว้นและลดภาษีกันอีก

ทีนี้.. หลังจากที่บริษัทและห้างหุ้นส่วนทั้งหลายมาลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ “นิรโทษกรรม” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กฎหมายฉบับต่อมา คือ พระราชกฤษฏีกา ฉบับที่ 595 ได้กำหนดรายละเอียดและเงื่อนไขของการลดอัตราภาษีอากรและยกเว้นภาษีเงินได้ไว้ดังนี้ครับ

1. ยกเว้นภาษี

สำหรับกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นในรอบบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 แต่ไม่เกิน 31 ธันวาคม 2559 หรือพูดกันสั้นๆง่ายๆว่ารอบบัญชีปี 2559 ไม่ต้องเสียภาษีนั่นแหละจ้า (ว้าวววว)

2. ยกเว้นภาษี

กำไรสุทธิ 300,000 บาทแรก สำหรับรอบบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2560 แต่ไม่เกิน 31 ธันวาคม 2560 และเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 สำหรับกำไรส่วนที่เกิน 300,000 บาท โดยไม่มีการกำหนดเพดานจำนวน 3,000,000 บาท ไว้เหมือนเมื่อแต่ก่อน (อ้างอิง : ตาม พ.ร.ฎ. ฉบับที่ 530 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ฎ. 564 และ พ.ร.ฎ. 583)

แต่สิทธิประโยชน์เรื่องการยกเว้นภาษีนี้ ... ไม่ใช่ว่าบริษัทและห้างหุ้นส่วนที่เข้าสู่ระบบ “นิรโทษกรรม” ตามกฎหมายฉบับแรก จะได้ใช้ลดอัตราภาษีกันทุกคนนะครับ เพราะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับกรณีนี้ก็คือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ต้องไม่มีทุนชำระในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีใดเกิน 5 ล้านบาท และ ไม่มีรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการในรอบบัญชีใดเกิน 30 ล้านบาท

และที่สำคัญที่สุดคือ ระหว่างใช้สิทธิลดหย่อนอัตราภาษีนี้ จะต้องไม่ถูกเพิกถอนสิทธิ์