"ซื้อประกันสุขภาพแล้ว แต่ทำไมต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่ม"

 

ในขณะที่เราสไลด์หน้า Facebook ดูความเคลื่อนไหวของเพื่อนๆ ว่าวันหยุดนี้แต่ละคนกำลังทำอะไรบ้าง เลื่อนไปเรื่อยๆ ก็สะดุดกับภาพเพื่อนสาวนักขายอสังหาฯมือทอง โพสต์ภาพตนเองใส่ชุดผู้ป่วยของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง พร้อมกับบอกราคาค่าตรวจครั้งนี้ 9,000 บาท และต้องเตรียมเงินอีก 88,000 บาทเป็นค่าผ่าตัดในสัปดาห์ต่อไปด้วย #ปาดเหงื่อ

 

เมื่อถึงเวลาต้องตัดสินใจ…

เพื่อนคนนี้ทนกับอาการปวดขาเพราะเส้นเลือดขอดมา 10 กว่าปี เพราะไม่อยากผ่าตัดและ จ่ายค่ารักษาพยาบาลแพงๆ ก่อนหน้านี้เคยฉีดยารักษามาบ้าง แต่มันก็ยังไม่หาย เพราะงานที่ทำต้องเดินและยืนคุยกับลูกค้าตลอดเวลา ตอนนี้ทนปวดขาต่อไปไม่ไหวแล้ว เพื่อนก็ต้องยอมเสียเงินเพื่อรักษาตัวเอง #ปาดน้ำตา

 

จ่ายเงินเองเท่าไหร่

การรักษาผ่านไปด้วยดี แต่ที่ตื่นเต้นกว่านั้น คือ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เพื่อนต้องมานั่งลุ้นว่าประกันสุขภาพที่ทำพ่วงกับประกันชีวิตไว้ มันจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดหรือต้องเสียเงินเองเพิ่มขึ้น

หลังจากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสิทธิ์ทุกอย่างครบแล้ว สรุปว่าค่าผ่าตัด 88,000 บาท สามารถส่งเคลมประกันที่ประกันสังคมและประกันกลุ่มของบริษัทได้ทั้งหมด #เหมือนฟ้ามาโปรดจริงๆ

 

จากเรื่องของเพื่อนก็ทำให้คิดต่อไปว่า ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับ...

  • คนที่ไม่มีประกันสังคม ไม่มีประกันกลุ่มของบริษัท ไม่มีประกันสุขภาพ หรือคนที่เป็นข้าราชการ แล้วสามารถเบิกค่าใช้จ่ายนั้นกับหน่วยงานต้นสังกัดได้เพียงบางส่วน มันอาจจะทำให้เขาต้องดึงเงินเก็บออกมาจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล ถ้าไม่พอก็อาจจะต้องไปกู้ยืมเงินมาจ่ายค่ารักษาก็ได้
  • คนที่ทำประกันชีวิตพ่วงด้วยประกันสุขภาพ จ่ายเบี้ยรายปีสูงๆ แล้วคิดว่าจะคุ้มครองครอบจักรวาล แต่พอสรุปค่าใช้จ่ายในการรักษาออกมาแล้วยังต้องจ่ายเงินเพิ่ม เพราะแพ็กเกจประกันสุขภาพที่ซื้อไว้มันเบิกได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด
  • คนที่ซื้อประกันสุขภาพ แบบแยกซื้อความคุ้มครองเป็นส่วนๆ เช่น ค่าห้อง ค่าผ่าตัด ค่ายา ค่าเครื่องมือแพทย์ ฯลฯ เวลาใช้บริการแต่ละครั้งก็จะต้องมาเปิดอ่านกรมธรรม์หรือสอบถามตัวแทนว่า ประกันสุขภาพที่ทำไว้ มันครอบคลุมการเจ็บป่วยครั้งนี้หรือไม่ มีเพดานค่าใช้จ่ายสูงสุดไว้เท่าไหร่ จะได้พยายามไม่ให้เกินกว่านั้นเพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม

 

 

ประกันสุขภาพจำเป็นหรือไม่

จากการผ่าตัดเส้นเลือดขอดของเพื่อน หลายคนอาจจะมองว่า “โชคดีจังที่ไม่ต้องจ่ายเงินเอง” ทั้งที่จริงแล้วความโชคดีนั้นมาจากระบบประกันที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ไม่มีใครอยากทำประกันสุขภาพให้คุ้มค่าด้วยการเจ็บป่วยบ่อยๆ แต่เราทำเพื่อป้องกันความเสี่ยงให้กับสุขภาพตนเองและซื้อความสบายใจกับสิ่งที่ไม่แน่นอนในอนาคต ด้วยเบี้ยประกันภัยที่เราสามารถจ่ายได้

 

ทำประกันสุขภาพแบบไหนถึงคุ้มค่า

กรณีที่ 1 ผู้เริ่มทำประกันสุขภาพ

เมื่อเรารู้แล้วว่าประกันสุขภาพสามารถลดความไม่แน่นอนของค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลให้เราได้  ต่อไปก็จะเป็นการเลือกแบบประกันสุขภาพที่เหมาะสมกับตนเอง แต่ไม่รู้ว่าจะเลือกอย่างไร เพราะมีแบบประกันให้เลือกเต็มไปหมด ซึ่งประกันสุขภาพจะมีทั้งแบบแยกประเภทค่าใช้จ่ายและแบบเหมาจ่าย แตกต่างกันอย่างไรดูได้ในตารางข้างล่าง

ตัวอย่างเปรียบเทียบประกันสุขภาพแบบแยกประเภทค่าใช้จ่าย กับ แบบเหมาจ่าย

"ซื้อประกันสุขภาพแล้ว แต่ทำไมต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่ม"

จากตารางเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น เพื่อต้องการเปรียบเทียบความแตกต่างของประกันสุขภาพ แบบแยกประเภทค่าใช้จ่ายกับแบบเหมาจ่าย เราจะเห็นว่า “แบบเหมาจ่าย” นั้นมีความยืดหยุ่นมากกว่า

ตัวอย่าง ลูกค้าเพศชาย อายุ 35 ปี เข้ารักษาที่โรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน

  • นาย A ทำประกันสุขภาพแยกประเภทค่าใช้จ่าย ค่าเบี้ยประกันภัย 10,xxx บาท/ปี เป็นแบบแยกประเภทค่าใช้จ่าย ถ้าเข้ารับการรักษา ค่ารักษาพยาบาลอื่นๆเกิน 40,000 บาทต่อครั้ง หรือ ค่าผ่าตัด และหัตถการเกิน 100,000 บาทต่อครั้ง ลูกค้าต้องจ่ายเงินเพิ่ม
  • นาย B ทำประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย วงเงินคุ้มครองสูงสุด 2,000,000 บาท ค่าเบี้ยประกัน 17,xxx บาท/ปี หากเข้ารับการรักษา ถ้าหักค่าใช้จ่ายที่คุ้มครองต่างๆ แล้วเกินวงเงิน 2,000,000 บาทต่อปี หรือมีค่าแพทย์เยี่ยมไข้ ค่าห้อง ค่ายากลับบ้าน เกินกำหนดตามแผนความคุ้มครองที่เลือก จึงจะต้องจ่ายเงินเพิ่ม

 

กรณีที่ 2 ผู้ที่มีประกันสุขภาพ ประกันสังคม ประกันกลุ่มของบริษัท ข้าราชการ

แม้ว่าจะเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ แต่อาจจะมีบางรายการยังไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะค่าเอ็กซเรย์ และแล็บ ก่อนเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่จะต้องเฝ้าระวัง โดยให้คุณหมอตรวจอาการป่วยเป็นระยะๆ  จนกระทั่งเข้าพักรักษาตัวและวันที่ออกจากโรงพยาบาลมาพักฟื้นที่บ้าน คุณหมอก็จะต้องให้เอ็กซเรย์ หรือตรวจแล็บ เพื่อ ติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง 

ประกันสุขภาพแบบเดิม และสวัสดิการสุขภาพที่ได้รับอาจจะเบิกค่าใช้จ่ายได้ในวงจำกัดหรือบางครั้งอาจจะเบิกไม่ได้ สุดท้ายภาระหนักจะตกอยู่กับผู้ป่วยที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนเกินนี้เอง แต่ถ้าไม่อยากมานั่งลุ้นว่าจะมีค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มเท่าไหร่ อาจจะทำเป็น “ประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย” ที่จะทำให้ชีวิตของเรายืดหยุ่นมากขึ้น

ตัวอย่าง : จากตารางช่อง “รักษาพยาบาล ก่อนเข้า ร.พ.”

"ซื้อประกันสุขภาพแล้ว แต่ทำไมต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่ม"

ดังนั้น เราควรตรวจดูสิทธิประโยชน์จากประกันของเดิมหรือสวัสดิการสุขภาพที่ได้รับว่ายังขาดอะไรบ้าง แล้วค่อยซื้อประกันสุขภาพแบบใหม่เพิ่มเข้าไปให้ครอบคลุมมากขึ้น เพราะในหลายๆครั้งที่คนมักสับสนว่าทำไม ซื้อประกันสุขภาพแล้ว แต่ทำไมต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่ม นั่นก็เพราะว่าเราอาจซื้อประกันสุขภาพแล้วค่ารักษาพยาบาลส่วนนั้นๆอาจเกินวงเงินต่อรายการที่เรามีจำกัดนั่นเอง