ท่านผู้อ่านบางท่าน อาจจะเคยมีคนมาเสนอประกันสุขภาพแบบใหม่ หรืออาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่า มีประกันสุขภาพแบบใหม่ที่คุ้มค่ากว่าประกันสุขภาพแบบเดิม เพราะเบี้ยประกันสุขภาพเป็นเบี้ยที่ไม่ได้จ่ายทิ้งทั้งหมด แต่มีบางส่วนเป็นเงินออมด้วย แถมเบี้ยคงที่ตลอดสัญญา ไม่ปรับเพิ่มขึ้นตามอายุ ซึ่งเรียกประกันสุขภาพแบบนี้ว่า UDR แต่มันจะเป็นจริงอย่างที่เขาพูดกันหรือไม่ วันนี้ผมจะมาขออธิบายข้อมูลของประกันสุขภาพแบบ UDR ให้พวกเราได้เข้าใจกัน

ประกันสุขภาพแบบ UDR ที่ย่อมาจากคำว่า "Unit Deducting Rider" หรือหมายถึง ประกันสุขภาพที่เป็นสัญญาเพิ่มเติมพ่วงกับประกันชีวิตที่มีการจ่ายเบี้ยสุขภาพแบบทยอยหักค่าเบี้ยส่วนประกันสุขภาพออกจากค่าเบี้ยประกันทั้งหมด คือ ประกันสุขภาพที่ต้องทำพ่วงกับประกันชีวิตประเภทควบการลงทุน หรือยูนิตลิงค์ แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยประกันสุขภาพประเภทนี้ จะมีลักษณะความคุ้มครอง ไม่ต่างจากประกันสุขภาพประเภทเดียวกัน ที่เป็นแบบประกันสุขภาพแบบทั่วไปเลย จะต่างกันก็เพียงแต่ว่า ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ UDR จะเป็นค่าเบี้ยแบบคงที่ตลอดสัญญา ไม่ปรับเพิ่มขึ้นตามอายุ เหมือนกับประกันสุขภาพแบบทั่วไป และเวลาทำประกัน ต้องทำพ่วงเข้ากับประกันชีวิตประเภทยูนิตลิงค์เท่านั้นเอง

ค่าเบี้ยประกันแบบ UDR นี้ แม้จะเป็นค่าเบี้ยคงที่ ไม่ปรับเพิ่มขึ้นตามอายุก็จริง แต่จะมีลักษณะเป็น “ค่าเบี้ยถัวเฉลี่ย” ตลอดอายุรับประกัน นั่นหมายความว่าตอนผู้ทำประกันอายุน้อยๆ ค่าเบี้ยประกันแบบ UDR จะแพงกว่าค่าเบี้ยประกันแบบทั่วไป เพราะเป็นการถัวเอาค่าเบี้ยตอนอายุมากๆ มาเฉลี่ยลงตอนอายุน้อยๆด้วย แต่เมื่อผู้ทำประกันอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ค่าเบี้ยก็จะมีความแตกต่างกันลดลง และตอนอายุมากๆ ค่าเบี้ย UDR ก็จะถูกกว่าค่าเบี้ยแบบทั่วไป (เพราะค่าเบี้ยทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามอายุ ขณะที่ค่าเบี้ย UDR จะคงที่มาตั้งแต่ตอนอายุน้อย) เมื่อรวมค่าเบี้ยตลอดสัญญาก็จะพบว่า ค่าเบี้ยแบบ UDR ก็จะถูกกว่าค่าเบี้ยแบบทั่วไปครับ

แม้ค่าเบี้ยรวมตลอดอายุสัญญาของ UDR จะถูกกว่าแบบทั่วไป แต่เราก็ไม่สามารถบอกได้ว่า “มูลค่าที่แท้จริง" ของค่าเบี้ยทั้งหมดแบบ UDR จะถูกกว่าแบบทั่วไป เนื่องจากหากจะคิดมูลค่าที่แท้จริง จะมีเรื่องของ “มูลค่าเงินตามเวลา” เข้ามาคิดด้วย เนื่องจากด้วยจำนวนเงินที่เท่ากัน มูลค่าของเงินในอนาคตของเงินจำนวนนั้น จะมีค่าน้อยกว่าในปัจจุบัน (อันเนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อที่ทำให้ค่าของเงินลดลง เป็นต้น) นั่นทำให้เมื่อคิดเรื่องมูลค่าตามเวลาเข้ามาด้วย มูลค่าที่แท้จริงของค่าเบี้ยประกันแบบ UDR จะแพงกว่าแบบทั่วไป สาเหตุก็เพราะค่าเบี้ยแบบ UDR ตอนผู้ทำประกันอายุน้อยๆ มันแพงกว่าแบบทั่วไปมากๆ แต่ตอนอายุมากๆ ค่าเบี้ยของแบบทั่วไป แม้จะแพงกว่าแบบ UDR แต่เมื่อคิดเป็นมูลค่า ณ ปัจจุบัน ก็จะแตกต่างกันไม่มาก เมื่อรวมกันแล้วทำให้มูลค่าที่แท้จริงของเบี้ยแบบ UDR จะแพงกว่านั่นเองครับ

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่พูดกันว่า ค่าเบี้ยประกันสุขภาพแบบ UDR นั้นดีกว่าแบบทั่วไป เพราะไม่ใช่เบี้ยจ่ายทิ้งทั้งหมด แต่จะมีบางส่วนเอาไปลงทุนทำให้เงินงอกเงยด้วยนั้น อันที่จริงแล้ว ก็มาจากการที่เวลาเราจะทำประกันสุขภาพแบบ UDR นั้น เราจะไม่ได้จ่ายค่าเบี้ยแยกส่วน คือ ส่วนหนึ่งเป็นเบี้ยประกันชีวิต และอีกส่วนหนึ่งเป็นเบี้ยประกันสุขภาพ เหมือนเวลาเราทำประกันสุขภาพทั่วไป แต่เราจะจ่ายเบี้ยเป็นเบี้ยก้อนเดียวเลย (ซึ่งจะจ่ายเท่าไหร่ ก็แล้วแต่เราจะวางแผนเลือกเองได้) แล้วบริษัทประกันจะนำค่าเบี้ยก้อนนั้นไปทยอยตัดเป็นค่าเบี้ยส่วน UDR เองในแต่ละเดือน อีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นค่าใช้จ่ายในการทำความคุ้มครองชีวิต และส่วนที่เหลือก็จะนำไปลงทุนในกองทุนรวม ตามรูปแบบของประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์ มันจึงเสมือนว่า ค่าเบี้ยประกันที่จ่ายไปทั้งก้อน ไม่ใช่ค่าเบี้ยจ่ายทิ้งทั้งหมด แต่มีส่วนที่เหลือนำไปลงทุนด้วยนั่นเอง

แต่หากเรามองดูกันจริงๆก็จะพบว่า “เฉพาะ” ค่าเบี้ยส่วนที่นำไปทำประกันสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพแบบ UDR หรือประกันสุขภาพแบบทั่วไป ก็จะเป็น “เบี้ยจ่ายทิ้ง” อยู่ดีเพราะถือเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับใช้ซื้อความคุ้มครองสุขภาพในแต่ละปีอยู่แล้ว ดังนั้น ที่บอกว่า เบี้ยประกันแบบ UDR ดีกว่าแบบทั่วไป เพราะไม่ใช่เบี้ยจ่ายทิ้งทั้งหมด ก็คงจะไม่ยุติธรรมเท่าไหร่ เพราะเบี้ยประกัน UDR ที่ว่า มันมีส่วนของเบี้ยประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์ที่มีส่วนของเงินลงทุนด้วย แต่เบี้ยประกันแบบทั่วไปนั้น ไม่ได้รวมจำนวนเงินดังกล่าวเอาไว้ด้วย

มาถึงบทสรุปว่า แล้วสรุปแล้วประกันสุขภาพแบบ UDR นั้นดีกว่าประกันสุขภาพแบบทั่วไปหรือไม่? และควรเลือกทำแบบไหนดี? ซึ่งการจะตอบคำถามนี้ได้ เราไม่สามารถตัดสินได้จากมุมมองใดเพียงมุมมองเดียว แต่ต้องพิจารณาในหลายแง่มุมรวมกัน ซึ่งผมขอสรุปความแตกต่างและความเหมาะสมกับความต้องการที่แตกต่างกันของคนแต่ละกลุ่ม เอาไว้ดังนี้นะครับ

1. แง่การวางแผนและการบริหารจัดการ

เนื่องจากประกันสุขภาพแบบ UDR ค่าเบี้ยจะคงที่ตลอดสัญญา และเมื่อทำพ่วงกับประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์ ก็จะทำให้วางแผนและบริหารจัดการได้ง่ายและสะดวกว่า เพราะค่าเบี้ยคงที่ไปตลอดทำให้สามารถประเมินได้ง่าย และหากเราวางแผนให้ในอนาคตจะนำผลตอบแทนที่สะสมอยู่ในกรมธรรม์ของยูนิตลิงค์มาทยอยหักจ่ายเป็นค่าเบี้ยประกัน UDR ก็สามารถทำได้ง่ายและไม่ต้องทำเอง เพราะมีระบบคอยหักอัตโนมัติให้เองจบในที่เดียวอยู่แล้ว จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการความง่ายและความสะดวกในการบริหารจัดการ

แต่สำหรับผู้ที่ต้องการบริหารจัดการให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด การวางแผนให้ในอนาคตจะใช้ผลตอบแทนสะสมมาจ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันสุขภาพโดยใช้ยูนิตลิงค์เป็นเครื่องมือ ก็อาจจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าการวางแผนการลงทุนด้วยตัวเอง แล้วนำผลตอบแทนสะสมมาทยอยถอนจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพเอง เนื่องจากสามารถเลือกลงทุนได้หลากหลายกว่า (กองทุนที่ทางบริษัทประกันเลือกมาให้) และเสียค่าธรรมเนียมน้อยกว่า (เพราะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการผ่านยูนิตลิงค์อีกต่อหนึ่ง) ดังนั้น สำหรับใครที่ต้องการบริหารจัดการสิ่งต่างๆด้วยตัวเอง ก็ไปวางแผนลงทุนด้วยตัวเอง พร้อมกับการทำประกันสุขภาพทั่วไป ก็อาจจะตอบโจทย์มากกว่า

2. แง่ของความถูกแพงของเบี้ย

อย่างที่ได้อธิบายไปว่า แม้เบี้ยรวมตลอดสัญญาของประกันสุขภาพแบบ UDR จะถูกกว่าแบบทั่วไป แต่มูลค่าที่แท้จริงของเบี้ยรวมของแบบ UDR จะแพงกว่าแบบทั่วไป ดังนั้น ถ้าใครให้ความสำคัญกับมูลค่าของค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายว่าอยากจะเลือกที่ต่ำกว่า ประกันสุขภาพแบบ UDR ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์เท่าแบบทั่วไป เพราะเบี้ยประกันแบบ UDR เสมือนว่าถูกบังคับจ่ายเบี้ยในอนาคตเอามาเฉลี่ยจ่ายในปัจจุบันด้วยนั่นเอง

3. แง่ของความคุ้มครอง

ปัจจุบันประกันสุขภาพแบบ UDR ที่คุ้มครองสุขภาพบางประเภท เช่น แบบที่คุ้มครองค่ารักษาในโรงพยาบาล ยังมีวงเงินความคุ้มครองไม่สูงมากนัก เนื่องจากยังเป็นแบบ “แยกค่าใช้จ่าย” อยู่ โดยจะมีวงเงินกำหนดไว้ในแต่ละรายการที่เบิกจ่ายได้ ซึ่งก็เป็นวงเงินจำนวนไม่มาก และยังไม่มีแบบ “เหมาจ่ายค่ารักษา” ซึ่งมีวงเงินความคุ้มครองสูงกว่า ให้เลือก เหมือนอย่างการทำประกันสุขภาพแบบทั่วไป ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆในการทำประกันสุขภาพที่ต้องมีวงเงินคุ้มครองค่ารักษาที่เพียงพอ ดังนั้น หากทำประกันสุขภาพแบบ UDR ก็อาจจะมีโอกาสสูงที่ความคุ้มครองจะไม่เพียงพอกับค่ารักษาที่จะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต ต่างจากแบบทั่วไปที่เราสามารถเลือกทำแผนความคุ้มครองที่วงเงินสูงได้ ดังนั้นประกันสุขภาพแบบ UDR ก็อาจจะไม่เหมาะกับคนที่ต้องการทำประกันสุขภาพที่ต้องการวงเงินคุ้มครองสูงๆครับ

โดยสรุปแล้ว ประกันสุขภาพแบบ UDR อาจจะเหมาะสำหรับคนที่ต้องการความง่าย และความสะดวกในการบริหารจัดการ ไม่ได้คาดหวังความคุ้มค่า หรือความคุ้มครองการรักษาที่สูงมากนัก แต่ถ้าต้องการทำประกันสุขภาพที่เราสามารถวางแผนเองได้เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ ผลประโยชน์และความคุ้มครองสูงสุด การวางแผนทำประกันสุขภาพแบบทั่วไปด้วยตัวเอง จึงน่าจะยังตอบโจทย์ได้ดีกว่า ดังนั้นแล้ว แบบไหนจะดีกว่า ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละท่านแล้วล่ะครับว่า จะให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรมากกว่ากัน