หลายคนอาจจะยังไม่เคยลงทุนโดยการใช้วิธีการออมหุ้นแบบ DCA หรือในทางเทคนิคเราเรียกว่าการซื้อเฉลี่ยต้นทุน ก็เลยแอบสงสัยกันว่า แนวทางการลงทุนแบบนี้มันดีแน่หรือ คนที่ชอบซื้อหุ้นขาขึ้นก็ย่อมไม่ชอบเวลาหุ้นลงหนักๆ ซึ่ง DCA ก็ยังซื้อแม้จะเป็นขาลง ในทางกลับกันคนที่ชอบซื้อหุ้นช่วงราคาลงหนักๆ เพราะได้ของถูก ก็อาจจะไม่ชอบ DCA ก็ได้ ที่ขาขึ้นก็ยังซื้อ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นขาขึ้นหรือลงการซื้อเฉลี่ยก็จะถูกตั้งคำถามอย่างแน่นอน

บทความนี้ผมก็เลยอยากจะนำเสนอหลักการและการสร้างวิธีคิดในการลงทุนแบบ DCA ให้ทุกท่านได้เห็นกันนะครับ ถือว่าเป็นการแชร์ความคิดจากประสบการณ์ของผมก็แล้วกัน เผื่อจะเป็นประโยชน์กับหลายๆ คนได้ มาดูวิธีคิดในการใช้เครื่องมือนี้กันในแต่ละข้อนะครับ

“DCA นั้นจะต้องเลือกหุ้นที่มีการเติบโตในระยะยาว”

สำหรับตัวผมแล้วเชื่อว่า DCA มันจะดีได้ในการลงทุนระยะยาวมากกว่าระยะสั้น และมันก็ไม่สามารถใช้ซื้อได้ทุกตัวซะด้วยสิ ในมุมมองผมแน่นอนว่าเราจะต้องเลือกหุ้นประเภท Growth Stock เป็นหลัก ไม่ใช่หุ้นรอเด้ง Turnaround หรือบรรดาหุ้นวัฏจักรทั้งหลายรวมถึงพวกธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ที่เอาแน่เอานอนกับผลประกอบการไม่ได้ หากใครที่ลงทุนในกองทุนรวม ผมว่าวิธีง่ายที่สุดก็คือการลงทุนในกองทุนอิงดัชนี (Passive Fund) หากเราเชื่อว่าประเทศไทยจะโตต่อไปจากการค้าการลงทุน ซึ่งจะทำให้บริษัทที่อยู่ในตลาดได้รับการเติบโตไปด้วย

ถ้าให้เราลงลึกเข้าไปก็สามารถดูได้ในเชิงของการเติบโตของธุรกิจ ยอดขายสินค้าบริการและกำไรที่เกิดขึ้น ข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญในงบการเงิน ความเป็นไปได้ในวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ตลอดจนความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาว การวิเคราะห์เรื่องเหล่านี้อยู่ที่ประสบการณ์ของแต่ละคนนะครับ แต่อย่างตัวผมเองจะเลือกธุรกิจที่มองง่ายๆ และน่าจะอยู่เติบโตในระยะยาวได้ สามารถจินตนาการได้ว่า ลงทุนและยังนอนหลับได้อย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของลักษณะหุ้น ผมจะเน้นหุ้นที่มีสภาพคล่องดีๆ มีกองทุนและฝรั่งลงทุน เช่น หุ้นในกลุ่มของ SET50 จะได้มีสภาพคล่องในการซื้อด้วย เพราะถ้าหากไปซื้อหุ้นดีแต่ไม่มีสภาพคล่อง กลัวว่าบางเดือนจะได้ซื้อ บางเดือนจะไม่ได้ซื้อ แต่อันนี้แล้วแต่มุมมองของแต่ละคนนะครับ บางคนอาจจะชอบหุ้นเล็กก็ได้

“DCA จะทำให้ต้นทุนในการลงทุนเป็นราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก”

การลงทุนสไตล์นี้เราจะใช้ “วินัย” เป็นตัวขับเคลื่อนนะครับ เราสนใจแค่ว่าหุ้นนั้นเป็นหุ้นเติบโตที่ดี ส่วนราคาหรือความถูกแพงของราคานั้นเราจะใช้การเฉลี่ยต้นทุนจัดการไปครับ วิธีการลงทุนก็คือให้เรากำหนดจำนวนเงินลงทุนคงที่มาลงทุนในแต่ละเดือน เช่น เดือนละ 5,000 บาท เดือนละ 20,000 บาท ในแต่ละเดือนเราจะซื้อหุ้นได้ไม่เท่ากัน ตัวอย่างภาพข้างล่างนี้จะเป็นการซื้อในจังหวะที่ราคาขึ้นครับ

จากภาพจะเห็นได้ว่า ในจังหวะที่ราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง เงินจำนวนเท่าเดิมที่เรานำมาซื้อหุ้นหรือกองทุนรวมนั้นจะทำให้เราซื้อได้น้อยลงเรื่อยๆ เช่น

เดือนที่ 1 DCA 5,000 บาท ซื้อหุ้นราคา 5 บาทได้ 1,000 หุ้น

เดือนที่ 2 DCA 5,000 บาท ซื้อหุ้นราคา 7 บาทได้ 714 หุ้น

เดือนที่ 3 DCA 5,000 บาท ซื้อหุ้นราคา 10 บาทได้ 500  หุ้น

เงินลงทุนทั้งหมด 15,000 บาท

จำนวนหุ้นที่ได้รับ 2,214 หุ้น

ราคาเฉลี่ย 6.78 บาท

(ตัวอย่างจะไม่รวมค่าใช้จ่าย เช่น commission และ vat ครับ)

ซึ่งนั่นก็มีข้อดีจากการใช้วิธีนี้นะครับ การซื้อได้น้อยลงก็ถือว่าเป็นการลดความเสี่ยงในการติดดอยมากขึ้นเรื่อยๆ (ยิ่งแพงยิ่งซื้อน้อยลง) กรณีที่เรามองว่าหุ้นแพง แต่ถ้าเราหยุดซื้อไปก็อาจจะทำให้เราเสียโอกาสได้ถ้ากำไรมันดันวิ่งทันและพื้นฐานถูกยกขึ้นไปอีก ถ้ามองในมุมนี้ก็จะเห็นว่ามันเป็นการลงทุนที่มีเชิงรุกและรับในตัวเองได้ ในมุมมองผมนะ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหุ้นขึ้นไม่ต้องน้อยใจที่ซื้อหุ้นได้น้อยลงนะครับ  การปรับตัวของราคาที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับต้นทุนที่สะสมมาแบบเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก มันก็คือกำไรจากการลงทุนที่มากขึ้นนั่นเอง (หุ้นขึ้นไม่ชอบหรออ ชอบสิ)

ในทางกลับกันหากเป็นช่วงการลงของราคา มันก็จะทำให้เราสามารถซื้อหุ้นได้มากขึ้นนะครับ จากรูปจะเห็นได้ว่า หากจำนวนเงินที่ลงทุนในแต่ละเดือนมันไม่เปลี่ยนไป จำนวนหุ้นหรือหน่วยลงทุนที่ได้รับจะได้มากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าเราอาจจะขาดทุนหรือกำไรลดลงก็ตามแต่มันก็เป็นช่วงเวลาที่ดีในการสะสมหุ้นดีๆ เพื่อรอภาวะตลาดฟื้นให้โตไปในระยะยาวได้ อย่างที่ผมบอกในตอนต้นล่ะ การสะสมหุ้นนั้นจะต้องเลือกตัวพื้นฐานดีตั้งแต่แรก การที่ราคาลงมันลงแค่ราคา (ซื้อหุ้นพื้นฐานดีได้เยอะๆในช่วงราคาถูก ไม่ชอบหราาาา?)

ผมลองเอาราคาหุ้นตัวหนึ่งที่เป็นหุ้นเติบโต มีกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่อง สถานะทางการเงินดี มา Back Test ย้อนหลังดูนะครับว่าหากเราลงทุนมานานแล้วจะเป็นอย่างไรบ้าง แน่นอนว่าที่เราเห็นสีแดงๆ คือราคาเฉลี่ยๆ ที่เกิดขึ้นจากการซื้อด้วยเงินเท่าๆ ในแต่ละเดือน จะมีบางช่วงที่เราอาจจะเห็นการตกลงของราคา เส้นค่าเฉลี่ยก็ถ่วงน้ำหนักลงไปบ้าง แต่อย่างไรก็ตามพอระยะยาว หุ้นที่เติบโต มีคนสนใจลงทุนหุ้นตัวนี้เพิ่ม ตลาดก็จะปรับราคาให้มันแพงขึ้นได้ แน่นอนว่าหากเราสะสมมาอย่างยาวนาน แรกๆ เราอาจจะพบว่า หุ้นมันดีแต่ราคาไม่ไปไหนเลย ก็อาจจะน้อยใจถอดใจไปบ้าง แต่ถ้า Business Model และพื้นฐานดี คนเริ่มมาเห็น ก็จะทำให้มูลค่าพอร์ตการลงทุนเราโตขึ้นได้ครับ

ในหลักการเหล่านี้ทำให้หลายๆ คนสามารถกล้าซื้อหุ้นพื้นฐานดีที่มีความคาดหวังสูง (P/E เยอะ) ได้