เรารักในหลวงไหม?

เชื่อว่าหลายคนตอบว่า “รักพระองค์ท่านมาก”

แล้วพวกเรารักพระองค์ท่านกันแบบไหน?

 

“เราแสดงความรักด้วยการพูด การแชร์หน้า Facebook หรือการลงมือทำ

 

บทความนี้อภินิหารเงินออมเขียนออกมาจากใจของประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่ต้องการให้คนทั่วไป หันมาให้ความสำคัญเรื่องการรักษาและรู้จักวิธีจัดการเงินในกระเป๋ามากขึ้น แม้เพียงหยิบมือหนึ่งก็ยังดี โดยนำแนวคิดและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารการเงินของพระองค์ท่านเป็นแบบอย่างเพื่อให้ผู้อ่านได้นำไปปฏิบัติตาม (หากมีคำราชาศัพท์คำใดใช้ไม่ถูกต้อง ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย รบกวนเมล์มาแจ้งให้ทราบแล้ว เราจะแก้ไขทันทีค่ะ)

เรารวบรวมข้อมูลจากค้นคว้าหนังสือที่หอสมุดแห่งชาติ รวมทั้งข้อมูลในเว็บไซด์ต่างๆเพื่อเขียนเป็นบทความ "พระมหากษัตริย์นักออมเงิน" โดยเริ่มเรื่องที่พระจริยวัตรของพระรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 9 แล้วสรุปเป็นแนวคิดการเงินในส่วนท้าย

 

5 เรื่องของพระมหากษัตริย์นักออมเงิน

 

เรื่องที่ 1 สมเด็จย่าทรงสอนวิธีจัดการเงิน

 

เรื่องเงินเป็นเรื่องที่ต้องสอนและได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งสมเด็จย่ามีวิธีการสอนอย่างไร เพื่อให้เป็นพระมหากษัตริย์นักออมเงิน ข้อมูลนี้เราไปอ่านเจอในหนังสือแล้วพิมพ์คัดลอกออกมา ชื่อหนังสือ“สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีกับการพัฒนาคุณภาพประชากร” สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงพระกรุณาประทานพระดำรัช

ข้อความในหนังสือ

 
 
"ในการประหยัดนั้นก็ได้จัดให้มีเงินค่าขนมหรือพอกเก็ตมันนี่ ท่านเองเคยได้รับสัปดาห์ละครั้งและเดือนละครั้ง ท่านสังเกตแล้วว่าสัปดาห์ละครั้งดีกว่ามาก เพราะว่าเดือนละครั้งขาดทุนได้น้อยกว่าต่อปี (1) (ผู้ฟังหัวเราะ) ท่านก็เลยมาให้ลูกๆท่านสัปดาห์ละครั้งตามอายุและก็ได้ไม่มากนัก  พอที่จะซื้อขนมพวกลูกหวาดหรือช็อคโกแลต แต่อาจจะซื้อหนังสือหรือของเล่นซึ่งของพวกนี้ต้องซื้อเองเพราะของเล่นนั้น ส่วนมากแล้วแม่จะไม่ได้ซื้อให้ เว้นแต่ปีละ 2 ครั้ง คือ ในวันปีใหม่และวันเกิด จะได้ของเล่นที่สำคัญและใหญ่โต เราอยากได้อะไรก็ขอไป บอกว่าอยากได้ของเล่นพวกนี้ท่านก็บอกว่าถึงวันเกิดจะซื้อให้ จะไม่ซื้อพร่ำเพรื่อ แต่ของเล็กๆน้อยๆนั้น เราจะต้องซื้อเองและท่านก็สอนให้เอาเงินไปฝากธนาคาร เมื่อมีจำนวนพอแล้ว"
(1) สมัยที่แม่ได้รับทุนของสมเด็จพระพันวัสสาฯ ไปเรียนที่สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2460 และพักอยู่กับครอบครัวอดัมเสน (Adamsen) ที่เมืองเบอร์คลี่ (Berkeley) แม่ควรได้รับเงินค่าใช้จ่ายส่วนตัวสัปดาห์ละ 1 เหรียญ แต่มิสซิสอดัมเสน ให้แม่ 4 เหรียญต่อเดือน ปีหนึ่งแม่จึงได้ 48 เหรียญ หากแม่ได้รับสัปดาห์ละเหรียญ แม่จะได้รับปีละ 52 เหรียญ จึงทำให้ขาดทุนไปปีละ 4 เหรียญ

 

แนวคิดการเงิน

วิธีการสอนของสมเด็จย่าเพื่อสร้างพระมหากษัตริย์นักออมเงินนั้น เป็นวิธีที่แต่ละครอบครัวควรน้อมนำไปปฏิบัติตามอย่างยิ่ง เพราะเป็นแนวทางที่เราเห็นแล้วว่าเป็นประโยชน์และทำได้จริง แนวคิดที่เราได้จากเรื่องนี้ คือ

  • เรื่องการให้เงินรายเดือนหรือรายสัปดาห์

“ในหลวงได้เงินค่าขนมสัปดาห์ละครั้ง” 

วิธีการให้เงินนั้นสำคัญ บางครอบครัวเด็กโตแล้วยังให้เงินเป็นรายวัน ทำให้เด็กไม่รู้จักวิธีแบ่งเงินไว้ใช้เพราะรู้ว่าพรุ่งก็ได้เงิน ไม่ต้องรอนาน หากเปลี่ยนวิธีการให้เงินเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน เด็กจะรู้ว่าตนเองควรมีวิธีใช้เงินอย่างไร เพื่อให้มีเงินเหลือหรือเพียงพอใช้ก่อนที่จะได้รับเงินรอบใหม่

 

  • เรื่องการเก็บเงินสะสมซื้อของเล่นเอง

“ซื้อหนังสือหรือของเล่นซึ่งของพวกนี้ต้องซื้อเอง 

เพราะของเล่นนั้นส่วนมากแล้วแม่จะไม่ได้ซื้อให้”

เด็กกับของเล่นนั้นเป็นของคู่กัน เวลาเด็กอยากได้อะไรก็ร้องบอกให้ผู้ปกครองซื้อให้จนบางครั้งทำให้เด็กเสียนิสัย ติดวิธีการได้ของเล่นมาง่ายๆ แล้วก็ทิ้งไปง่ายๆเช่นกัน เมื่อสมเด็จย่าไม่ซื้อของเล่นให้พระองค์ก็ต้องสะสมเงินซื้อเองหรือประดิษฐ์ของเล่นเองจากสิ่งของที่มีอยู่รอบตัว ทำให้มีความคิดต่อยอดออกไปเรื่อยๆ จึงกระทั่งกลายเป็น "กษัตริย์นักประดิษฐ์" อีกด้วย

 

  • เรื่องการให้ของขวัญในวันพิเศษ

“ในวันปีใหม่และวันเกิด จะได้ของเล่นที่สำคัญและใหญ่โต เราอยากได้อะไรก็ขอไป บอกว่าอยากได้ของเล่นพวกนี้ ท่านก็บอกว่าถึงวันเกิดจะซื้อให้ จะไม่ซื้อพร่ำเพรื่อ”

การให้ของขวัญพิเศษไม่ควรให้พร่ำเพรื่อ เพื่อฝึกความอดทน ให้เด็กเกิดการรอคอยและเห็นคุณค่าของขวัญที่ได้รับ ดังนั้น ควรเลือกให้ของขวัญในวันพิเศษจริงๆ เท่านั้น อาจจะเป็นช่วงปีใหม่และวันเกิดก็ได้ ไม่ควรตามใจเด็กโดยการซื้อของขวัญให้บ่อยมากเกินไปจนเหมือนทุกวันเป็นวันพิเศษ

 

  • สอนให้ฝากเงินในธนาคาร

“ท่านก็สอนให้เอาเงินไปฝากธนาคาร เมื่อมีจำนวนพอแล้ว”

เมื่อเก็บเงินได้ส่วนหนึ่งแล้วก็ต้องนำไปหาที่เก็บรักษาเงินเพื่อให้เงินเติบโต เพื่อฝึกให้เด็กทำเป็นนิสัย ซึ่งสมัยก่อนอาจจะเป็นการฝากเงินในธนาคาร แต่ปัจจุบันแตกต่างกับสมัยก่อนมากเพราะมีสินทรัพย์ทางการเงินเกิดขึ้นมากมายให้เลือกลงทุน

เมื่อเด็กเติบโตจนกระทั่งเรียนเรื่องการคำนวณเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยได้แล้ว ควรทำให้เด็กรู้ว่าที่กำลังเรียนอยู่นี้ใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบแล้วก็ลืมไปเท่านั้น เราอาจจะนำตัวเลขในสมุดบัญชีธนาคารแบบออมทรัพย์หรือฝากประจำ แล้วก็สอนการคำนวณจากตัวอย่างจริง เพื่อให้รู้ว่าการเงินเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเรา

 

เรื่องที่ 2 ในหลวงทรงเก็บออมเพื่อซื้อของใช้ส่วนพระองค์

 

พระมหากษัตริย์นักออมเงิน

    

 
 
  • ในหลวงสนพระทัยในด้านดนตรีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ พระองค์เริ่มจากเครื่องเป่าและต่อมา จึงทรงเรียนเปียโน ทรงซื้อเครื่องดนตรีชิ้นแรก คือ คลาริเน็ต เมื่อพระชนมายุ 10 พรรษา ด้วยเงินที่ทรงเก็บออมไว้ เมื่อแรกโปรดดนตรีคลาสสิกและต่อมาโปรดดนตรีแจ๊ซ
  • ทรงสนพระทัยดนตรีอย่างจริงจังราวพระชนม์ 14-15 พรรษา ทรงซื้อแซกโซโฟนมือสองราคา 300 ฟรังก์มาทรงหัดเล่น โดยใช้เงินสะสมส่วนพระองค์ครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งสมเด็จย่าออกให้
  • ตอนเรียนหนังสือที่ Swiss ในหลวงยังเล็กอยู่ เข้ามาบอกสมเด็จย่าว่าอยากได้จักรยาน เพื่อนๆเขามีจักรยานกัน สมเด็จย่าบอกว่า “ลูกอยากได้จักรยาน ลูกก็เก็บสตางค์ที่แม่ให้ไปกินที่โรงเรียนไว้ซิ” เก็บมาหยอดกระปุกวันละเหรียญ สองเหรียญ เมื่อได้มากพอก็เอาไปซื้อจักรยาน
  • พอถึงวันปีใหม่ สมเด็จย่าก็บอกว่า “ปีใหม่แล้ว เราไปซื้อจักรยานกัน” ให้แคะกระปุกดูซิว่ามีเงินเท่าไหร่? เสร็จแล้วสมเด็จย่าก็แถมให้ ซึ่งส่วนที่แถมนั้นมีมากกว่าเงินในกระปุก
  • กล้องถ่ายรูปกล้องแรกของในหลวง คือ Coronet Midget ทรงซื้อด้วยเงินสะสมส่วนพระองค์ เมื่อพระชนม์เพียง 8 พรรษา
  • พระอัจฉริยภาพของในหลวง มีพื้นฐานมาจาก “การเล่น” สมัยทรงพระเยาว์ เพราะหากทรงอยากได้ของเล่นอะไร ต้องทรงเก็บสตางค์ซื้อเอง หรือ ทรงประดิษฐ์เอง ทรงเคยหุ้นค่าขนมกับสมเด็จพระเชษฐา เพื่อซื้อชิ้นส่วนวิทยุทีละชิ้นๆ แล้วทรงนำมาประกอบเองเป็นวิทยุ แล้วแบ่งกันฟัง

 

แนวคิดการเงิน

ของใช้ส่วนพระองค์หลายชิ้น เช่น เครื่องดนตรี กล้องถ่ายรูป จักรยาน ของเล่น ในหลวงทรงซื้อจากเงินออมที่เหลือจากเงินค่าขนม หากได้รับเงินในโอกาสพิเศษจากสมเด็จพระพันวัสสาฯ พระองค์ก็ทรงเก็บสะสมไว้ สิ่งของบางชิ้นสมเด็จย่าก็ทรงช่วยโดยการสมทบเงินออมเพิ่ม เพื่อจะได้ซื้อของที่อยากได้เร็วขึ้น

เราสามารถนำวิธีนี้มาประยุกต์ใช้กับตัวเราได้ คือ ซื้อของเมื่อเงินเราพร้อม เพื่อป้องกันตนเองจากสิ่งของฟุ่มเฟือยและหนี้สินพะรุงพะรัง สิ่งของบางอย่างที่เราอยากได้ ถ้าตัดสินใจด้วยอารมณ์ชั่ววูบรูดบัตรเครดิต 0% ทันทีก็ได้ของนั้นมาครอบครอง มันเป็นตัวที่เร่งการจับจ่ายให้มากเกินความจำเป็น เราอาจจะเห่อของนั้นเพียงชั่วคราว เมื่อของใหม่ออกมาก็เปลี่ยนใหม่

การเก็บสะสมเงินนั้นเป็นกลยุทธ์ที่ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว คือ

  • รู้จักกระเป๋าตนเองว่าของสิ่งนี้จำเป็นที่จะต้องซื้อแล้วหรือยัง (การเรียงลำดับความสำคัญ)
  • ไม่ต้องมานั่งเสียดอกเบี้ยจากการกู้ยืม (กรณีผ่อนบัตรเครดิตแล้วไม่มีเงินไปชำระหนี้)
  • ช่วงเวลาสะสมเงินมีเวลาตัดสินใจว่า เราต้องการของสิ่งนั้นจริงๆหรือไม่ ไม่ใช่การซื้อเพราะอารมณ์
  • เราอาจจะได้ของชิ้นใหม่ที่ดีและถูกกว่าเดิม เพราะแต่ละบริษัทก็ต้องผลิตแข่งกัน ช่วงเวลาสะสมเงินเราจะมีเวลาหาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อมากขึ้น

คำถาม : เวลาที่เราอยากได้ของเล่นใช้วิธีการอะไร สะสมเงินเอง ช่วยกันออมคนละครึ่งหรือร้องขอให้พ่อแม่ซื้อ?

 

เรื่องที่ 3 การสร้างรายได้และการให้

 
 
  • แม้จะได้เงินค่าขนมทุกอาทิตย์ แต่ยังทรงรับจ้างเก็บผักผลไม้ไปขาย เมื่อได้เงินมาก็นำไปซื้อเมล็ดผักมาปลูกเพิ่ม
  • โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เริ่มต้นมาจากโครงการทดลองเลี้ยงโคนมสวนจิตรลดา มีเงินลงทุนเริ่มต้นมาจากเงินส่วนพระองค์จำนวน 32,866.73บาท เป็นรายได้จากการขายหนังสือ "หลักวิชาการดนตรี ดุริยางคศาสตร์สากล" ซึ่งประพันธ์โดยพระเจนดุริยางค์ ต่อมาก็ค่อยๆเติบโตเป็นโครงการพัฒนามาจนเป็นอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้
  • ทรง ได้รับการอบรมให้รู้จัก "การให้" โดยสมเด็จย่าจะทรงตั้งกระป๋องออมสินเรียกว่า "กระป๋องคนจน" หากทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไรจะต้องถูก "เก็บภาษี" หยอดใส่กระปุกนี้ 10% ทุกสิ้นเดือนสมเด็จย่าจะเรียกประชุมเพื่อถามว่าจะเอาเงินในกระป๋องนี้ไปทำอะไร เช่น มอบให้โรงเรียนตาบอด มอบให้เด็กกำพร้า หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน

 

แนวคิดการเงิน

เราสามารถนำเรื่องราวนี้มาประยุกต์ใช้กับตนเองได้ในเรื่องของการสร้างรายได้โดยเริ่มจากสิ่งเล็กๆก่อน เมื่อทำจนประสบความสำเร็จแล้วมีกำไรก็ค่อยๆขยายให้เติบโตมากขึ้น ขณะนี้โลกออนไลน์เป็นช่องทางการสร้างรายได้ที่กว้างมากและต้นทุนต่ำมากด้วย

เคล็ดลับส่วนตัวที่เราสร้างรายได้จากโลกออนไลน์ คือ สร้างงานจากสิ่งที่ตัวเองรัก ความเชื่อ ความศรัทธาและที่สำคัญต้องเป็นตัวของตัวเอง ถ้าเรามีเป้าหมายชัดเจนว่าจะทำอะไร เดี๋ยววิธีการมันก็จะตามมาเอง "คอร์สสัมมนาหรือหนังสือสอนรวย" ช่วยเราได้เพียงแนวความคิดเท่านั้น สุดท้ายก็ต้องขึ้นอยู่กับตัวเราว่าจะนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้อย่างไร

การบริจาคหรือการให้นั้น เป็นการช่วยเหลือ แบ่งปันผู้อื่นเพื่อเป็นประโยชน์ให้สังคมและตัวของผู้ให้เองด้วยทำให้เราลดความเห็นแก่ตัว ลดความอยากได้ ลดความโลภ เมื่อเราบริจาคแล้วจะทำให้อิ่มใจ เห็นรอยยิ้มของผู้รับแล้วมีความสุข ได้รับความนับถือและทำให้เรามีเงิน มีโอกาสดีๆเข้ามาในขีวิต

เรื่องการให้นั้นก็มีความสำคัญ ในสังคมจะมีแต่ผู้รับอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีผู้ให้ด้วย เพราะคนเราไม่ได้อยู่ตามลำพัง เราให้ตามกำลังทรัพย์ที่มีและไม่จำเป็นต้องใช้เงินเสมอไป มันเป็นเรื่องง่ายๆที่เริ่มทำได้ เช่น ลุกให้คนแก่ คนท้องนั่ง ชะลอรถให้คนข้ามถนน อ่านหนังสือเสียงให้คนตาบอด ฯลฯ
เรายิ่งให้ ยิ่งได้ ยิ่งมีความสุขนะจ๊ะ

 

เรื่องที่ 4 การประหยัด

 
 
  • ช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทรงปั่นจักรยานไปโรงเรียนแทนรถพระที่นั่ง
  • หลอดยาสีพระทนต์ทรงใช้จนแบนราบเรียบคล้ายแผ่นกระดาษ โดยเฉพาะบริเวณคอหลอดยังปรากฎรอยบุ๋มลึกลงไปจนถึงเกลียวหลอด ซึ่งเป็นผลจากการกดใช้ด้ามแปรงสีพระทนต์ช่วยรีดและกดเป็นรอยบุ๋ม
  • ปีหนึ่งๆ ในหลวงทรงเบิกดินสอแค่ 12 แท่ง ใช้เดือนละแท่ง จนกระทั่งกุด
  • ทรงรับสั่งกับข้าราชบริพารเสมอว่า การนั่งรถคนละคันเป็นการสิ้นเปลือง ให้นั่งรวมกัน ไม่โปรดให้มีขบวนรถยาวเหยียด
  • ของใช้ส่วนพระองค์นั้นไม่จำเป็นต้องแพงหรือต้องแบรนด์เนม ดังนั้น การถวายของให้ในหลวงจึงไม่จำเป็นจะต้องใช้ของแพง อะไรที่มาจากน้ำใจจะทรงใช้ทั้งนั้น
  • ฉลองพระบาทเป็นรองเท้าหนังสีดำ มีสภาพชำรุดทรุดโทรมจากการใช้งานมาหลายสิบปี  ภายในรองเท้าผุกร่อนหลุดลอกหลายแห่ง  ซึ่งถ้าเป็นคนทั่วไปก็อาจจะทิ้งไปแล้ว แต่พระองค์ท่านกลับทรงให้เจ้าหน้าที่นำมาซ่อมเพื่อใช้งานต่อ


พระมหากษัตริย์นักออมเงิน ที่มา http://www.oknation.net/blog/chai/2007/11/08/entry-1


พระมหากษัตริย์นักออมเงิน ที่มา http://www.vcharkarn.com/varticle/39675

 

พระมหากษัตริย์นักออมเงิน

พื้นด้านล่างฉลองพระบาท 'ในหลวง' ที่ทรงโปรดให้ซ่อมแล้วซ่อมอีก

ที่มา http://www.oknation.net/blog/babymind/2007/11/29/entry-3

 

แนวคิดการเงิน

เรื่องราวเหล่านี้ที่พระองค์ทรงปฎิบัตินั้นทำให้เรารู้ว่าการประหยัดเป็นวิธีการที่เราเริ่มทำได้ทันที โดยการใช้ของที่มีให้หมด ใช้ให้คุ้มค่าที่สุด ถ้าเราจะนำไปปรับใช้ เช่น

  • เราใส่เสื้อผ้าคุ้มค่ารึยัง ลองรื้อตู้เสื้อผ้ามาดูว่ามีชิ้นไหนที่ใส่ได้บ้างก็นำมาดัดแปลงเป็นของใหม่ หากชุดไหนใส่ไม่ได้ก็บริจาค
  • เครื่องบำรุงผิว หลายท่านซื้อเพราะโปรโมชั่นแรงกระแทกใจ ซื้อ 2 แถม 1 รีบจัดไปอย่างให้เสีย แต่รู้ไหมว่าอาจจะกลายเป็นขยะในบ้าน ใช้ไม่ทันเพราะหมดอายุไปก่อน ทางที่ดีเราควรซื้อทีละอย่าง พอหมดแล้วค่อยซื้อใหม่ โปรโมชั่นนี้ซื้อไม่ทันก็รอรอบหน้าที่อาจจะลดราคายิ่งกว่าเดิมก็ได้

หลายครั้งที่เราใช้จ่ายซื้อสิ่งของบางอย่างที่ไม่จำเป็น แล้วก็อยากซื้อเพื่อจะได้เหมือนคนอื่น แต่อย่าลืมว่าถ้าเราเลือกคบเพื่อนจากสิ่งของ ในวันที่สิ่งของเปลี่ยนไปเพื่อนจะยังอยู่กับเราหรือไม่ ลองมองอีกด้านหนึ่งว่าถ้าเราคบกันเพราะนิสัยหรือคุณค่าจากความคิดของเรา ความเป็นเพื่อนจะอยู่ยืนนานกว่า เพราะ "เปลือกไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่อยู่ในเปลือก" #พี่ชายที่เคารพท่านหนึ่งกล่าวไว้

 

เรื่องที่ 5 เงินค่าไถ่บ้านเมืองของรัชกาลที่ 3

 

เริ่มต้นเงินถุงแดง

 

ในสมัยรัชกาลที่ 2 ในขณะที่รัชกาลที่ 3 ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงทำการค้าเก่งมากๆ ด้วยการสร้างเรือสำเภาหลวงและเรือสำเภาส่วนพระองค์ส่งของไปค้าขายกับเมืองจีน ร่ำรวยจนถึงขั้นที่พระราชบิดาทรงเรียกว่า “เจ้าสัว”

รัชกาลที่ 3  กำไรที่ได้จากการค้าขายก็ไม่ได้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือยกให้ลูกหลานตามใจชอบ ทั้งที่พระองค์ทรงมีสิทธิ์จะทำได้ แต่ทรงนำนำผลกำไรที่ได้มาใส่ “ถุงแดง”แยกไว้เป็นถุงๆละ 10 ชั่ง ตีตราปิดปากถุงเก็บไว้ในหีบกำปั่นข้างห้องพระบรรทม ซึ่งมีจำนวนมากถึงสามหมื่นชั่ง (2,5๐๐,๐๐๐ ฟรังก์) เป็นเหรียญทองรูปนกของเม็กซิกัน (เป็นเงินตราต่างประเทศที่เป็นตัวกลางซื้อขาย สินค้าในเมืองไทย)

 

พระมหากษัตริย์นักออมเงิน

พระมหากษัตริย์นักออมเงิน


มีผู้ไปกราบทูลถามว่าจะเก็บไว้ทำไม ใช้ก็ไม่ใช้  ทรงรับสั่งว่า

“ส่วนหนึ่งให้เก็บไว้เพื่อเป็นทุนสำหรับสร้างและทำนุบำรุงวัดวาอารามต่างๆทั้งในและนอกพระนครอีกส่วนหนึ่งยกให้แผ่นดินเก็บรักษาไว้ใช้ในยามจำเป็น”

 

เมื่อประชวรหนักใกล้สวรรคตก็ยังเป็นห่วงเรื่องความสงบสุขของบ้านเมือง ถึงกับพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ขุนนางข้าราชบริพารที่เข้าเฝ้าเป็นครั้งสุดท้ายว่า

“...การศึกสงครามข้างญวน ข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิด ควรจะเรียนร่ำเอาไว้ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว...”

 

การออกล่าอาณานิคม

 

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสมัยรัชกาลที่ 5 ขณะนั้นฝรั่งเศสและอังกฤษเป็นมหาอำนาจกำลังออกล่าอาณานิคม อังกฤษได้พม่า มลายู อินเดียไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนญวณ(เวียดนาม) ก็ตกเป็นของฝรั่งเศส

ประเทศเพื่อนบ้านของไทยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษกับฝรั่งเศสกันหมดแล้ว เหลือแต่ประเทศไทยที่อยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะถูกล่าเป็นอาณานิคม มีความขัดแย้งเกี่ยวกับดินแดนของไทยกับฝรั่งเศสเกิดขึ้นจนบานปลายกลายเป็น วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (ปี พ.ศ. 2436)  ที่กรุงเทพฯถูกยึดครองด้วยกองเรือรบติดอาวุธของฝรั่งเศส

ข้อเรียกร้องของฝรั่งเศส (บางส่วน)

  • ไทยถอนทหารจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (ลาว เขมร) ภายใน 1 เดือน
  • จำนวนเงินค่าปรับไหม 2 ล้านแฟรงค์ ประมาณ 15,000 ชั่งสำหรับจะได้ใช้ทำขวัญให้แก่คนฝรั่งเศส
  • จ่ายเงิน 3,000,000 ฟรังก์ เพื่อจะเป็นประกันในการที่จะใช้ค่าทำขวัญและปรับไหมนี้ ถ้าไม่ได้เงินก็จำนำภาษีอากรในหัวเมืองพระตะบองและเสียมราฐแทน

 

ไทยยอมรับเงื่อนไข

ประเทศไทยจะต้องให้คำตอบกับฝรั่งเศสภายใน 48 ชั่วโมง หากไม่ทำตามนี้กระสุนจากปืนใหญ่บนเรือรบ 3 ลำ ที่ทันสมัยที่สุดจะบุกเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา จะสั่งให้ระดมยิงเข้าไปในพระที่นั่งจักรี และฝรั่งเศษจะนำเรือมาปิดปากอ่าวไทย

หลังจากใช้วิธีเจรจาทางการทูต 2 เดือนกว่าๆไม่เป็นผล รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่าไม่มีทางออกแล้ว เพื่อรักษาอธิปไตยและลดการสูญเสียเลือดเนื้อ จึงทำตามเงื่อนไขของทางฝรั่งเศส

  • ถอนทหารออกจากดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
  • จ่ายเงินมัดจำ 3 ล้านแฟรงก์ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
    • เงินในท้องพระคลัง(เงินถุงแดง) มูลค่า 2,500,000 แฟรงก์ นำไปมอบให้ฝรั่งเศส ณ เรืออาลูเอตต์
    • เงินที่เหลืออีก 500,000 แฟรงก์ จ่ายเป็นเช็ค โดยไทยสั่งให้ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้สั่งจ่ายธนาคารเมืองไซ่ง่อน

ที่มา : หนังสือวิกฤตการณ์ สยาม ร.ศ.112

 

เมื่อไทยทำตามเงื่อนไขของฝรั่งเศสแล้ว การเจรจาทางการทูตก็ดำเนินการต่อไปได้ ผลจากเหตุการณ์นี้ทำให้ไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส นำเงินถุงแดงรวมกับเงินส่วนพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพารเพื่อมาไถ่บ้านเมือง โดยหม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิศกุล ทรงนิพนธ์ไว้ในเรื่อง"เหตุการณ์ ร.ศ.112 และเรื่องเสียเขตแดนใน ร.5" มีว่า

 
 
...ฝรั่งเศส ไม่ต้องการให้ไทยจ่ายค่าเสียหายเป็นธนบัตร หากว่าต้องการเป็น "เงินกริ๋งๆ" คราวนี้ก็ต้องเทถุงกันหมด เงินถุงแดงข้างพระที่ ที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ทรงเก็บไว้ ด้วยมีพระราชดำรัสว่า "เอาไว้ถ่ายบ้านถ่ายเมือง"ก็ได้ใช้จริงคราวนี้ ผู้ใหญ่เล่าว่า เจ้านายในพระราชวังเอาเงินถวายกันจนเกลี้ยง ใส่ถุงขนออกจากในวังทางประตูต้นสน ไปลงเรือทางท่าราชวรดิฐกันทั้งกลางคืนกลางวัน...

 

แนวคิดการเงิน

ถ้านับตั้งแต่ตั้งแต่ปีที่ รัชกาลที่ 3 ทรงสวรรคตปี 2394 จนถึงปีที่นำเงินถุงแดงออกมาใช้ไถ่บ้านเมืองในรัชกาลที่ 5 ปี 2436 จะเห็นว่าเงินถุงแดงเก็บไว้เป็นเวลากว่า 42 ปี จากเหตุการณ์นี้ทำให้เรารู้ว่า ช่วงเกิดวิกฤตเราจะต้องช่วยเหลือตนเอง (ตอนนั้นไม่มีประเทศไทยยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือไทยเลย) และจะต้องเก็บเงินฉุกเฉินไว้ด้วย

วิธีการกันเงินไว้ใช้ในยามจำเป็นของรัชกาลที่ 3 โดยแบ่งเงินแยกไว้ต่างหาก จะใช้ก็ต่อเมื่อเกิดเหตุการณ์จำเป็นเท่านั้น จึงคล้ายกับวิธีการแบ่งกระปุกเงินออมตามเป้าหมาย เพื่อความมีระเบียบในการใช้เงิน จากเรื่องนี้เราจะเห็นชัดเจนเลยว่า การแบ่งรายได้จากการค้าขายหรือแบ่งเงินเดือนมาออมนั้นสำคัญมากๆ เพราะเราไม่รู้ว่าวิกฤตจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ การมีเงินฉุกเฉินไว้ก็จะทำให้แบ่งเบาความรุนแรงของวิกฤตนั้นลงได้บ้าง

 

ตัวอย่าง การแบ่งกระปุกเงินออม ในชีวิตจริงของเราอาจจะแบ่งมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับเป้าหมายที่วางแผนไว้ เคล็ดลับทำให้สำเร็จ คือ การแบ่งสัดส่วนเงินไว้อย่างชัดเจน

 

พระมหากษัตริย์นักออมเงิน


 

แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการเงินของไทยนั้นมีมานานแล้ว เพียงแต่เรายังไม่ลงมือทำอย่างจริงจัง บทความนี้ต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องการเงินของพระมหากษัตริย์เพื่อให้คนอ่านรู้ว่าพระองค์ท่านก็ยังทรงสะสมเงิน ดังนั้น ถ้าเราอยากจะแสดงความรักต่อพระองค์ท่านก็เริ่มได้จากการ

..เริ่มออมเงิน...

 

ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

ข้าพระพุทธเจ้า เพจอภินิหารเงินออมและ www.aommoney.com

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

  • หนังสือ “ในหลวงของเรา” หน้า64
  • หนังสือ “พระมหากษัตริย์ยอดกตัญญู” หน้า 17
  • หนังสือเจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์
  • หนังสือ “สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนีกับการพัฒนาคุณภาพประชากร” สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงพระกรุณาประทานพระดำรัช หน้า 53 - 55
  • หนังสือ "โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ:การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" หน้า 160
  • หนังสือวิกฤตการณ์ สยาม ร.ศ.112
  • ปกิณกะสารธรรม เรื่องของในหลวงที่เรา (อาจไม่เคยรู้) http://sys.dra.go.th/module/attach_media/sheet1520090306113915.pdf
  • ภาพทรงดนตรีนำมาจากเว็บ http://bit.ly/1LYXO1g
  • 81 เรื่องของ “ในหลวง” ที่คนไทยควรรู้ http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9510000143683
  • ๙ เรื่องเล่าต้นแบบแห่งชีวิต รองเท้าของพ่อ (เรื่องเล่าที่๕)http://www.oknation.net/blog/babymind/2007/11/29/entry-3
  • เงินถุงแดง http://emuseum.treasury.go.th/article/376-thungdaeng.html
  • สยามยามวิกฤติ ร.ศ.112 ปีที่ไทยใกล้เสียเอกราช Part2/2 คลิกที่นี่
  • ๔๘ ชั่วโมง ขีดเส้นตาย..สยาม http://www.klangluang.com/th/index.php?option=com_content&task=view&id=380&Itemid=340
  • สละเงินถุงแดง ไถ่ถอนชาติhttp://www.klangluang.com/th/index.php?option=com_content&task=view&id=379