บทความนี้อาจจะเป็นเรื่องเก่าซักนิดนึงแต่ผมยังไม่ได้มีโอกาสได้เขียนเลย เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2558 ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมเครือข่ายองค์กรบ้านจำรุง ที่ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยองร่วมกับโครงการ Rethink ของธนาคารธนชาต เพื่อไปดูว่าหมู่บ้านนี้ได้นำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาพัฒนาหมู่บ้านอย่างไรบ้าง

ที่นี่ไม่ใช่ชุมชนหมู่บ้านธรรมดา แต่ถือเป็นแหล่งเรียนรู้การศึกษาด้านการเกษตรพื้นบ้านและแตกแขนงต่อยอดไปอีกหลายอย่างเลยนะครับ ซึ่งเขาก็เลยเรียกชุมชนของตัวเองว่า “มหาวิทยาลัยบ้านนอก” เพราะทุกคนมีความเชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆทางการเกษตร อยากเรียนรู้เรื่องไหนก็สอบถามอาจารย์แต่ละท่านได้ ชุมชนนี้จึงเป็นต้นแบบของชุมชนเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตัวเอง

“ทรัพย์ในดิน สิ่งที่พ่อมอบไว้ให้”

พี่นำพาเที่ยวหมู่บ้านได้เล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งในหลวงท่านทรงตรัสถามว่า “อยากมีเงินล้านไหม?” แน่นอนว่าทุกคนอยากมี ท่านก็เลยตรัสว่า งั้นก็ลองปลูกต้นไม้เยอะๆดูสิ ต้นไม้ต้นหนึ่งเทียบเท่า 1 ล้านบาท ชุมชนที่นี่ก็เลยปลูกต้นไม้กัน

ในแต่ละวันต้นไม้เหล่านั้นก็เติบใหญ่ บ้างก็เป็นพืชที่เป็นอาหาร บ้างก็เป็นยาสมุนไพร บ้างก็เป็นต้นไม้ที่นำมาสร้างบ้าน บ้างก็นำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานได้ นี่ล่ะคือทรัพย์ในดินที่มีค่ามาก เป็นของที่อยู่ในธรรมชาติ ไม่ต้องเสียเงินซื้อ

การสร้างความมั่งคั่งของคนที่นี่คือการสร้างความสมบูรณ์ให้กับชุมชมและทุกอย่างจะปันผลออกมาให้มีกินมีใช้เช่นกัน ทุกคนมีอาหาร มียา มีที่อยู่  มีความสุขและร่างกายแข็งแรง ผมเชื่อเลยว่าทั้งหมดนี้มีค่ามากกว่าเงินล้านเลยทีเดียว นี่ล่ะคือความคิดดีๆที่พ่อได้มอบไว้ให้

ผมได้มีโอกาสเข้าไปยังส่วนที่เป็นพื้นที่ที่เป็นสวน ในนั้นมีผลไม้เยอะมาก พี่เขาก็บอกว่า หยิบกินได้เลย ส่วนเปลือกและเมล็ดก็ทิ้งเอาไว้กับพื้นนั้นล่ะ เดี๋ยวมันจะกลายเป็นปุ๋ยแล้วมีต้นไม้ขึ้นมาใหม่เอง ทุกอย่างเป็นธรรมชาติที่หมุนเวียน ซึ่งในโลกของเด็กที่เกิดในเมืองอย่างผมก็คงแตกต่างกันไปคือ ทำงาน หาเงิน เอาเงินไปซื้อของมากิน แล้วกลับไปหาเงินใหม่ พอผมได้ไปเห็นหมู่บ้านนี้ก็เลยเข้าใจว่าวิถีของการมีชีวิตอยู่โดยใช้ชีวิตกับธรรมชาติจะทำให้เราสามารถสร้างเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตัวเองได้อย่างไร ก็ถือว่าเป็นการเปิดโลกในอีกมุมหนึ่งที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อนเลยทีเดียว

การพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนนี้มีอีกหลายอย่างเลยนะครับ ก็คือการต่อยอดในสิ่งที่ตัวเองมี ทีละนิดๆ ลองคิดดูสิว่า เมื่อชุมชนมีอาหารการกินและความเป็นอยู่ที่ดีแล้วจะสร้างอะไรได้อีก? บอกให้เลยว่า เยอะแยะมากมาย

การนำของจากชุมชนที่มีอยู่ไปขาย :

วิถีของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นง่ายมากเลย คือทำอะไรให้สมฐานะตัวเอง หากเรามีกินมีใช้อย่างเพียงพอแล้ว ก็สามารถสร้างฐานะทางเศรษฐกิจในขั้นที่สูงขึ้นได้ เมื่อทุกคนมีกินแล้วก็เอาของที่มีมากกว่าที่กินอยู่ไปขายได้เหมือนกัน ผมได้ถามพี่ๆเขาว่า สินค้าเกษตรราคาตกต่ำได้ตามตลาดนะแล้วเขาแก้ปัญหากันอย่างไร เขาก็บอกว่าก็ไม่มีผลกระทบการดำรงชีวิตของพวกเขากันนะ แค่ขายได้เงินน้อยลง แต่กลับบ้านก็ยังมีของกินเหมือนเดิม

การสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยว :

ชุมชนหมู่บ้านนี้เขายินดีต้อนรับทุกคนที่ต้องการไปท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติด้วยนะครับ ค่าที่พักก็ไม่แพง ไปดื่มด่ำกับธรรมชาติ พี่ๆในชุมชนนี้น่ารักและใจดีทุกคน ไปแล้วคุ้มค่ามากเพราะเราจะได้เรียนรู้การสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งในอีกรูปแบบหนึ่ง อย่างผมเองก็เติบโตมาในเมืองก็เลยรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆที่นี่ หากสนใจก็ลองโทรไปสอบถามเขากันได้ครับ

โครงการต่อยอดอื่นๆของแหล่งชุมชน :

ทรัพย์ในดินนั้นสามารถต่อยอดแตกแขนงได้อีกหลายอย่างมากเลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรต่างๆ การทำอาหารเพื่อสุขภาพ การสร้างธนาคารขยะและสิ่งแวดล้อม ธนาคารต้นไม้ สื่อชุมชนเพื่อการเรียนรู้ และยังมีโครงการอีกหลายอย่างที่น่าสนใจมากๆเลยนะครับ

สุดท้ายนี้ผมก็อยากจะบอกว่า ที่เราได้เรียนรู้เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตัวเองในตำรานั้น มีหลายที่ที่เขาได้ลงมือทำจริงๆและเขาพร้อมที่จะสืบสานและเล่าให้เราฟังได้นะครับ สำหรับผู้ที่สนใจในการไปเยี่ยมชมชุมชนหมู่บ้านจำรุง สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.banjumrung.org/

คิดถึงเพลงที่พี่เบิร์ดร้องจริงๆนะ สัญญากันได้ไหมว่าจะดูแลต้นไม้ของพ่อร่วมกันต่อไป

...จากวันนี้สักหมื่นปีต้นไม้ที่พ่อปลูก ต้องสวยต้องงดงาม และยิ่งใหญ่ สืบสานและติดตามจากรอยที่พ่อตั้งใจ เหงื่อเราจะเทไป ให้ต้นไม้ ของพ่อ ยังงดงาม...