ถ้ามีเงินก้อนจะเอาไปทำอะไรดี” มันเป็นคำถามยอดฮิตที่เราเจอบ่อยๆตอนที่ไปให้คำปรึกษาทางการเงิน ที่บูธ Aommoney ในงานมหกรรมการเงิน SET in the City ที่พารากอน วันนั้นทีมงานไปโปรโมท www.aommoney.com พร้อมกับนักเขียนมาให้คำปรึกษาทางด้านการเงินฟรี ซึ่งแต่ละคนมีความชำนาญเฉพาะทาง เช่น การออม กองทุนรวม การจัดพอร์ตลงทุน ประกันชีวิต ภาษี ฯลฯ ก็จะให้คำปรึกษาที่แตกต่างกัน

 

ภาพนี้เป็นหน้าตาบูธของเรานะจ๊ะ ^^

ถ้ามีเงินก้อนจะเอาไปทำอะไรดี

 

หลังจากได้พูดคุยเรื่องการเงินไปเรื่อยๆ ก็พบว่าแต่ละคนมีปัญหาคล้ายๆกัน เราคิดว่าน่าจะทำสรุปไว้ในบทความเพื่อให้คนอื่นๆได้อ่านเป็นแนวทางไปประยุกต์ใช้กับชีวิตของตัวเอง จากคำถามแรกที่ถูกถามบ่อย คือ  “มีเงินก้อนหนึ่งเอาไปทำอะไรดี” กันก่อนนะจ๊ะ

 

ทุกครั้งที่เราเจอคำถามนี้ก็จะถามกลับไปว่า ตอนนี้เขาเก็บเงินแบบไหนบ้าง ส่วนใหญ่ที่เจอจะมี 2 คำตอบ คือ

คำตอบแรก : เก็บไว้ที่ฝากออมทรัพย์ไว้เฉยๆ ยังไม่รู้จะจัดการยังไง

คำตอบที่สอง : เก็บเงินไว้หลายที่ จนเกือบจำไม่ได้ว่ามีอะไรเท่าไหร่บ้าง เช่น ซื้อกองทุนรวมไว้หลายกอง มีประกันชีวิตหลายกรมธรรม์ เป็นต้น

 

เอาล่ะ ลองตอบคำถามตัวเองว่าตอนนี้เงินของเราเก็บแบบไหนบ้างแล้วค่อยอ่านวิธีเอาไปใช้ แนวคิดทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องทำตามเป๊ะๆ เพราะแต่ละคนแตกต่างกัน ควรปรับวิธีการให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง เพื่อให้บทความไม่ยาวจนเกินไป เราจะเขียนแยกออกเป็น 2 บทความ คือ

 

เริ่มเลยยยย...

 ถ้ามีเงินก้อนจะเอาไปทำอะไรดี


เราจะใช้ภาพ “แผนที่การเงิน” นี้ในการอธิบายที่มาที่ไปเกี่ยวกับเงินในกระเป๋าของเรา ถ้าวาดภาพตามได้จะดีมากๆเพราะจะทำให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้น แล้วเราจะรู้ว่า…

  • เงินออมอยู่ที่ไหนมีเท่าไหร่บ้าง : ระยะสั้น กลาง ยาว 
  • เรามีหนี้สินระยะสั้นและระยะยาวเท่าไหร่ : ถ้ารวมกันแล้วเกิน 40% ของรายได้ ก็อาจจะต้องระมัดระวังการสร้างหนี้ก้อนต่อไปมากขึ้น
  • รายจ่ายส่วนตัวมีเท่าไหร่ : ค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน

 

คำถาม : มีเงินก้อนหนึ่งเอาไปทำอะไรดี?  

ถ้าเราวาดเสร็จแล้วมาดูคำตอบกันได้เลยจ้า

 

3 ทางเลือกของการใช้เงินก้อน

 

ถ้าเรามีเงินก้อนใหม่เข้ามา ในขณะที่เราฝากออมทรัพย์ไว้เฉยๆ เพราะไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปเก็บไว้ที่ไหนดี ลองมาดู 3 ทางเลือกนี้เป็นแนวทางนะจ๊ะ

 

ทางเลือกที่ 1  เก็บเงินฉุกเฉิน!!

 

เราซ้อมหนีไฟทุกปีทั้งที่ไม่เคยเกิดไฟไหม้จริงๆ แต่มันจำเป็นที่จะต้องซ้อมไว้ เผื่อเกิดเหตุขึ้นจริงๆจะได้รู้ว่าตนเองต้องทำตัวอย่างไร เพื่อจะได้รอดพ้นจากไฟไหม้ออกมาได้อย่างปลอดภัย

 

เรื่องการเงินก็เหมือนกัน เราจะต้องมีแผนหนีไฟเป็นของตัวเอง โดยเก็บเงินฉุกเฉินไว้ใช้จ่ายช่วงวิกฤต เช่น ตกงาน เจ็บป่วย อุบัติเหตุ รถเสีย ไฟไหม้บ้าน น้ำท่วม ฯลฯ ซึ่งเงินฉุกเฉินจะช่วยต่อลมหายใจให้เราผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากของชีวิตออกมาได้

 

สมมติว่าถ้ารายได้จากงานประจำหรือฟรีแลนซ์หายวับไป (เช่น ตกงานหรือลูกค้าจ่ายเงินล่าช้า) ในขณะที่เรามีรายจ่ายเกิดขึ้นทุกวัน ทั้งค่ากิน ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ฯลฯ รวมถึงหนี้สินที่ต้องจ่ายทุกเดือน

 

เมื่อเงินไม่เข้ากระเป๋า มันมีแต่จ่ายออกทุกวันๆ แล้วถ้าไม่มีเงินออมเก็บไว้เลย นอกจากจะเครียดเพราะงานหายากและได้รับเงินล่าช้าแล้ว ยังจะเหนื่อยใจซ้ำซ้อนเพราะไม่มีเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอีกด้วย บางคนหาทางออกไม่ได้ก็ไปกู้เพื่อยืมเงินมาใช้จ่าย สุดท้ายก็มีหนี้สินรุงรังตามมาอีกด้วย บรื๊ยยย!!

 

ถ้าเราไม่อยากไปถึงจุดที่หนี้สินผูกพันติดตามไปถึงภพหน้า ควรกลับไปดูภาพที่เราวาดเสร็จไปเมื่อกี้นี้ ว่าแต่ละเดือนเรามีรายจ่าย “หนี้สินและรายจ่ายส่วนตัว” เท่าไหร่ เอามาคูณ 3 หรือ 6 ก็จะเป็นจำนวนเงินฉุกเฉินที่เราควรเก็บไว้ มีทางเลือกเก็บเงินฉุกเฉินแบบไหนบ้าง อ่านได้ที่บทความใต้รูปนี้นะจ๊ะ

 

ตัวอย่าง เรามีรายจ่ายเดือนละ 10,000 บาท ควรมีเงินฉุกเฉินไว้ 30,000 - 60,000  บาท  ถ้าเกิดเหตุเร่งด่วนที่ต้องรีบใช้เงิน จะได้หยิบเงินก้อนนี้มาใช้ก่อนได้ ที่สำคัญ คือ ไม่เสียดอกเบี้ยด้วยนะจ๊ะ

 


ถ้ามีเงินก้อนจะเอาไปทำอะไรดี

3 ทางเลือกสร้างเงินฉุกเฉินขั้นเทพ คลิกที่นี่

 

 

ทางเลือกที่ 2 คือ เก็บเงินตามความฝัน

 

อยากเรียนต่อ

อยากเก็บเงินดาวน์บ้าน

อยากเก็บเงินดาวน์รถ

อยากมีธุรกิจเล็กๆเป็นของตัวเอง

อยาก….

 

ถ้าเรารู้ว่าตัวเองมีความฝันหรือเป้าหมายว่าอยากจะทำอะไรแล้ว ก็จะรู้ว่าเราควรจัดการกับเงินก้อนนี้อย่างไร จากตัวอย่างข้างบนจะเห็นว่าสิ่งที่เราอยากได้นั้นต้องใช้เงินจำนวนมาก เมื่อเรามีเงินไม่พอก็จำเป็นจะต้องสร้างหนี้ สิ่งสำคัญ คือ ไม่ควรสร้างหนี้ก้อนใหญ่หลายๆก้อนพร้อมกันและควรควบคุมหนี้ไม่ให้เกิน 40% ของรายได้ เพราะถ้าเกินกว่านี้หนี้สินมันจะกลายเป็นภาระหนักมาก

 

ถ้าในอนาคตเราจำเป็นจะต้องมีหนี้สินจริงๆและอยากรู้ว่าตัวเองจะผ่อนไหวมั๊ย  ทางที่ดีเราควรซ้อมเป็นหนี้ปลอมตั้งแต่ตอนนี้กันดีมั๊ย ด้วยการทดลองออมเงิน 1 ปี เราจะได้เคยชินและปรับรูปแบบการใช้ชีวิตให้เข้ากับเงินที่เหลืออยู่ เมื่อเกิดความมั่นใจว่าจะสร้างหนี้ได้แล้ว จึงตัดสินใจซื้อและเป็นหนี้จริงๆ

 

ควรซ้อมออมเงินก่อนสร้างหนี้จริงในที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ เพราะเงินต้นของเราจะได้อยู่รอดปลอดภัย เช่น ออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง  ฝากประจำ กองทุนรวมตลาดเงิน แล้วเงินที่เราซ้อมเป็นหนี้นี้จะกลายเป็นเงินตั้งต้นทำตามความฝันของเราต่อไป เช่น เงินเริ่มต้นเรียนต่อหรือทำธุรกิจ เงินดาวน์บ้าน เงินดาวน์รถ

 

ข้อควรระวัง คือ ไม่ควรเก็บเงินก้อนนี้ไว้ในที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ซื้อหุ้นรายตัว เก็งกำไรอนุพันธ์ แม้ว่าจะได้รับผลตอบแทนสูง แต่ถ้าช่วงที่เราจะใช้เงินนั้นขาดทุนพอดี เงินต้นของเราก็จะลดลงหรือหายไปหมดได้เลยนะจ๊ะ สุดท้ายเป้าหมายที่คิดไว้ก็จะหายไปด้วย

 

 

ทางเลือกที่ 3 จัดการหนี้สิน 

 

หลายคนกำลังผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือว่าเริ่มทำธุรกิจส่วนตัว ก็จะมีหนี้สินที่ต้องจ่ายทุกเดือนๆ เมื่อได้รับเงินก้อนใหม่เข้ามาควรแบ่งไปชำระหนี้ เพื่อให้หนี้ิสินเบาลง แต่อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน การเกิด แก่ เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดา

 

อยากให้ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าเราเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่จะต้องหาเลี้ยงทุกคนในบ้าน แต่กลับต้องเสียชีวิตหรือพิการขาดรายได้ ใคร!! จะมาดูแลรายจ่ายและชำระหนี้สินที่เหลืออยู่แทนเรา

 

ถ้าไม่มี….ภาระหนี้สินทั้งหมดจะตกอยู่กับคนที่เรารัก!!

 

“การทำประกันชีวิต” นั้นเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้หนี้สินไม่ตกเป็นภาระให้กับคนที่เรารัก  สมมติว่าเราผ่อนบ้านมาหลายปีและซื้อประกันชีวิตไว้ด้วย

  • ถ้าเรามีชีวิตอยู่ก็จะจ่ายหนี้บ้านได้ครบถ้วน และยังได้รับเงินก้อนจากประกันชีวิตอีกด้วย
  • ถ้าเสียชีวิตกระทันหัน แม้ว่าเรายังผ่อนบ้านไม่หมด ก็ยังมีเงินที่เราซื้อประกันชีวิตไว้มาช่วยปลดหนี้ได้

 

สรุปว่า…

 

คำแนะนำบางส่วนในวันที่ให้คำปรึกษาเราได้สรุปลงในบทความนี้แล้ว สำหรับคนที่ฝากออมทรัพย์อย่างเดียว มีทางเลือกของการใช้เงินก้อน เช่น เก็บเป็นเงินฉุกเฉิน เก็บเงินตามความฝันและจัดการหนี้สินไม่ควรทิ้งภาระหนี้ิสินให้คนที่เรารักเดือดร้อน ซึ่งเป็นแนวทางเบื้องต้นเท่านั้น เพราะยังมีทางเลือกใช้เงินอีกมากมายที่ทำให้เงินก้อนเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนหุ้น กองทุนรวม บ้านให้เช่า ฯลฯ ที่เราจะต้องค่อยๆศึกษารายละเอียดให้เข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุนนะจ๊ะ