หลังจากที่เรารู้จักวางแผนบริหารความเสี่ยงทางการเงินให้ตัวเองเรียบร้อยแล้ว และพิจารณาว่า จะใช้การทำประกัน เป็นเครืองมือในการบริหารความเสี่ยงนั้นๆ (ใครยังวางแผนไม่เป็น กลับไปศึกษาได้ที่บทความเหล่านี้ครับ : ประกันชีวิต = "จะซื้อประกันทั้งที ต้องรู้อะไรบ้าง (ตอนที่ 1)" และ "เราควรทำประกันชีวิตเท่าไหร่ ถึงจะพอเหมาะกับตัวเอง" ประกันสุขภาพ = "จะซื้อประกันทั้งที ต้องรู้อะไรบ้าง (ตอนที่ 2)") ปัญหาอย่างหนึ่งที่เราอาจจะเจอตามมาก็คือ เมื่อรู้ว่าต้องทำประกันแล้ว แล้วเราควรจะเลือกทำประกันไหนก่อนดีล่ะ? เพราะมีทั้งประกันชีวิต, ประกันสุขภาพ, ประกันอุบัติเหตุ, ประกันรถยนต์ และประกันอื่นๆ (ถ้าจำเป็นต้องทำ) 

แน่นอนว่า ถ้าวางแผนประกันในแต่ละเรื่อง และคำนวนออกมาแล้วว่าควรจะทำเท่าไหร่ ค่าเบี้ยเป็นเท่าไหร่ และเรามีเงินเพียงพอที่จะจ่ายค่าเบี้ยประกันทุกอย่างได้ทั้งหมด ก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้างบประมาณมีไม่เพียงพอ เราก็คงต้องมา "จัดลำดับความสำคัญ" กันก่อน ว่าควรให้น้ำหนัก หรือความสำคัญกับประกันประเภทไหนก่อนหลัง

ซึ่งในที่นี้ ถ้าใครมีรถ และจำเป็นต้องใช้รถบ่อย ผมอาจจะขอยกความสำคัญให้ประกันรถยนต์มาก่อนเลย (แม้ในความเป็นจริง เราควรจะปกป้องตัวเองก่อนรถก็ตาม) เพราะเป็นความจริงที่ว่าประเทศนี้มีความเสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงเป็นอันดับต้นๆ ไม่ว่าเราจะขับไปชนเขา หรือเขาขับมาชนเรา อย่างน้อยเราควรต้องมีประกันรถยนต์ไว้คุ้มครองค่าเสียหายทั้งตัวเราเอง และผู้อื่นไว้ก่อน (ส่วนจะต้องทำชั้นไหน เท่าไหร่ ก็ไปวางแผนทำประกันรถยนต์ได้ก่อน โดยอ่านจาก บทความ "เทคนิคการซื้อประกันรถยนต์ให้คุ้มค่าสุดๆ")

ส่วนประกันอื่นๆ (เช่น ประกันอัคคีภัย) ก็อาจจะมีความสำคัญรองๆมาเป็นอันดับหลังๆ ต่อจาก ประกันชีวิต, ประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุ ดังนั้น ในบทความนี้จะขอมาจัดอันดับความสำคัญของเฉพาะประกันทั้ง 3 ประเภทนี้ก่อนครับ

ในการพิจารณาลำดับความสำคัญดังกล่าว ผมก็มีแนวทางในการพิจารณาอยู่ 4 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้

1. ดูว่าเรามีสวัสดิการคุ้มครองเรื่องอะไรอยู่แล้วบ้าง

ไปสำรวจ แล้วลิสต์ดูก่อนว่า ตอนนี้ เรามีสวัสดิการอะไรอยู่บ้าง ที่ครอบคลุมเรื่องรักษาพยาบาล, อุบัติเหตุ หรือชีวิต เช่น ประกันสังคม, บัตรทอง, ประกันกลุ่ม หรือประกันอุบัติเหตุจากที่ทำงาน แล้วที่มี มีอยู่เท่าไหร่? ครอบคลุมวงเงินที่จำเป็นสำหรับเรามากน้อยแค่ไหน? กี่เปอร์เซ็น ถ้ายังไม่ครอบคลุม แล้วส่วนที่ขาด ที่ต้องทำเพิ่มแต่ละอย่าง คิดออกมาแล้วเป็นเบี้ยเท่าไหร่ 

เช่น เรามีประกันสังคม และประกันกลุ่ม ที่มีวงเงินค่ารักษาในการผ่าตัดอยู่ปีละ 10,000 บาท ค่าห้อง 2,000 บาท คุ้มครองชีวิตกรณีเสียชีวิต 100,000 บาท แต่เราต้องการนอนโรงพยาบาลค่าห้อง 4,000 บาท วงเงินค่าผ่าตัดประมาณ 500,000 บาท วงเงินคุ้มครองชีวิตประมาณ 3,000,000 ล้าน ทำให้ค่าห้องยังขาดอยู่ 2,000 บาท ไปดูประกันสุขภาพที่ค่าห้อง 2,000 บาท วงเงินค่าผ่าตัด 500,000 บาท เบี้ยอยู่ที่ประมาณ 20,000 บาท และประกันชีวิตยังขาดอยู่อีก 2,900,000 บาท เบี้ยอยู่ที่ประมาณ 60,000 บาท สรุปแล้ว ถ้าเราจะทำประกันเพิ่มให้ครอบคลุม เราต้องจ่ายเพิ่มอีกปีละ 20,000 + 60,000 = 80,000 บาท เป็นต้น  

2. ดูว่าเรามีงบประมาณในการทำประกันทั้งหมดต่อปีอยู่เท่าไหร่

สำรวจกระเป๋าสตางค์เราดูก่อนว่า เราพอจะมีงบในการจ่ายค่าเบี้ยทั้งหมด ต่อปี ประมาณกี่บาท ครอบคลุมส่วนขาดที่เราต้องทำเพิ่มทั้งหมดหรือไม่ ถ้าไม่ครอบคลุม ให้พิจารณาตามข้อ 3.

3. ถ้ามีสวัสดิการอยู่บ้าง ให้เลือกทำประกันที่ไม่มีสวัสดิการ หรือมีสวัสดิการน้อยที่สุดก่อน ไปพร้อมๆกับประกันที่ค่าเบี้ยถูกกว่า (ถ้าทำได้)

เช่น เรามีสวัสดิการ ประกันอุบัติเหตุ ครอบคลุม 50% ของทั้งหมดที่เราจำเป็นต้องมี ประกันสุขภาพ 20% ของทั้งหมด ประกันชีวิต 10% ของทั้งหมด เราอาจจะพิจารณาเลือกทำประกันชีวิตเพิ่มก่อน เพราะตอนนี้ยังขาดอยู่มากที่สุด แต่ถ้างบประมาณที่มี ต่อให้ทุ่มทั้งหมดไปทำประกันชีวิต ก็อาจจะทำได้ครอบคลุมเพิ่มเป็น 60% เราก็อาจจะทำประกันชีวิตให้เพิ่มมาเป็น 50% แล้วเงินที่เหลือ ไปทำประกันอุบัติเหตุที่เบี้ยถูกกว่ามากๆ อาจจะทำให้ประกันอุบัติเหตุครอบคลุมเพิ่มขึ้นมาเป็น 100% เลยก็ได้ แบบนี้ก็จะเป็นการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากกว่า 

4. ถ้าไม่มีสวัสดิการเลย ให้เลือกทำประกันที่เน้นคุ้มครองตัวเองก่อน ในราคาที่น้อยที่สุด

สมมติว่า เรามีเรื่องที่ไม่มีสวัสดิการคุ้มครองอยู่ 2 เรื่อง เช่น ประกันอุบัติเหตุ กับประกันชีวิต ก็ให้เราเลือกทำประกันที่คุ้มครองตัวเราก่อนเป็นหลัก คือประกันอุบัติเหตุ (เพราะเราควรช่วยเหลือตัวเองให้รอดก่อน ก่อนจะไปช่วยเหลือคนอื่น แถมใช้เงินน้อยกว่า เพราะเบี้ยถูกกว่า) และหากประกันชีวิต เราจะทำเพื่อเน้นออม การันตีเงินเป้าหมาย เราก็อาจจะจำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้เครื่องมืออื่น แต่เพิ่มความเสี่ยงเข้ามา เพื่อให้เราบรรลุเป้าหมายได้โดยใช้เงินออมน้อยกว่า เช่น กองทุนรวม เป็นต้น แทนก็ได้ เพราะถ้าเราแบ่งไปทำประกันชีวิตแบบเน้นออมเงิน เราอาจได้การันตีเงินออมก็จริง แต่เราก็จะแทบไม่เหลือเงินไปใช้คุ้มครองความเสี่ยงอย่างอื่นเลย ก็จะเป็นการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพอีก เช่นเดียวกัน

โดยหลักการแล้ว ประกันอุบัติเหตุจะเบี้ยถูกที่สุด (ประมาณ 3,000-5,000 บาท) รองลงมาเป็นประกันสุขภาพ (ตั้งแต่หมื่นต้นๆ ถึงหลายหมื่นต่อปี แล้วแต่อายุ) และแพงที่สุดคือประกันชีวิต (ถ้าจะทำให้ครอบคลุม อาจจะประมาณหลายหมื่น จนถึงหลักแสน) ดังนั้นเวลาเราพิจารณาว่าควรจะเลือกทำประกันอะไรก่อนหลัง ต้องพิจารณาจากทั้ง ส่วนที่ขาด / ค่าเบี้ยที่ต้องจ่ายเพิ่ม / งบประมาณในการจ่ายเบี้ย ทั้ง 3 กรณีไปพร้อมๆกับหลักการ "เน้นคุ้มครองตัวเองก่อน" นั่นเอง ดังนั้นถ้าใครมีงบประมาณน้อย แค่ปีละไม่กี่พัน หรือหลักหมื่นต้นๆ ก็ควรจะเริ่มคุ้มครองตัวเองจากการทำประกันอุบัติเหตุก่อน (ถ้าไม่มีสวัสดิการ) แล้วจึงค่อยพิจารณาทำประกันอื่นๆตามทีหลัง แต่ใครที่มีงบประมาณมากกว่านั้น ก็ต้องพิจารณา จัดสรรการทำประกันแต่ละอย่างให้พอดีๆ เพื่อไม่ให้เน้นทำด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป จนด้านอื่นแทบไม่มีความคุ้มครองเลย นั่นเองครับ

วันนี้ ก็คงขอฝากไว้เพียงเท่านี้ก่อน แต่ถ้าใครอยากจะปรึกษาเพิ่มเติม ก็ส่งหลังไมค์มาปรึกษากันได้ที่ FB Page : วางแผนการเงินกับ Insuranger นะครับ