มีเพื่อนๆสอบถามมาเยอะมากกว่า วิธีการออมหุ้นแบบ DCA นั้นมันน่าจะเหมาะสมกับกการเป็นพนักงานทำงานประจำที่ได้เงินเดือนอย่างสม่ำเสมอ แต่กรณีของคนที่เป็นคนทำงานไม่ประจำ รายได้ไม่คงที่จะสามารถออมหุ้นได้หรือเปล่า? วันนี้ผมจะมาแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวให้ฟังกันนะครับ

การออมหุ้นแบบ DCA นั้น วิธีการก็คือเราจะหักเงินจำนวนเท่าๆกันในส่วนที่เรากันเงินออมเพื่อนำไปลงทุนแบบประจำ เช่น เดือนละ 5,000 บาท เมื่อเงินเดือนออกก็นำไปซื้อเดือนละครั้งอย่างเป็นวินัย แต่สิ่งที่คนทำงานไม่ประจำก็คือ รายได้จะเข้ามาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ และไม่แน่ใจว่าจะเข้ามาด้วยเงินเท่าไหร่ในแต่ละครั้ง

ตารางนี้เป็นตัวอย่างของรายได้ของมนุษย์เงินเดือนเทียบกับมนุษย์ฟรีแลนซ์นะครับ นี่แหละเลยเป็นข้อสงสัยของเพื่อนๆที่ทำฟรีแลนซ์ว่าแล้วรายได้ไม่เท่ากันจะออมหุ้นเท่าๆกันได้ยังไง?

จากตารางสมมติของผมหลายๆคนอาจจะบอกว่า การเป็นมนุษย์ฟรีแลนซ์เอาแน่เอานอนเรื่องรายได้ยากจัง บางเดือนมีเงินมาออมหุ้น บางเดือนก็ไม่มี แล้วจะทำอย่างไรให้สามารถลงทุนแบบ DCA ได้ล่ะ? จริงๆแล้วประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่ “การมีรายได้ประจำ” แต่มันอยู่ที่ “การจัดสภาพคล่องทางการเงินให้เราลงทุนได้รายเดือน” ต่างหากๆๆๆ

เพราะฉะนั้นแล้วการเป็นมนุษย์ฟรีแลนซ์อาจจะต้องจัดการสภาพคล่องทางการเงินของตัวเองมากขึ้นนะครับ โดยปกติผมจะใช้วิธีการประเมินรายได้ของตัวเองในปีที่แล้วและก็คำนวณดูว่ารายได้ของเราพอลงทุนได้ต่อปีเท่าไหร่ คิดเป็นต่อเดือนเท่าไหร่ ส่วนใหญ่คนที่ทำงานไม่ประจำนั้นจะสามารถสร้างรายได้ให้ตัวเองมากขึ้นในแต่ละปีเหมือนมนุษย์เงินเดือนอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น

  • คำนวณดูจากปีที่แล้วมีรายได้ 840,000 บาท
  • คิดว่าสามารถออมหุ้นได้กี่ % ก็สามารถจัดไปเลยที่ตัวเลขนั้นนะครับ เช่น 10% คือ 7,000 บาทต่อเดือน แต่ในตัวอย่างผมจะออมเดือนละ 10,000 บาทเลย แต่ต้องคำนวณให้เหมาะสมกับตัวเราเองนะครับ
  • ตัวเลขต่อเดือนเราสามารถปรับขึ้นลงได้ตามการกะเกณฑ์ของเรานะครับ ขอให้เป็นตัวเลขที่คิดว่าเหมาะสมที่จะสร้างวินัยในการลงทุนได้

วางแผนการลงทุนแบบฟรีแลนซ์ดังนี้นะครับ

  1. คำนวณค่าใช้จ่ายรายเดือนของเราให้ดีว่าเราต้องใช้จ่ายเท่าไหร่บ้าง ในความเป็นจริงในแต่ละเดือนอาจจะไม่เท่ากันตามสมมติฐานที่เราคำนวณไว้ก็ได้นะครับ
  2. เราจะได้เงินออมมาก้อนหนึ่งให้เราเอาไปออมหุ้นตามแผนนะครับ ที่เหลือเอาไปออมสะสมไว้ที่ กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นเพื่อพักเงินครับ

ตัวอย่างจะเห็นว่า

  • การที่เราสร้างเงินออมสะสมไว้นั้นจะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาในเรื่องของทั้ง ค่าใช้จ่าย และ การนำเงินมาออมหุ้นอย่างมีวินัยได้ครับ
  • เดือนกุมภาพันธ์และเดือนเมษาคนแม้เราไม่มีรายได้เลย แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายเราก็สามารถนำเงินออมสะสมมาใช้จ่ายได้ แถมยังสามารถเอาเงินมาออมหุ้นได้ด้วยนะครับ (เดือนเมษาค่าใช้จ่ายเยอะก็ยังมีจ่ายได้)
  • เมื่อเงินสดสำรองมากขึ้นเราก็สามารถบริหารสภาพคล่องได้และคำนวณได้ว่าเราจะต้องวางแผนการหาเงินภายใต้ระยะเวลาเท่าไหร่ อย่างเช่นในเดือน พฤษภาคมเรามีเงินออมสะสมอยู่ 170,000 บาท ซึ่งเรามีค่าใช้จ่ายและแผนการออมหุ้นรวมแล้วเดือนละ 20,000 บาท แสดงว่าเรามีเงินสดสำรองเพียงพอสำหรับหาเงินเพิ่มได้ประมาณ 8 เดือนครับ
  • ในกรณีที่เรามีเงินสดสำรองมากขึ้นเรื่อยๆ จนเรารู้สึกว่ามันเสียโอกาสในการลงทุนเพิ่มถ้าเงินกองเงินไว้พักเฉยๆ ก็อาจจะพิจารณาในการเพิ่มเงินลงทุนต่อเดือนได้ จาก 10,000 เป็น 15,000 - 20,000 และเพิ่มขึ้นได้ตราบที่เรามองว่าสภาพคล่องทางการเงินของเรายังบริหารได้ดี ไม่ต้องเร่งหาเงินจนเกินไป

นี่ก็เป็นตัวอย่างของการออมหุ้นของผมนะครับในฐานะที่ทำฟรีแลนซ์ด้วย วิธีการนี้ยังสามารถนำไปใช้กับการวางแผนภาษีด้วยนะครับ เช่น การซื้อ LTF & RMF ได้ แต่จะพลิกแพลงวิธีการอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเองนะครับ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เลย ลองดูเลย