สวัสดีครับ กลับมาพบกับพรี่หนอม TAXBugnoms เจ้าเก่าเจ้าเดิม กับหน้าที่เพิ่มเติมในการสรุปประเด็นเด็ดเจ็ดสีจากรายการ “กองทุนไหนดี ? Weekly” พบกันประจำทุกสัปดาห์ ที่จะทำให้คุณรู้ว่ากองทุนไหนดี กองทุนไหนเด่น เพื่อให้เลือกกองทุนได้เหมาะสำหรับตัวคุณมากที่สุดครับผม

สำหรับ กองทุนไหนดี ? ตอนที่ 9 นี้ ถือว่าเป็นตอนพิเศษมาก ๆ ครับ เนื่องจากได้รับเกียรติจากทางคุณจอมขวัญ พงศ์สกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายธุรกิจจัดการลงทุน จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่จะมาให้ข้อมูล Fund Fact Sheet ตัวใหม่ล่าสุดที่กำลังจะเริ่มใช้ในเดือนมิถุนายน 2560 นี้ (สำหรับกองทุนออกใหม่) และจะปรับให้เป็นแบบเดียวกันทุกกองทุนภายในสิ้นปี 2560 นี้ครับ

เกริ่นก่อนครับว่า งานนี้ Fund Fact Sheet ฉบับใหม่จะมาในรูปแบบของ Interactive ครับ ซึ่งรายละเอียดที่น่าสนใจนั้น ผมสรุปมาให้แล้วครับ เอาล่ะ เรามาเริ่มกันเลยดีกว่าครับผม

Fund Fact Sheet ใหม่ ไฉไลกว่าเก่ายังไง?

สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่า Fund Fact Sheet คืออะไร ผมเรียกให้ง่ายขึ้นละกัน มันคือหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของกองทุน เพื่อให้ตัวนักลงทุนได้ศึกษาข้อมูลและเปรียบเทียบกับกองทุนประเภทเดียวกันก่อนตัดสินใจจะลงทุน โดยมีข้อมูลต่าง ๆ ที่สำคัญ คือ ข้อมูลของกองทุน ผลการดำเนินงานของกองทุน การกระจายการลงทุน และสัดส่วนการลงทุนต่าง ๆ

โดยความสำคัญของการอ่าน Fund Fact Sheet นั้นเปรียบเทียบเหมือนกันกับข้อมูลที่เราควรรู้ เหมือนกับการอ่านฉลากยาก่อนใช้งาน ซึ่งก่อนที่จะลงทุนในกองทุนนั้น เราเองก็ควรจะรู้ว่ากองทุนนั้นมีรายละเอียดการลงทุนว่า เขาเอาเงินไปลงทุนอะไรบ้าง ??? บางครั้งดูแต่ผลตอบแทนอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดูถึงไส้ในของมันด้วยว่าไปลงทุนในสินทรัพย์อะไรบ้าง

แต่อย่างที่ทราบกันดี Fund Fact Sheet ในปัจจุบันนั้น มีข้อมูลค่อนข้างอ่านยากไปเสียหน่อย หรือนักลงทุนดูแล้วอาจจะรู้สึกเข้าใจยากไปสักนิด ซึ่งตัว Fund Fact Sheet ใหม่นั้นจะออกมาแก้ปัญหาในเรื่องเหล่านี้ ผ่านมิติของภาพที่สื่อความหมายได้ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงใช้รูปแบบเดียวกันกับทุกกองทุนในประเทศไทยครับ

นอกจากนั้นยังเพิ่มในส่วนของ Interactive ที่สามารถคลิกเข้าไปดูข้อมูลเชิงลึกได้ง่ายขึ้นและสะดวกขึ้น สำหรับนักลงทุนที่คิดว่าตัวเองยังไม่เข้าใจ จะสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้นแน่นอนครับ

มาลองดูตัวอย่างของ Fund Fact Sheet ใหม่กันครับ… โดย Fact Sheet ตัวใหม่จะมีอยู่ 7 เรื่องหลัก ๆ ที่นักลงทุนควรทำความเข้าใจ ดังนี้ครับ

  1. คุณกำลังจะลงทุนในอะไร : เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจว่ากองทุนนี้คือกองทุนอะไร ประเภทใด เพื่อช่วยในการพิจารณาข้อมูลของการลงทุนได้ง่ายขึ้น
  2. กองทุนนี้เหมาะกับใคร : Fact Sheet ตัวนี้จะบอกว่า “เหมาะกับใคร” และ “ไม่เหมาะกับใคร” เพื่อให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่ากองนี้เหมาะสมกับความต้องการของเราหรือเปล่า
  3. คุณต้องระวังอะไรเป็นพิเศษ : บอกถึงเรื่องของความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการลงทุน เพื่อให้รู้ว่ามีเรื่องไหนทีต้องระวังและนำมาตัดสินใจบ้าง เพื่อให้สามารถยอมรับความเสี่ยงในการลงทุนให้ง่ายขึ้น
  4. สัดส่วนของสินทรัพย์ที่ลงทุน : ดูรายละเอียดในไส้ในว่ากองทุนนี้นำเงินของเราไปลงทุนในอะไรบ้าง เพื่อให้รู้ว่าเงินของเราไปอยู่ที่ไหน มีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดบ้าง
  5. ค่าธรรมเนียม : บอกให้ชัดเจนว่าค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บเท่าไร และเมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนประเภทเดียวกันจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าควรลงทุนในกองทุนนี้หรือไม่
  6. ผลการดำเนินงาน : ให้เห็นว่าที่ผ่านมา (ตั้งแต่ 10 ปีหรือจัดตั้งกอง) มีผลการดำเนินงานอย่างไรบ้าง ดีหรือไม่ดีอย่างไร เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนของผลดำเนินงานมากขึ้น
  7. ข้อมูลอื่น ๆ : รายการที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการลงทุนที่ควรรู้ เช่น ซื้อที่ไหน รายละเอียดอื่น ๆ มีอย่างไรบ้าง ฯลฯ

นอกจากนั้น ตัว Fund Fact Sheet ที่ว่านี้จะถูกนำไปใช้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้คนที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นสามารถเลือกลงทุนได้เหมาะสมกับความเสี่ยงและความต้องการครับ เพราะเงินก้อนนี้ถือว่าเป็นเงินลงทุนอีกก้อนหนึ่งที่สำคัญเพื่อที่จะนำไปใช้หลังเกษียณนั่นเองครับ

สุดท้ายก่อนจากกัน คุณจอมขวัญยังได้ฝากเทคนิคการลงทุนของตัวเองไว้ครับ นั่นคือ ออมมาก-ออมนาน-ออมเป็น โดยเริ่มต้นการออมเงินตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน แม้ว่าเงินจะน้อยก็ตาม แต่ยังใช้หลักการ DCA ทยอยซื้อจากเงินเดือนของตัวเองไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่มีรายได้ (ออมมาก – เริ่มต้นไว)

ประกอบกับทัศนคติที่ดีในการลงทุน (ออมผ่านกองทุนรวมตลอด) เวลาหุ้นขึ้นก็จะรู้สึกดีใจ แต่ถ้าช่วงไหนที่หุ้นลงก็ยังมองว่าเป็นการซื้อของถูกอยู่ เพราะเรายังต้องเก็บระยะเวลาอีกนาน (ออมนาน – คิดถึงตอนเกษียณ) ดังนั้นเงินที่ลงทุนในตอนนั้นก็ไม่ได้มีผลอะไรกับเราในตอนนั้นอยู่ดี เนื่องจากเป้าหมายของเรานั้นเป็นระยะยาว

นอกจากนั้น สินทรัพย์ที่เลือกลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในหุ้น (ผสมกันหลายกลุ่ม) เพื่อให้เงินมันมีโอกาสเติบโตระยะยาว (ออมเป็น – ผลตอบแทนสูง) และได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนครับ

สำหรับเรื่องการบริหารจัดการการใช้จ่าย จะใช้ฝากในเงินฝากธนาคารเป็นหลัก เพื่อนำไปบริหารจัดการใช้จ่าย โดยแยกออกจากการลงทุนอย่างชัดเจนครับ ซึ่งจะเห็นว่าเป็นการบริหารจัดการเงินอย่างมีหลักการ