เดี๋ยวนี้ เวลาเลื่อนฟีดดู เห็นแต่ บรรดาคนดัง, เถ้าแก่น้อย, อินฟลูเรนเซอร์, ยูทูบเบอร์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคนหนุ่มสาว โพสต์โชว์การใช้ชีวิตโก้หรู ดูดี มีบ้านหลายสิบล้าน มีรถสปอร์ตขับ ไปเที่ยวต่างประเทศ เต็มไปหมด!!

ทำเอาต้องกลับมาตั้งคำถามว่า เอ๊ะ!!...ฉันพลาดอะไรไปรึเปล่า? ทำไม “คนรุ่นใหม่” ถึงสามารถอัพเลเวลชีวิตง่ายจัง แต่นั่นไม่ใช่กับทุกคน!

เพราะพอไปหาอ่านวิจัยและผลสำรวจจากหลายสำนัก กลับพบความจริงที่สวนทาง พูดง่ายๆ ว่า คนหนุ่มสาวมีโอกาสรวย หรือ สร้างเนื้อสร้างตัวได้ยากกว่าคนรุ่นก่อนๆ

ข้อมูลจาก The Economist สื่อชื่อดังของอังกฤษ บอกว่า แม้แต่ในประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ก็มีโอกาสน้อยมากที่ ผู้ที่มาจากครอบครัวชนชั้นล่าง จะเลื่อนสถานะทางสังคมเป็นชนชั้นสูง เฉพาะแค่ คนในอังกฤษเองก็มีโอกาสเพียงแค่ 9%, อีกทั้ง สหรัฐอเมริกา ยิ่งน้อยไปใหญ่ เพราะมีโอกาสแค่ 7.5% เท่านั้น

สอดคล้องกับ งานวิจัยจาก Pew Research หน่วยงานที่เชี่ยวชาญเรื่องการทำวิจัยเกี่ยวทัศนคติและเทรนด์ระดับนานาชาติ ที่ระบุชัด ผู้ที่เกิดตั้งแต่ต้นปี 1981 - 1996 หรือ เรียกง่ายๆ ว่า กลุ่ม Millennials ต้องเผชิญกับมรสุมรอบด้านและความท้าทายที่เกิดขึ้นจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทำให้ไม่มีอิสระทางการเงิน หรือ ก้าวไปสู่ความร่ำรวยได้เร็วเท่ากับคนในรุ่นพ่อแม่

พร้อมหยิบยกเอาเหตุผล ของ ศ. Michael Hout นักวิชาการด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก มาอธิบายว่า คนกลุ่ม Millennials เติบโตในยุคที่เศรษฐกิจโลกถดถอย ผิดกลับพ่อแม่ของพวกเขาที่เกิดมาในช่วงเศรษฐกิจโลกกำลังขยายตัว จึงเลื่อนสถานะทางสังคมได้ง่ายกว่า

โดยเฉพาะ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชนชั้นแรงงานทั้งในอังกฤษ และสหรัฐฯ เลื่อนสถานะทางสังคมง่ายและเร็วขึ้นมาก เนื่องภาคอุตสาหกรรมที่เติบโต ณ ขณะนั้น ต้องการผู้เชี่ยวชาญระดับมือโปรมากขึ้น จึงไม่แปลกที่แรงงานที่มีความสามารถจะขยับฐานะทางสังคมให้ดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจัยเหล่านี้ จึงทำให้ ชาวอเมริกัน ที่เกิดขึ้นช่วงปี 1940 ประมาณ 91.5% สามารถตั้งตัวและร่ำรวยกว่าคนรุ่นพ่อแม่ได้ แต่ตัวเลขนี้กลับค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ โดยปี 1950 ลดลงมาเป็น 70% , ปี 1970 เป็น 60% และ ปี 1980 เหลือแค่ 50% เท่านั้น

อีกปัจจัย 1 คือเรื่องของ “ทัศนคติ” ที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ผ่านมา เรามักจะเห็น คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ทุ่มเททำงานหนัก มุ่งหน้าสร้างเนื้อสร้างตัว จะได้มีบ้าน มีรถ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ เพื่อสร้างการยอมรับจากผู้คนในสังคม

แต่มุมมอง ของ “คนรุ่นใหม่” กลับแตกต่างไปเกือบสิ้นเชิง โดยเฉพาะกลุ่ม Millennials พวกเขา ชอบยึดหลัก Work-Live Balance คือ ต้องทำงานและใช้ชีวิตแบบมีความสุขควบคู่ไป และมีหลายคนชอบวิธี “รวยลัด” (ทางสุจริต) มากกว่า

มีงานวิจัย ของ ศ. Jean Twenge อาจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยซานดิเอโก สเตท พูดถึงกลุ่ม Millennials ว่า คนพวกนี้จะยอมทำทุกอย่าง เพื่อให้รวยอย่างรวดเร็ว เว้นแต่ยอมทำงานหนัก พวกเขาจะไม่ยอมทำงานหนักเพื่อแลกเงินเด็ดขาด แต่จะให้เงินมาทำงานแทน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น

เอาเข้าจริงๆ ไม่ใช่ว่า การรวยเร็ว เป็นไปไม่ได้ แต่ในโลกแห่งความเป็น ไม่ใช่ว่าทุกคนจะใช้ทางลัด เพื่อปรับเปลี่ยนสถานะทางสังคม อย่าลืมว่า “เก้าอี้แห่งความสำเร็จ ไม่ได้มีเพียงพอสำหรับทุกคน” และโอกาสที่จะสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยการเริ่มจากศูนย์ ท่ามกลางยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคืองก็แทบเป็นไปไม่ได้

ต้องบอกว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง คนที่ทุ่มเท อดทน ทำงานหนัก ตื่นตัว และรู้จักวิเคราะห์สถานการณ์อย่างรอบด้าน และพร้อมจะปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น จึงจะก้าวเข้าสู่หนทางแห่งความสำเร็จได้

ไม่ได้บอกว่า คนรุ่นใหม่ จะรวยเร็ว หรือ สร้างเนื้อสร้างตัว ได้เร็วกว่า คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ไม่ได้ แต่โอกาสจะทำให้ตัวเอง เป็นอิสระทางการเงิน หรือ เลื่อนสถานะทางสังคม จากชนชั้นล่าง หรือ ชนชั้นกลาง ให้กลายเป็นชนชั้นสูง ท่าทางจะไม่ง่ายเหมือนแต่ก่อนเท่านั้นเอง