วันก่อนผมได้พูดคุยกับรุ่นน้องคนหนึ่งที่เป็น "นักดนตรี" ค่อนข้างติสท์และอินดี้ เห็นว่าช่วงหลังเขาเล่นดนตรีและสามารถทำรายได้ให้กับตัวเองได้อยู่พอดู ก็เลยมองว่าน่าสนใจว่านักดนตรีสมัยนี้เรามีวิธีการหารายได้อย่างไรบ้าง เพราะในช่วงที่ผมยังเรียนอยู่ในสมัย ม.ต้น ม.ปลาย ก็มีคนอยู่ไม่น้อยหรอกที่อยากเป็นนักดนตรี แต่ในสมัยนั้นก็คงต้องไปสังกัดค่ายเพลงต่างๆถึงจะดังได้จนทำเงินเป็นกอบเป็นกำ บ้างก็เลยเล่นกันเป็นงานอดิเรก แต่ถ้ามีโอกาสก็จะจ่ายเงินเช่าห้องซ้อมและส่งผลงานไปประกวดวงดนตรีกัน

แต่ในสมัยนี้ ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปก็ทำให้ใครหลายๆคนสามารถเข้าถึงทั้ง สื่อที่ประชาสัมพันธ์ของตัวที่ต้นทุนถูกมาก รวมถึงต้นทุนทางการผลิตที่เปลี่ยนไป มันถูกลงและทำให้ใครก็เข้าถึง "อาชีพนักดนตรี" ได้ โดย Key หลักๆที่ผมได้จับประเด็นมา มีดังนี้

ภาพที่ชัดเจนของวงดนตรี

เรื่องนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมากว่าเราจะทำดนตรีแนวไหน แนวที่ชัดเจนนั้นจะบอกเลยว่าผู้ฟังนั้นเป็นใคร อยู่ที่ไหน เขามีไลฟ์สไตล์เป็นอย่างไรและต้องทำการตลาดกับผู้ฟังอย่างไรในการโปรโมท ไม่ใช่ว่าจะแต่งเพลงแนวสุนทราภรณ์แล้วไปโปรโมทให้กับเด็กมัธยมในสมัยนี้ ถึงแม้จะมีคนฟังบ้างแต่ไม่ใช่เทรนของเขา อาจจะแป๊กก็ได้

ช่องทางการทำเงินต้องคิดหลากหลาย

ถ้าเรามองถึงอาชีพนักดนตรีสมัยก่อนก็จะมีกิจกรรมในเรื่องของการเล่นดนตรีตามงานแล้วรับค่าจ้าง แต่ถ้าไปสังกัดค่ายใหญ่ๆก็จะได้ออกเทป แต่ในสมัยนี้ด้วยสื่อ Social Media ที่เกิดขึ้นเยอะแยะมากมาย ทำให้มีโอกาสจะมีรายได้มากขึ้นโดยไม่ต้องมีสังเกตก็ได้ หากเรามีฐานแฟนๆมากพอก็สามารถจัดงาน Event ของตัวเองหรือไปร่วมจัดกับคนอื่น

ในส่วนของหาช่องทางรายได้ในทางอื่นก็ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนตัวเองเป็น Youtubers โดยการสร้างสรรค์ผลงานตัวเองผ่านช่องทางออนไลน์และจะได้ผลตอบแทนกลับมาหากมีผู้ชมจำนวนมาก รวมถึงเราสามารถจะนำเสียงผลงานต่างๆไปขายทางอออนไลน์ได้ หรืออาจจะเป็นการรับจ้างงานเล็กๆจากต่างประเทศได้หากผลิตเสียงต่างๆเป็น

ต้นทุนไม่ต้องสูงก็มีผลงานที่ดีได้

เดิมทีการเล่นดนตรีจะใช้ต้นทุนสูงมากและไม่ได้รับประกันด้วยว่าที่ผลิตๆมานั้นจะมีค่ายใหญ่ๆสนใจ ต้องนัดกันซ้อมให้ดี แล้วไปเล่นในห้องอัด เล่นพลาดก็ต้องเริ่มกันใหม่ แต่เครื่องมือเครื่องไม้ในปัจจุบันสามารถซื้อมาเป็นเจ้าของได้ด้วยเงินจำนวนที่ถูกลง และมีวิธีการใช้งานทันสมัยมาก ไม่ว่าจะเป็นการ edit ได้โดยไม่ต้องเล่นใหม่ แยกกันเล่นเป็นส่วนๆได้ ใครไม่ว่างก็มาเติมเนื้อหาที่หลัง ในตรงนี้หากเราบริหารดีก็จะทำให้ลดต้นทุนต่างๆรวมถึงทำให้เกิดประสิทธิภาพในการสร้างสรรค์ผลงานได้

และแน่นอนว่านักดนตรีสมัยนี้นอกจากที่จะรู้ในเรื่องของการทำการตลาด การหารายได้และบริหารต้นทุนต่างๆที่มีประสิทธิภาพแล้ว หลายๆคนก็ทราบดีว่าเมื่อได้เงินจากผลงานต่างๆก็ย่อมต้องเก็บเอาไว้ในยามฉุกเฉิน อย่าลืมว่าอาชีพนักดนตรีนั้นเป็นอาชีพที่แข่งขันกันสูง ผลงานที่ออกมาอาจจะโด่งดังแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็เลยต้องผลิตผลงานมาเรื่อยๆ รวมถึงหารายได้ที่ไม่ได้มาจากการเล่นดนตรีเพิ่มอีกด้วย

Financial Planning for Musician หรือการวางแผนการเงินของนักดนตรี ก็เป็นสิ่งที่นักดนตรีทุกท่านควรมี หลักการก็เหมือนการบริหารเงินแบบ Freelance นะครับ โดยผมมี Step คร่าวๆ ดังนี้

1. ตั้งเป้าหมายทางการเงิน

โดยเราอาจจะดูว่าในปีนี้เรามีเป้าหมายในการทำ Project อะไรบ้างและมีเป้าหมายของรายได้จำนวนเท่าไหร่ เพราะต้องอย่าลืมว่าการเป็นนักดนตรีแบบอิสระรายได้จะไม่สม่ำเสมอ เราจึงต้อง Set เป้าหมายรายได้ให้ครอบคุมรายจ่ายที่มีได้ รวมถึงสร้างเงินออมให้เกิดขึ้นในแต่ละเดือน

2. ตรวจดูประเภทของรายได้และภาษีที่ต้องจ่าย

รายได้ของนักดนตรีอาจจะมีทั้งส่วนที่เสียภาษีและไม่เสียภาษี เราอาจจะต้องแจกแจงประเภทรายได้ของเราออกมาเป็นส่วนๆว่ามาจากที่ไหนบ้าง ถ้าสามารถทำ List ตารางบน Excel ได้ก็สามารถทำให้การจัดเก็บข้อมูลดีขึ้นและนำข้อมูลไปวางแผนภาษีได้ โดยเฉพาะในส่วนที่เสียภาษีอย่าลืมเก็บ ใบ หัก ณ ที่จ่ายเอาไว้ให้ดี

3. จัดสรรเงินสดและจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสม

การทำอาชีพอิสระอาจจะต้องกันเงินสำรองไว้มากหน่อยเพราะเราไม่รู้ว่าจะมีงานและมีเงินเข้ามาวันไหน ในขณะที่มีรายจ่ายเกิดขึ้นทุกวันๆ แน่นอนว่าเมื่อเราได้รับเงินมาก็ควรจะจัดแจงให้เหมาะสม ส่วนไหนจะเก็บสำรองไว้เผื่อไว้เดือนต่อๆไป ส่วนไหนจะนำไปลงทุนเพิ่มเติม ส่วนไหนจะนำไปซื้อประกันเพื่อป้องกันความเสี่ยง

4. คอยวัดผลทางการเงินอยู่เสมอ

การวางแผนการเงินนั้นอย่าลืมว่าไม่มีความตายตัว ขึ้นอยู่กับตัวเราว่าจะจัดสรรให้ดีอย่างไร เราจึงควรประเมินแผนการจัดการเงินของเราอยู่เสมอว่าดีหรือไม่และควรปรับปรุงแผนให้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างไร

การวางแผนการเป็นนักดนตรีที่แสนอินดี้ก็รวยได้นะครับ อย่างแรกเลยคือการสร้างสรรค์ผลงานให้เกิดรายได้จากการคิดหาช่องทางการทำเงิน เพิ่มประสิทธิภาพด้วยการลดต้นทุนจนเกิดเป็นรายได้ของเรา แต่อย่างไรก็ตามการมีสุขภาพทางการเงินที่ดีก้ต้องวางแผนด้วยนะครับ

มีเงินแล้วก็ต้องดูว่าจะจัดสรรอย่างไรให้เหมาะสมอย่างไร เมื่อสุขภาพทางการเงินดี คุณก็จะสร้างสรรค์ผลงานได้ดีด้วยเช่นกัน จริงไหม?