เชื่อว่าพ่อแม่หลายๆท่านก็อยากจะให้สิ่งที่ดีที่สุดกับเทวดาตัวน้อยของเรา โดยการให้ทุกอย่างตาม ที่เขาอยากได้ เพราะต้องการให้เขามีความสุขที่สุด ในขณะที่บางครอบครัวอาจจะเคยมีฐานะไม่ดีมาก่อน เมื่อทำมาหากินจนร่ำรวยก็ให้ลูกทุกอย่างเพราะไม่อยากให้ลูกลำบากเหมือนตนเองในอดีต 

เราทุ่มเทให้ลูกทุกอย่างจนบางครั้งอาจจะกลายเป็นการทำร้ายเขาทางอ้อมแบบ “พ่อแม่รักแกฉัน” โดยเฉพาะเรื่องเงินที่อาจจะทำให้เขาเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จักคุณค่าของเงินก็ได้ ดังนั้น ก่อนที่จะสายเกินไป เราควรฝึกวินัยให้ลูกตั้งแต่ต้น โดยพ่อแม่ควรทำตัวเป็นแบบอย่างหรือเล่า แบบอย่างที่ดีให้ลูกฟังเพื่อจะได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

ต้นแบบของปวงชนชาวไทยในเรื่องการออมเงิน คือ ในหลวง ซึ่งสมเด็จย่าทรงปลูกฝังในหลวงมาตั้งแต่ยัง ทรงพระเยาว์ คนไทยโชคดีที่มีแบบอย่างที่ดี ซึ่งเราสามารถนำมาเป็นแนวทางปฎิบัติได้ แล้วสิ่งสำคัญ คือ ทำได้จริงอีกด้วย มีแนวคิดการออมอะไรบ้างมาดูกันเลยจ้า (นำข้อมูลบางส่วนมาจากบทความ พระมหากษัตริย์นักออมเงิน https://aommoney.wpenginepowered.com/?p=14069)

 

4 แนวคิดการออมเงินที่ทุกคนทำได้

แนวคิดที่ 1 รู้วิธีบริหารเงินจากเงินค่าขนม

“ในหลวงได้เงินค่าขนมสัปดาห์ละครั้ง”

บางครั้งผู้ปกครองให้ค่าขนมไปโรงเรียนทุกวัน เด็กก็อาจจะใช้หมดเพราะรู้ว่าวันพรุ่งนี้ก็ต้องได้ค่าขนมอยู่ดี ซึ่งวิธีการได้รับเงินสัปดาห์ละครั้งนี้เป็นการฝึกวิธีใช้เงินเบื้องต้น เพื่อให้เด็กรู้จักวิธีแบ่งใช้เงินที่ทำให้ตนเอง มีเงินใช้ตลอดสัปดาห์

ในระยะยาวจะเป็นการฝึกวิธีบริหารเงินในช่วงวัยทำงานด้วย เพราะเราทำงานได้เงินเดือนละ 1 ครั้ง ช่วงสิ้นเดือน หากจัดการอย่างเหมาะสมเราก็จะมีเงินออมเก็บไว้ใช้ตลอดชีวิต แต่ถ้าหากมีความสุข กับการใช้เงินโดยใช้หมดตั้งแต่วันแรกๆ ช่วงสิ้นเดือนก็จะลำบาก รวมทั้งมีความเสี่ยงที่จะก่อหนี้ เพื่อการบริโภค จนกลายเป็นปัญหาหนี้สินท่วมหัวต่อไปในอนาคต #จากค่าขนมส่งผลกระทบต่อ หนี้สินได้กันเลยทีเดียว

ดังนั้น ควรเปลี่ยนวิธีให้เงินค่าขนมจากรายวันเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน เพื่อให้เด็กรู้จักวิธีแบ่งใช้เงิน หากต้องการขอพิเศษเพิ่มก็ต้องนั่งคุยกัน เช่น ทำไมเงินถึงหมดเร็ว นำเงินพิเศษไปใช้อะไร ซึ่งเป็นโอกาส ที่ดีที่จะได้สอนถึงความจำเป็นของสิ่งที่จะซื้อเพิ่มเติมด้วย

 

แนวคิดที่ 2 เก็บสะสมเงินซื้อของเอง

ซื้อหนังสือหรือของเล่นซึ่งของพวกนี้ต้องซื้อเอง
เพราะของเล่นนั้นส่วนมากแล้วแม่(สมเด็จย่า)จะไม่ได้ซื้อให้”

ผู้ปกครองอยากให้ลูกมีความสุข ก็ซื้อของเล่นให้ลูกทุกอย่างตามที่เขาอยากได้ แล้วมันก็เป็นความสุข เพียงชั่วคราว ลูกเล่นไม่กี่ครั้งก็เบื่อ เลิกเล่น แล้วก็ซื้อของเล่นชิ้นใหม่ เมื่ออะไรที่ได้มาอย่างง่าย มันก็จะถูกทิ้งไปง่ายๆเช่นกัน

การให้ลูกเก็บสะสมเงินเพื่อซื้อของเล่นเองจะทำให้เขารู้สึกมีส่วนร่วมกับของเล่น ว่ากว่าจะได้ของเล่นมา แต่ละชิ้นนั้นยากมาก กว่าจะสะสมเงินครบก็ใช้เวลานาน เมื่อใช้เวลารอคอยที่นานมากก็จะเล่นอย่าง ทะนุถนอม

การสร้างนิสัยสะสมเงินก่อนซื้อของนั้น จะเป็นการปลูกฝังแนวความคิดว่าควรซื้อของเมื่อตนเองพร้อม ไม่ใช่การก่อหนี้เพื่อซื้อสิ่งของด้วยอารมณ์อยากได้ โดยใช้บัตรเครดิตที่เป็นการนำเงินในอนาคตมาใช้

 

แนวคิดที่ 3  ให้ของขวัญพิเศษในวันพิเศษ

“ในวันปีใหม่และวันเกิด จะได้ของเล่นที่สำคัญและใหญ่โต
เราอยากได้อะไรก็ขอไป บอกว่าอยากได้ของเล่นพวกนี้
ท่าน(สมเด็จย่า)ก็บอกว่าถึงวันเกิดจะซื้อให้ จะไม่ซื้อพร่ำเพรื่อ

เมื่อทำสำเร็จก็ได้รับรางวัล หรือช่วงเวลาพิเศษก็ได้ของพิเศษ เพื่อให้เด็กรู้ถึงการรอคอยแล้วเห็นคุณค่า ของขวัญนั้นๆ วันพิเศษ เช่น วันปีใหม่ วันเกิด วันจบการศึกษา เป็นต้น ไม่ควรให้ของขวัญพิเศษบ่อยๆ เพราะจะทำให้วันพิเศษกลายเป็นวันธรรมดาไม่มีความสำคัญ

 

แนวคิดที่ 4 การให้ไม่สิ้นสุด

ทรงได้รับการอบรมให้รู้จัก "การให้" โดยสมเด็จย่า
จะทรงตั้งกระป๋องออมสินเรียกว่า "กระป๋องคนจน"
หากทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องถูก "เก็บภาษี"
หยอดใส่กระปุกนี้ 10% ทุกสิ้นเดือนสมเด็จย่าจะเรียกประชุมเพื่อถามว่า
จะเอาเงินในกระป๋องนี้ไปทำ อะไร เช่น มอบให้โรงเรียนตาบอด
มอบให้เด็กกำพร้า หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน

 

เมื่อสังคมมีผู้รับก็ต้องมีผู้ให้ การสอนเด็กให้รู้จักการให้นั้นจะทำให้เด็กมีจิตใจอ่อนโยน เสียสละ เห็นใจผู้อื่น รู้คุณค่าของสิ่งที่ได้รับ เพื่อที่จะได้เติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบสังคมต่อไป การที่ให้เด็กไป บริจาคด้วยตนเองนั้นจะทำให้เขารู้ว่ายังมีคนอีกมากที่ต้องการความช่วยเหลือ รวมถึงเห็นคุณค่า ของสิ่งที่ตนเองมีอยู่และรักษามันไว้ให้ดีที่สุด

ปลูกฝังให้ลูกเป็นคนรักการออม

 

แนวคำสอนของสมเด็จย่าเพื่อสร้างพระมหากษัตริย์นักออมนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากๆ เรื่องราวเหล่านี้ ได้ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าทำได้จริง ซึ่งปวงชนชาวไทยสามารถนำไปเป็นแนวทางปฎิบัติในชีวิตประจำวัน ได้เป็นอย่างดี เพื่อสร้างอนาคตให้ลูกหลานมีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรงต่อไป

 

เรารักในหลวงด้วย “การลงมือทำ” กันนะจ๊ะ

 

 

 

ปลูกฝังให้ลูกเป็นคนรักการออม