พระมหากษัตริย์นักออม เดอะซีรีย์ ตอนที่ 4 การประหยัด

 

บทความ พระมหากษัตริย์นักออมเงิน เขียนขึ้นครั้งแรกในปี 2558 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการออมและแนวคิดการใช้เงินของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อมีผู้สนใจอ่านเพิ่มขึ้น เราไปค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม จากอินเตอร์เน็ตและในหนังสือหลายๆเล่ม เพื่อจะได้รวบรวมไว้ให้คนรุ่นหลังได้อ่านและแสดงความรักต่อพระองค์ท่าน ด้วยการลงมือทำตามแนวทางที่พระองค์ท่านสอน ในบทความนี้เป็นตอนที่ 4 มีชื่อว่า การประหยัด จากทั้งหมด 5 ตอน

 

พระมหากษัตริย์นักออมเงิน เดอะซีรีย์จะแบ่งออกเป็น 5 ตอน คือ

  1. สมเด็จย่าทรงสอนวิธีจัดการเงิน คลิกที่นี่
  2. เก็บออมเงินเพื่อซื้อของใช้ส่วนพระองค์ คลิกที่นี่
  3. การสร้างรายได้และการให้ คลิกที่นี่
  4. การประหยัด (บทความนี้)
  5. เงินฉุกเฉินของรัชกาลที่ 3 เงินถุงแดงไถ่บ้านเมือง คลิกที่นี่

 

เราจะแบ่งเขียนออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกจะเป็นเรื่องราวของพระองค์ท่านจากข้อมูลที่ไปค้นคว้ามา จะเขียนไว้ในกรอบพื้นสีเหลือง ส่วนที่สองเป็นวิธีการนำไปใช้ว่าทำอย่างไรบ้าง เพื่อให้พวกเราลองนำมาประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริงนะจ๊ะ

 

ตอนที่ 4 เรื่องการประหยัด

 

พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของการประหยัดได้เป็นอย่างดี เราแบ่งออกได้เป็น  3 เรื่อง คือ

  • เรื่องที่ 1 การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์
  • เรื่องที่ 2 ความเรียบง่าย
  • เรื่องที่ 3 การใช้ของให้คุ้มค่า

 

เรื่องที่ 1 การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์

 

พระมหากษัตริย์นักออม เดอะซีรีย์ ตอนที่ 4 การประหยัด

ภาพช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทรงปั่นจักรยานไปโรงเรียนแทนรถพระที่นั่ง

 

บันทึกเหตุการณ์จากหนังสือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หน้า 160 – 161

 
ชีวิตในสมัยสงครามย่อมแตกต่างจากในยามสันติสุข ปัญหาสำคัญประการแรกที่กระทบกระเทือนชีวิตของคนทุกชั้นทุกประเภทในยามมีศึก คือ ค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาก เนื่องจากการขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ตั้งแต่เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2482 ก่อนเกิดสงคราม ทางการที่โลซานน์ก็ได้ประกาศให้ประชาชนทุคนสำรองอาหารไว้ให้พอกินอยู่ได้ไม่ต่ำกว่า 2 เดือน

เมื่อเกิดสงคราม ทางการเข้าควบคุมให้ปันส่วนอาหารและเครื่องใช้ต่างๆที่จำเป็นและอาจขาดแคลนได้ ประชาชนไม่สามารถใช้เงินซื้อหาอาหารของใช้ในตลาดตามปกติ แต่ต้องมีบัตรปันส่วนไปแลก
ซึ่งทางการจะเป็นผู้กำหนดว่า ครอบครัวหนึ่งๆ ควรได้ปันส่วนอาหารและของใช้เท่าใด เช่น ไข่ ได้เดือนละ 3 ฟองต่อคน เด็กได้บัตรปันส่วนเนื้อและนมมากกว่าผู้ใหญ่ เนื้อวัวและน้ำตาลกลายเป็นของหายาก ส่วนน้ำมันไม่มีใช้เลย

สภาพชีวิตในพระตำหนักวิลล่าวัฒนาระหว่างสงครามไม่ต่างจากครอบครัวชาวสวิสอื่นๆนัก “ตอนสงคราม มีความลำบากเหมือนคนในประเทศนั้น” สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเล่าที่จะแตกต่างอยู่บ้าง คือ ผู้ที่ประทับอยู่ในพระตำหนักวิลล่าวัฒนา คือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศไทยและพระประยูรญาติ
ทางการสวิสจึงถวายความสะดวกเป็นพิเศษในบางเรื่อง เช่น การเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถพระที่นั่ง เพื่อความสะดวกในการเสด็จอพยพถ้าจำเป็น แต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระประยูรญาติมิได้ทรงวางพระองค์ผิดแผกจากชาวสวิสอื่นๆ หรือเรียกร้องสิทธิพิเศษ

ทรงรับบัตรปันส่วนเช่นเดียวกับครอบครัวสวิสอื่นๆ เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปมหาวิทยาลัย ก็เสด็จโดยจักรยานพระที่นั่ง ไม่ใช่ด้วยรถ สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงใช้ขี้เถ้าแทนสบู่ ทรงทำเนย แลแก็บผลไม้มาทำแยมเก็บเอาไว้

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเล่าพระราชทานว่า “(ทูนหม่อมพ่อทรงเล่าว่า) ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ลำบากเหมือนกัน สมเด็จย่าท่านจึงได้มีความพยายาม ระมัดระวัง เป็นแม่บ้านที่ดี” ในระยะนั้น ไม่มีการปันส่วนผลไม้ แต่ก็ไม่มีผลไม้อะไรมากนัก ได้อาศัยผลไม้จากสวนในบริเวณพระตำหนัก เช่น สตรอเบรี แพร์
 
ส่วนผลไม้ตะวันออก เช่น กล้วยและส้ม ขาดแคลน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯทรงเล่าว่า “มีแต่แอปเปิ้ล เป็นของธรรมดาที่สุด แม่ก็พยายามหาสีเขียวสีแดงให้ดูแปลกไป...มีแต่แอปเปิ้ลตลอดศก...หลังสงครามไม่อยากทานแอปเปิ้ลเลย”

 

 

แนวคิดที่สามารถมาประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน

 

เราไม่รู้หรอกว่าช่วงเวลาเลวร้ายนั้นจะเกิดขึ้นช่วงไหน แต่เราควรมีสติและพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าอดีตเราอาจจะมีฐานะร่ำรวย ใช้จ่ายอย่างสุขสบาย อยากได้อะไรก็ใช้เงินซื้อมาครอบครองได้ แต่ตอนนี้ครอบครัวกำลังเจอวิกฤตหนัก หมดตัวแทบล้มละลาย 

 

ถ้าเรายังใช้เงินเหมือนเดิมโดยไม่สนใจปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะไม่อยากเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต ยึดติดกับสถานะทางสังคม รวมถึงยอมรับความยากลำบากไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้นได้จากการสร้างหนี้เพื่อมาใช้จ่าย

 

แต่ถ้าเป็นผู้ที่ยอมรับความจริงและยอมที่จะเปลี่ยนแปลงก็จะปรับวิถีการใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยใช้จ่ายอย่างประหยัด หาแนวทางเพิ่มรายได้เพื่อจะได้ผ่านพ้นวิกฤตที่เลวร้ายนั้นออกมาได้

 

แนวทางการประหยัดและวิธีปรับตัวให้อยู่รอดในช่วงเศรษฐกิจคับขัน

  • ลดรายจ่ายเรื่องการกิน เช่น
    • ลดการดื่มกาแฟราคาแพง
    • ทำอาหารทานเอง
    • ซื้ออาหารช่วงลดราคาในแผนกอาหารสดตอน 2 ทุ่ม
    • ห้ามสั่งอาหารตอนหิวจัด เพราะจะสั่งเยอะจนกินไม่หมด สิ้นเปลืองเงินทอง
  • โทรออนไลน์ประหยัดกว่า
  • วางแผนการเดินทางก่อนออกจากบ้าน 
  • เปลี่ยนโปรโมชั่นมือถือให้เหมาะกับการใช้งานว่าส่วนใหญ่ใช้อินเตอร์เน็ตหรือโทรเข้าออก
  • ไม่ดูสิ่งยั่วยุที่จะทำให้เสียเงิน เช่น ดูเว็ปหรือแอพลดราคาบนมือถือ การเดินในพื้นที่เสี่ยง (เดินผ่านร้านขายของที่แปะป้ายลดราคา)
  • ควรช้อปปิ้งอย่างมีสติ
อภิหารเงินออม

อภิหารเงินออม

GURU aomMONEY ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการออมเงิน การจัดการการเงิน