หลังจากทำความรู้จักกับจุดเริ่มต้นของพอร์ตการลงทุนแบบ Asset Allocation มาบ้างแล้ว คราวนี้ “นายปั้นเงิน” จะพาไปรู้จักกับหนึ่งกลยุทธ์ที่ใช้สร้างพอร์ต Asset Allocation ให้มีความสมดุล สร้างผลตอบแทนได้ดีอย่างสม่ำเสมอ

สิ่งนั้นทางวิชาการเงินขั้นสูง...เวอร์ไป! เรียกว่า “Rebalancing”

อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ มันคือ การปรับสมดุลของพอร์ตการลงทุน ให้สัดส่วนของสินทรัพย์ต่างๆกลับอยู่ในนโยบายการลงทุนส่วนตัว ซึ่งวิธีนี้ช่วยป้องกันความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี สร้างผลตอบแทนที่มั่นคง ไม่เหวี่ยงจนเราหวั่นไหว (เผลอๆได้ผลตอบแทนในระยะยาวดีกว่าการไม่ทำ Rebalancing อีกด้วย)

ถ้าเป็น Asset Allocator พันธุ์แท้ นี่คือสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับพอร์ตของท่าน เพราะเมื่อเวลาผ่านไป สัดส่วนการลงทุนของพอร์ตจะเริ่มบิดเพี้ยนไปจากสัดส่วนพื้นฐานเดิม เพราะผลตอบแทนต่อปีของสินทรัพย์แต่ละตัวไม่เคยเท่ากันเลยซักปี

ทำให้สินทรัพย์ที่โตเร็วมีมูลค่าวิ่งแซง สินทรัพย์อื่นๆ สัดส่วนรวมของพอร์ตจึงเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการทำ Rebalancing จะทำให้นักลงทุนมั่นใจได้ว่า พอร์ตการลงทุนจะยังเหมาะสมกับความเสี่ยงที่สามารถรับได้ ตามที่เคยจัดสรรไว้ในตอนแรก

ตัวอย่างง่ายๆ สมมติว่า นายปั้นเงินยังเป็นเด็กรุ่นใหม่วัยคะนอง เลือกลงทุนในหุ้น 60% และตราสารอื่นๆ 40% ตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มลงทุน ตลาดหุ้นก็พุ่งขึ้นแบบทะยานฟ้า ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในพอร์ตนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่สัดส่วนมูลค่าของหุ้นกลับเพิ่มขึ้นเป็น 80% ของมูลค่าพอร์ตโฟลิโอโดยรวม

จะเห็นเลยว่าสัดส่วนของหุ้นนั้นเพิ่มขึ้นจนบดบังสัดส่วนของตราสารอื่นๆเหลือนิดเดียว พอร์ตนี้จึงมีความเสี่ยงมากขึ้น เริ่มไม่เหมาะสมกับสไตล์การลงทุนของนายปั้นเงิน ที่เคยมองตัวเองไว้ว่ารับความเสี่ยงจากสัดส่วนของหุ้นได้แค่ 60% ของพอร์ตการลงทุนโดยรวม

การทำ Rebalancing จึงเริ่มต้นด้วยการขายหุ้นที่มีออกจนเหลือ 60% ของมูลค่าพอร์ตการลงทุนโดยรวม แล้วนำเงินที่ขายได้ไปจัดสรรให้กับตราสารการเงินอื่นๆ เพื่อให้ได้สัดส่วนเท่ากับที่เคยเริ่มต้นไว้

และในทุกครั้งที่ทำ Rebalancing นักลงทุนอย่าลืมรีวิวสินทรัพย์ที่อยู่ในพอร์ตแบบรายตัวในแต่ละประเภทด้วย อย่างเช่นถ้าพอร์ตการลงทุนในหุ้นนั้นจัดสัดส่วนไว้เป็น หุ้นกลุ่มบริการ 40% กลุ่มธนาคาร 30% กลุ่มอุปโภคบริโภค 30% เราก็ต้องคอยทบทวดสัดส่วนนั้นด้วย ประมาณนี้ครับ

ซึ่งวิธีทำ Rebalancing หลักๆจะมีอยู่ 3 วิธี

          1. ขายสินทรัพย์ประเภทที่ overweight เกินสัดส่วนเดิมออกไป จากนั้นนำเงินไปซื้อสินทรัพย์ประเภทอื่นๆที่ underweight ให้กลับมามีสัดส่วนเท่าเดิม

          2. เอาเงินมาเติมในพอร์ต แล้วซื้อสินทรัพย์ที่ underweight ให้กลับมามีสัดส่วนเท่าที่เคยกำหนดไว้

          3. จัดสัดส่วนการลงทุนให้พอร์ตใหม่เลย เพราะในบางครั้งมันเป็นเรื่องดีที่เห็นสินทรัพย์ที่ลงทุนมีมูลค่ามากขึ้น และเราเห็นเป็นโอกาส สามารถรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้ การเปลี่ยนนโยบายลงทุนให้เหมาะสมตามสภาพที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก่อนจะทำ Rebalancing พอร์ตการลงทุน นักลงทุนควรกำหนดวิธีการและระยะเวลาการทบทวนพอร์ตการลงทุนอยู่เสมอ รวมทั้งคำนึงถึงค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกิดขึ้นเสมอ เพราะค่าธรรมเนียมการสับเปลี่ยนที่แพงก็ไม่สามารถทำให้เรา Rebalancing พอร์ตได้อยู่บ่อยๆ และสินทรัพย์การลงทุนบางตัวก็ไม่สามารถขายออกมาได้เพราะติดข้อกำหนด เช่น LTF และ RMF

ส่วนตัวผมจะมีการทบทวนสัดส่วนพอร์ตการลงทุนทุกปี ไม่บ่อยมากนัก แล้วค่อยตัดสินใจซื้อขายสับเปลี่ยนให้ลงตัวตามนโยบายการลงทุนส่วนตัวที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้ผมสบายใจมากที่สุดกับการลงทุนแบบ Asset Allocation ครับ

หากท่านผู้อ่านสนใจการลงทุนแบบ Asset Allocation ที่บริหารพอร์ตโดยผู้เชี่ยวชาญมีประสบการณ์ในการลงทุนกว่า 10 ปี มีใบอนุญาตในการจัดการกองทุนถูกต้องตามเกณฑ์ของ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ติดต่อมาคุยกันได้ที่หน้าเพจ นายปั้นเงิน ปีศาจแห่งการลงทุน” ได้เลยครับบบบ

ผมยินดีและพร้อมคุยกับทุกคนด้วยความเต็มใจคร้าบบบบ :D

นายปั้นเงิน ปีศาจแห่งการลงทุน