ผมเคยเขียนเรื่อง Sandwich Generation ให้เพื่อนๆได้อ่านไปแล้วอยู่ครั้งหนึ่ง คิดว่าคงจำกันได้นะครับ วัยที่เราจะพบกับความเป็น Sandwich Generation นั้นก็อยู่ที่ประมาณ 30 ต้นๆ ถึงประมาณ 40-50 ปี จากการที่เราจะต้องมีเป้าหมายทางการเงินและดูแลคนทั้งหมด 3 รุ่นได้แก่

  • รุ่นตัวเรา : มีรายได้ ต้องสร้างฐานะ ซื้อทรัพย์สิน วางแผนเกษียณ
  • รุ่นพ่อแม่ : ไม่มีรายได้ ที่อยู่ในวัยเกษียณ ไม่มีรายได้ อาจจะต้องพึ่งพาเรา
  • รุ่นลูก : ไม่มีรายได้ ที่กำลังเติบโต ต้องเรียนหนังสือและมีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา

ประเด็นที่น่าคิดก็คือ หากเรามีเงินเดือนอยู่อย่างจำกัดและจะต้องดูแลครอบครัวทั้ง 3 รุ่นภายใต้เงินที่จำกัดนั้นจะทำอย่างไร บางคนก็มองว่าจะต้องหาเงินให้มากขึ้นหรือให้ทำให้เงินมันงอกเงยให้เร็วที่สุด จนวันที่ผมได้ Live ออกอากาศกับนักวางแผนการเงิน CFP Kevin Daddy ก็ได้เห็นมุมองผู้เชี่ยวชาญว่าจะต้องมีวิธีคิดอย่างไรบ้าง ก็น่าสนใจดีนะครับ โดยหลักการของการวางแผนการเงินนั้นสามารถทำได้ดังนี้

เริ่มวางแผนป้องกันความเสี่ยงที่ตัวเราก่อน

ในมุมมองนักวางแผนการเงินนั้นเขามองว่า หากเรามีชีวิตอยู่ได้และมีเงินเก็บอย่างไรก็ตามแต่ เราก็จะสามารถหาเงินมาดูแลครอบครัวได้อยู่แล้ว อุปสรรคเดียวที่จะทำให้เกิดความไม่มั่นคงก็คือ หากตัวเราป่วยเป็นโรคร้ายแรง หรือเกิดการสูญเสียต่างๆที่ทำให้เราไม่สามารถหาเงินได้แบบเดิม อันนี้จะมีปัญหาแน่นอนนะครับ การป้องกันความเสี่ยงด้วยการโอนย้ายความเสี่ยงไปในเรื่องของประกันชีวิตจึงเป็นเรื่องแรกที่ควรจะต้องทำ โดยคำนวณว่าหากตัวเราไม่สามารถหารายได้ได้อีกต่อไปคนอีก 2 รุ่นจะต้องใช้เงินเท่าไหร่เป็นเวลานานขนาดไหนและคำนวณออกมาเพื่อทำประกันเพื่อป้องกันความเสี่ยงในจุดนั้นครับ

ยกตัวอย่างเช่น เรามีเงินเดือนอยู่ 35,000 บาท โดยปกติเราจะต้องให้เงินพ่อแม่เดือนละ 10,000 บาท และต้องมีค่าใช้จ่ายให้กับลูกจำนวน 10,000 บาท ใช้เอง 15,000 บาท หากเราเกิดเสียชีวิตขึ้นมา เงินตรงนี้จะไม่ได้มาให้ครบครัวแล้ว ความเสี่ยงทางการเงินจะตกอยู่ที่ลูกและพ่อแม่ต่อทั่นที แน่นอนว่าเราอาจจะมีเงินเก็บมาช่วยให้เขาดำรงชีวิตได้บ้าง แต่นอกเหนือจากเงินเก็บที่เรามีแล้ว ก็อาจจะพิจารณาทำประกันเพิ่มเติม หากต้องการให้เขาอยู่ได้อีก 10 ปี ด้วยเงินเดือนละ 20,000 บาท ก็ต้องมีทุนประกันไว้ 2.4 ล้าน แต่จะเพิ่มทุนประกันมากขึ้นตามเงินเฟ้อก็คำนวณกันดูนะครับ

ดูแลตัวเองเสมอๆ ถ้าไม่เกิดอะไรขึ้นเราก็ยังได้ดูแลเขาต่อ

“แล้วถ้าเราทำประกันไปเรื่อยๆโดยที่เราไม่ได้เป็นอะไร แล้วเราจะทำไปทำไม เสียเบี้ยประกันปีหนึ่งๆไม่ใช้น้อย สู้เอามาลงทุนดีไม่ดีกว่าหรือ?” คำถามนี้เป็นคำถาม Classic ของหลายๆคน แต่ผมมองว่าอย่างไรก็ตามแต่ เราไม่มีทางทราบได้ว่าวันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นโนะ แหม.. ถ้ารู้ล่วงหน้าคงซื้อหวยถูกทุกงวดรวยไปแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องการดำรงชีวิตในโลกนี้มันก็มีความเสี่ยงอยู่เสมอ

สำหรับผมแล้วมองว่าการที่เรานำเงินไปซื้อประกันเพื่อโอนย้ายความเสี่ยงนั้นก็เป็นขั้นต้นของการป้องกันปัญหา แต่สิ่งที่เราต้องทำเพิ่มเติมนั้นก็คือการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดีอย่างสม่ำเสมอรวมถึงไม่ดำรงชีวิตอยู่บนความประมาท หากเรามีชีวิตอยู่ได้ ถึงแม้ไม่ได้ใช้บริการของประกันที่ทำไว้ ก็ดีแล้ววววว แสดงว่าเราก็ยังช่วยดูแลพ่อแม่ได้ ส่งลูกเรียนได้ปกติ

ข้อแนะนำของผมก็คือหากเรามีครอบครัวที่ต้องดูแล นอกเหนือจากการทำงานแล้วเราก็ต้องไม่ลืมที่จะออกกำลังกายให้แข็งแรง ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ รวมถึงหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการขับรถหวาดเสียว การกินดื่มน้ำล้างสติหรือทานสิ่งที่ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรือเรื่องอื่นๆที่ทำให้เราเกิดความเสี่ยงที่ทำให้ไม่สามารถดูแลครอบครัวได้

เมื่อป้องกันความเสี่ยงแล้วมีเงินเหลือก็มาลงทุนได้

ก็ไม่ได้บอกว่าจะประกันอย่างเดียวน้า เรานำเงินที่เหลือเก็บมาลงทุนได้เหมือนกัน เมื่อเราทำประกันที่ป้องกันความเสี่ยงอย่างครบวงจรแล้ว เงินที่เหลือเราก็สามารถนำมาจัดพอร์ตการลงทุนเพื่อการสร้างฐานะที่ดีและ Lifestyle ที่ดีของครอบครัวเราได้ เหมือนเดิมล่ะก็ต้องเริ่มจากตัวเราก่อนจากเหตุผลที่ว่าหากตัวเรารอดเราก็ย่อมพาครอบครัวเรารอดได้เช่นกัน อารมณ์เหมือนสวมหน้ากากอ็อกซิเจนให้ตัวเองก่อนแล้วค่อยสวมให้เด็กบนเครื่องบินละครับ ฮาๆ

เมื่อเราสามารถวางแผนการลงทุนของเราเองให้อยู่รอดได้ เช่น มีหลักประกันเพิ่มเติมจากการลงทุนเมื่อตกงาน มี Passive income จากเงินปันผลหุ้นหรือกองทุนรวมให้เราสบายมากขึ้น เราก็สามารถวางแผนเพื่อคนอื่นๆในครอบครัวได้ หไม่ว่าจะเป็นการให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนที่ดี ลงทุนเอาไว้ให้ได้เรียนในต่างประเทศได้ก็มีใน อย่างน้อยก็ในระดับปริญญาโท

รวมถึงเราอาจจะวางแผนเก็บเงินลงทุนแล้วพาพ่อแม่ไปเที่ยวต่างประเทศ พ่อแม่วัยเกษียณอาจจะอยากไปเที่ยวอินเดีย เนปาล ตามรอยพระพุทธเจ้า ไหว้พระทำบุญที่เจดีย์เชวดากอง หรือบางทีก็อยากจะ Shopping ที่ลอนดอน แพรีสสสสส ก็แล้วแต่ Lifestyle ที่เราจะจัดให้เลย

เห็นไหมครับว่า แม้ว่าเราจะต้องดูแลครอบครัวทั้ง 3 รุ่นในรูปแบบ Sanwaich Generation หากเรารู้วิธีการบริหารจัดการเงินทองและความเสี่ยงต่างๆให้ดี เราก็สามารถพาครอบครัวไปสู่ความมั่งคั่งได้อย่างมีความสุขเช่นกันนะครับ หากอยากรับชมเรื่องราวที่เราเคยพูดคุยกันสามารถดูเพิ่มเติมจากการ Live ระหว่าง Kevin Daddy และ Tarkawin ได้ที่นี่นี้นะครับ https://www.facebook.com/aommoneyth/videos/1074114525975020/