ผมมีเพื่อนผู้ใช้แรงงานอยู่หลายคน พวกเขามาถามผมครับว่า จะสร้างเงินเก็บอย่างไรให้ได้เยอะๆ บ้าง เพราะปัจจุบันมีรายได้อยู่ประมาณวันละ 300 บาท ซึ่งเมื่อใช้ไม่ค่อยจะพอ ก็จะไปหยิบยืมเงินจากคนอื่นรวมถึงเงินกู้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยสูงด้วย กลายเป็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากที่ผมได้ลองคุยดูแล้วก็พบว่า หลายคนมีการชำระดอกเบี้ยและทยอยคืนต้นได้เรื่อยๆ แสดงว่าในทางกลับกันหากเขานำตัวเลขเหล่านั้นมาลองเก็บออมดูก็น่าจะทำได้เหมือนกันใช่ไหมครับ

ไหนๆ เงินมันก็ออกจากกระเป๋าไปเหมือนกัน แค่ต่างกันแค่ออกไปใช้หนี้กับออกไปออมเงิน ผมก็เลยสอบถามหลายๆคนดูว่า ถ้าเขาใช้ตัวเลข 10% ของแต่ละวันในการออมเงินนั้นจะทำได้หรือไม่ ค่าแรง 300 บาท ลองออม 10% หรือ 30 บาทต่อวัน หลายคนมองว่าเป็นตัวเลขที่รับได้ ไม่ยากมากจนเกินไป

หากเรามาลองนั่งคำนวณกันดูนะครับ ในแต่ละเดือนนั้น โดยปกติผู้ใช้แรงงานจะทำงาน 22 วัน หากเขาเก็บออมได้วันละ 30 บาทอย่างมีวินัยจะเป็นอย่างไร มาดูกัน

เงินที่เก็บออมได้ต่อเดือน 22 x 30  =    660 บาท

เงินที่เก็บออมได้ต่อปี 660 x 12 = 7,920 บาท

การเก็บเงิน 10% นั้นเป็นจุดเริ่มต้นนะครับ แต่หากเราอยากจะเก็บออมมากกว่านี้ มันก็มีอีก 2 ปัจจัยที่เราจะสามารถเพิ่มจำนวนเงินออมให้มากขึ้นได้

ก็คือการลดรายจ่าย กับ เพิ่มรายรับ

1. ลดรายจ่าย

รายจ่ายหนึ่งที่ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากจ่ายไปค่อนข้างเยอะ เมื่อเทียบกับรายรับของตัวเองก็คงจะหนีไม่พ้นการซื้อหวย หลายๆคนมองว่าหากถูกหวยซักทีได้เงินมา 20 ล้านบาท ก็คงจะเปลี่ยนชีวิตได้เลยทีเดียว แต่ต้องอย่าลืมว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนซื้อหวยมาทั้งชีวิตไม่เคยถูกเลยก็มีนะ ลองคิดดูว่าหากกลางเดือนต้นเดือนเราจ่ายให้กับค่าหวยไปครั้งล่ะ 100 บาท หรือ 200 บาทต่อเดือน หากเรานำเงินตรงนี้มาเป็นเงินออมเพิ่มเติม 1 ปี จะมีเงินเก็บเพิ่มถึง 200 x 12 = 2,400 บาทถ้าเราเก็บเงิน และเลิกซื้อหวยได้ตามสูตรนี้

เงินออมที่เก็บได้รวม 7,930 + 2,400 = 10,320 บาท

2. เพิ่มรายรับ

เท่าที่คุยกับเพื่อนๆผู้ใช้แรงงานหลายท่าน ก็เป็นคนขยันนะครับ มีเงินโอทีอยู่ด้วย ซึ่งถ้าหากเขาแบ่งเงินออมจากเงินส่วนเพิ่มตรงนั้นให้มากขึ้นก็ย่อมทำให้เขาเก็บเงินได้มากขึ้น หากผมยกตัวย่างเช่น หากผู้ใชแรงงานออมเพิ่มเป็นวันละ 50 บาท ทำงาน 22 วัน เขาจะมีเงินเก็บมากขึ้นเป็น 1,100 ต่อเดือน หรือ 13,200 ต่อปี และรวมการเลิกเล่นหวยด้วยอีกงวดละ 100 บาท เขาจะเก็ยเงินได้ดังนี้ครับ

เงินออมที่เก็บได้    13,200 + 2,400 = 15,600 บาท

จะเห็นได้ว่าจริงๆแล้ววิธีการเก็บเงินออมนั้นมันก็ลองได้ง่ายๆจากตัวเลขซัก 10% ของรายได้ก่อนแล้วก็เพิ่มขึ้นตามเงินที่ได้หรือลดรายจ่ายที่เราคิดว่าไม่จำเป็นลงนะครับ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือพยายามหลีกเลี่ยงการกู้ยืมเงินหรือใช้บัตรกดเงินสดที่มีดอกเบี้ยสูงๆด้วย และถ้าเรามีเงินออมมากขึ้นลองนำเงินไปฝากประจำที่มีโอกาสได้รับดอกเบี้ยที่สูงขึ้นหรือลองซื้อสลากออมสินหรือสลาก ธกส. ดูนะครับ ได้ลุ้นเหมือนหวยและเมื่อครบกำหนดก็จะได้รับเงินคืนที่มีผลตอบแทนสูงขึ้นด้วย

หลายๆก็เมื่อมีเงินเก็บหลักหมื่นแล้ว ก็สามารถนำไปเป็นจุดเริ่มต้นในการทำค้าขายกิจการต่างๆได้ อบ่างผู้ใช้แรงงานแถวบ้านผมหลังเลิกงานก็จะนำรถเข็นจากที่พักไปขายลูกชิ้นปิ้ง ไส้กรอก สร้างผลกำไรและรายได้ในช่วงที่มีเวลาเพิ่มเติมได้อยู่เหมือนกันนะครับ บางคนขายไปขายมารวยเลยก็มาทำอาชีพค้าขายแทนก็มี

เรื่องนี้ก็เป็นแนวทางวิธีคิดคร่าวๆให้ลองศึกษาดูกันหรือใครมีลูกน้องเป็นผู้ใช้แรงงานได้รับรายได้รายวันก็สามารถแนะนำเขาได้นะครับ เก็บเล็กเก็บน้อยจากเงินหลัก 10 ก็กลายเป็นเงินหลักหมื่นหลักแสนได้ แน่นอนว่าเงินส่วนนี้จะกลายเป็นหลักประกันเมื่อเราเจอค่าใช้จ่ายฉุกเฉินเราก็ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินใครให้เป็นหนี้และทำให้เรามีหลักประกันทางการเงินด้วยนะครับ