สวัสดีครับ วันนี้พี่ต้าร์มาพร้อมกับบทความ Review อีกครั้งกับ "หุ้นกู้" CPF ซึ่งหากใครที่อยู่ในวงการตลาดหุ้น ก็คงจะทราบดีว่า คือ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ของกลุ่ม ซี.พี. นั่นเอง ซึ่งตอนนี้เขากำลังจะระดมทุนผ่านตราสารหนี้ประเภทหุ้นกู้ด้วยสิทธิ์นะครับ แต่ชื่อยาวซักหน่อย คือ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนดและมีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ของบริษัท  

เราจะมาดูกันว่า "หุ้นกู้" ที่กำลังจะออกมานี้ มีหน้าตาเป็นอย่างไร และมีข้อมูลอะไรที่เราควรจะต้องทราบบ้าง ผมเขียนไว้เป็นข้อๆ ดังนี้นะครับ

1. ประเภทหุ้นกู้และสิทธิการรับชำระหนี้

หุ้นกู้ตัวนี้ คือ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนนะครับ เมื่อเราลงทุนแล้วจะอยู่ในสถานะเจ้าหนี้ของ CPF โดยบริษัทจะนำเงินเราไปหมุนเวียนทำกิจการและจ่ายดอกเบี้ยตามที่ตกลงไว้ พร้อมเงินต้นคืนเมื่อเลิกกิจการหรืออาจจะไถ่ถอนก่อนตามกำหนด ทั้งนี้สิทธิของการได้รับชำระหนี้นั้นจะอยู่ในลำดับรองจาก ผู้ถือหุ้นกู้ทั่วไปและผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ แต่แน่นอนว่าเราจะมีสิทธิในการรับชำระหนี้ก่อนการแจกจ่ายทรัพย์สินที่เหลือให้กับผู้ถือหุ้นครับ

2. อันดับความเสี่ยง

การลงทุนในหุ้นกู้นั้น ก็คือการที่เราให้บริษัทยืมเงินไปนะครับ เมื่อเราให้ CPF ยืมเงินไป เขาก็มีหน้าที่จะต้องนำเงินมาคืนเราพร้อมดอกเบี้ยภายในเวลาที่กำหนดตามข้อตกลงของเงื่อนไขต่างๆ ทั้งนี้เราจึงต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบริษัทและความเสี่ยงของบริษัทนี้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 มุมครับ นั่นคือความน่าเชื่อถือของบริษัทและความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้

  • CPF นั้นเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีความใหญ่โตและมั่นคง ทางบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ทริส เรทติ้งส์ ได้ประเมินอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทอยู่ที่ A+
  • ในส่วนตัวหุ้นกู้นั้น ได้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือโดย ทริส เรทติ้งส์ อยู่ที่ A-  (ถ้าเปรียบเทียบกับกองทุนรวม ความเสี่ยงจะใกล้เคียงกับกองทุนตราสารผสม)

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทุกคนจะต้องเข้าใจก็คือ การลงทุนในตราสารหนี้นั้นมีความเสี่ยงในการได้รับเงินต้นคืน  มีโอกาสเกิดความล่าช้าในการชำระดอกเบี้ยครับ

3. ผลตอบแทนในการลงทุน

ตามข้อกำหนดทั่วไปนั้น หุ้นกู้จะมีการจ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 6 เดือน และจะชำระเงินกู้เมื่อเลิกกิจการ โดยกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยใน 5 ปีแรกคือ 5% หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี + 2.83% และมีการเพิ่ม Premium ให้ไปอีกจากอัตราดอกเบี้ยในที่อ้างอิงพันธบัตรรัฐบาลในแต่ละปี ดังนี้

  • ในปีที่ 6 - 25 อยู่ที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี + 3.08%
  • ในปีที่ 26-50 อยู่ที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี + 3.83%
  • ในปีที่ 51 เป็นต้นไป อยู่ที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี + 4.83%

ผลตอบแทนอ้างอิงของรัฐบาลนั้น ในช่วง 5 ปีที่นี้ (2555-2560) อยู่ระหว่าง 1.47% - 3.76% ซึ่งในอนาคตตัวเลขอาจจะมีการปรับเปลี่ยนตามสภาวะตลาดในเวลานั้นๆก็ได้นะครับ

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ต้องบอกไว้ก่อนเลยก็คือ หุ้นกู้ตัวนี้มีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ของบริษัท ซึ่งถ้าหากเขาเลื่อนชำระดอกเบี้ยเราจริง เราก็ต้องรออย่างเดียว การที่เราไม่ได้เงินตามกำหนดนั้นเขาจะไม่จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มให้เรานะครับ ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ลดลงไปด้วย

มาดูอย่างกันนะครับ  หากเราอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลที่ 2.17% ณ วันที่ 17 มกราคม 2560 และทาง CPF ได้มีการไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด โดยมีการขอเลื่อนชำระอัตราดอกเบี้ยมาทุกงวดและไถ่ถอนตามระยะเวลา 5 - 100 ปี อัตราผลตอบแทนในการลงทุนก็จะลดลงไป ดังนี้

  • 5 ปี  อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) จะอยู่ที่ 4.5%
  • 25 ปี  อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) จะอยู่ที่ 3.39%
  • 50 ปี  อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) จะอยู่ที่ 2.71%
  • 100 ปี  อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) จะอยู่ที่ 2.14%

แม้ว่าการเลื่อนมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่ๆๆๆๆ ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นกู้ไม่ได้รับการชำระดอกเบี้ย พูดง่ายๆว่าเขาเลื่อนไปเรื่อยๆ บริษัทก็จะไม่สามารถประกาศหรือจ่ายเงินปันผลหุ้นได้เหมือนกัน รวมถึงไม่สามารถชำระดอกเบี้ย ไถ่ถอน หลักทรัพย์ใดๆที่มีสิทธิ์เท่ากับหุ้นกู้ตัวนี้ด้วย ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวก็จะกระทบต่อผู้ถือหุ้นและชื่อเสียงของบริษัทด้วยเช่นกันนะครับ

4. การไถ่ถอนหุ้นกู้

ทาง CPF สามารถไถ่ถอนหุ้นกู้นี้ได้หลังจากที่ครบกำหนด 5 ปี หรืออาจจะไม่มีการไถ่ถอนเลยก็ได้จนถึงวันที่เลิกกิจการ นอกจากนี้แล้วทางบริษัทยังสามารถขอไถ่ถอนหุ้นกู้หากข้อกำหนดทางกฎหมายและประโยชน์ทางบัญชีได้มีการเปลี่ยนแปลงไปครับ หากเราลงทุนกับตราสารหนี้ตัวนี้อย่างน้อยก็ถือยาวได้ถึง 5 ปีและถ้าเขาไม่ได้ไถ่ถอนในระยะเวลาอันสั้นเราก็ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นแล้วจะต้องเป็นเงินเย็นระยะยาวพอสมควรแลยครับ

หากเพื่อนๆสนใจลงทุนกับหุ้นกู้ CPF นั้นเขาจะเปิดให้จองซื้อได้ในวันที่ 23-14, 27-28 กุมภาพันธ์ และ 1 มีนาคม 2560 โดยเสนอขายหน่วยละ 1,000 บาท และต้องจองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาทครับ ส่วนการจัดสรรนั้นอยู่ที่ดุลพินิจของผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ว่าใครจะได้รับสิทธิในการลงทุนเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ครับ

สามารถสอบถามได้ที่ธนาคารกรุงไทยนะครับ โทร 02-111-1111 หรือ ธนาคารไทยพาณิชย์ โทร 02-777-6784

บทความนี้เป็น Advertorial