ใกล้จะสิ้นปี การเดินทางในปีนี้ก็ใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว บางคนก็ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ บางคนก็ยังเดินไม่ถึง และทุกคนก็คงจะมีเป้าหมายใหม่สำหรับปีหน้ากัน

เป้าหมายส่วนใหญ่ก็คงไม่พ้นเรื่องงาน สุขภาพ หรือความรัก เป็นหลัก แต่เรื่องนึงที่เป็นที่นิยมไม่แพ้กันก็คือเรื่องของเงิน!! บางคนตั้งเป้าให้ตัวเองมีเงินเก็บเยอะๆ มีพอร์ตหุ้น หรือกองทุนรวมที่โตขึ้น แน่นอนครับว่าเรื่องที่หวังกันตามนี้คือเรื่องดี เพราะมันคือการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ทางการเงิน แต่จะดีมากเลยถ้าทุกคนโฟกัสให้สินทรัพย์ที่มีเติบโตขึ้นตามความเหมาะสมของไลฟ์สไตล์

แล้วจะให้อะไรมันเติบโตบ้างล่ะ เราควรโฟกัสในสินทรัพย์แบบไหนดี? วันนี้เรามีมาฝาก

สินทรัพย์ที่ทุกคนต้องรู้จักมีอะไรบ้างนะ!?

หลังจากที่เคยเขียนเรื่อง “การวัดความมั่งคั่ง” ของคนๆหนึ่งไปแล้วในหน้าเพจ Facebook ยังจำสมการความมั่งคั่งกันได้มั๊ยเนี่ยย??  งั้นมาทวนกันอีกรอบ

Wealth = Assets - Liabilities 

ซึ่งตอนนั้นแอบติดค้างกันอยู่ในเรื่องของความหมายของแต่ละรายการไว้ มาคราวนี้เราขอพูดถึง Asset หรือ สินทรัพย์ ก่อนละกันเนาะ

-- “สินทรัพย์” คืออะไร? --

ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ มันก็คือ ทรัพยากรที่เรามีอยู่ในความครอบครอง ซึ่งได้รับมาไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม โดยที่ในอนาคต เรามีโอกาสจะได้รับผลตอบแทนจากการครอบครองสินทรัพย์นั้นๆ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดกระแสเงินสดทั้งทางตรง และทางอ้อม

ซึ่งสินทรัพย์ทั้งหมดจะมีตัวตนหรือไม่มีตัวตนก็ได้ เช่น ที่ดิน คอนโด เงินลงทุน สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ เป็นต้น

หมายความว่ายิ่งเราสะสมสินทรัพย์ หรือสร้างสินทรัพย์ได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีสิทธิ์ที่สินทรัพย์จะสร้างกระแสเงินสดไหลเข้ากระเป๋าให้กับเรามากขึ้นเท่านั้น ซึ่งการได้มาของสินทรัพย์นั้นมีหลายวิธี ทั้งสร้างมันขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรง นำเงินไปลงทุนซื้อมันมา สะสมให้มันเติบโตขึ้นจนมันเรียกพวกมามาช่วย ฮ่าๆ

สินทรัพย์ยิ่งมีมาก ยิ่งดี!!! คนรวยจึงเน้นการสะสมสินทรัพย์เป็นหลัก บางคนชอบสะสมที่ดินเพราะมูลค่ามีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางคนชอบลงทุนในหุ้นเพราะได้ทั้งสิทธิ์ในบริษัทที่ดี และเงินปันผลจะช่วยทำให้นักลงทุนมีกระแสเงินไหลเข้าทุกปีๆ ยิ่งมีหุ้นเยอะ เงินปันผลก็ยิ่งเยอะตาม หรือบางคนซื้อคอนโดให้เช่าไว้หลายแห่ง เพราะจะได้ค่าเช่าทุกเดือนๆ เป็นต้น

เห็นมั้ยว่าสินทรัพย์ยิ่งมีเยอะ ยิ่งได้เยอะ !!

-- ประเภทของสินทรัพย์ มีอะไรบ้าง? --

การแบ่งประเภทของสินทรัพย์มีหลายวิธีนะ แต่สำหรับคนทั่วไป จะแบ่งสินทรัพย์ออกเป็น 3 ประเภท

  1. สินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น เงินสด บัญชีเงินฝากต่างๆ ตั๋วแลกเงิน
  2. สินทรัพย์เพื่อการลงทุน เช่น หุ้น หุ้นกู้ กองทุนรวม คอนโดให้เช่า บ้านเช่า ที่ดิน
  3. สินทรัพย์ส่วนตัว เช่น บ้าน รถ นาฬิกา กระเป๋า เครื่องประดับ

-- Asset Allocation เกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้มั้ย? --

เกี่ยวสิเกี่ยวเต็มๆเลย! เราควรจะจัดสรรสินทรัพย์ในส่วนที่เราสามารถควบคุมมันได้ เพื่อให้กลุ่มสินทรัพย์เหล่านั้น สร้างกระแสเงินสด หรือผลตอบแทนให้เราได้ตามที่ต้องการ  

โดยที่เราต้องมีความสบายใจในการครอบครองมันด้วย เพราะบางคนถือหุ้นมากเกินระดับความเสี่ยงที่ตัวเองรับไหว พอตลาดหุ้นผันผวนแรงๆ ก็มีสิทธิ์นอนไม่หลับ ตาค้างไปหลายคืนก็ได้นะ

สังเกตดีๆว่า ในตลาดจะมีสินทรัพย์การเงินอยู่ 4 ชนิด ซึ่งเป็นที่นิยมนำมาจัดพอร์ตลงทุน เพราะพวกมันมีสภาพคล่องมากกว่าสินทรัพย์การลงทุนชนิดอื่นๆ มีตลาดซื้อขายเป็นของตัวเอง และมีกฏหมายบังคับเฉพาะตัว

ทางวิชา Asset Allocation จะเรียกสินทรัพย์กลุ่มนี้ว่า Asset Class ประกอบไปด้วย

  • เงินสดหรือสินทรัพย์ที่เทียบเท่าเงินสด
  • หุ้นกู้
  • หุ้นสามัญ
  • และบางตำราก็มี Commodity หรือสินทรัพย์เพื่อการลงทุนทางเลือก เข้ามารวมอยู่ด้วย

อย่างที่บอกไปว่า Asset class เหล่านี้ มีสภาพคล่องที่มากกว่าชนิดอื่นๆ เพราะมีตลาดรองรับอยู่ ไม่ต้องกลัวว่าจะขายเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินได้ยาก สามารถโยกย้ายเปลี่ยนสัดส่วนการถือครองได้ง่าย เหมาะกับการหยิบมาทำ Asset Allocation มากที่สุด

สำหรับนักลงทุนในหุ้นเต็มตัว ก็ต้องมีการจัด Asset Class เหล่านี้เหมือนกัน เพราะในการลงทุนทุกช่วงทุกเวลาก็ควรจะมีเงินสดติดอยู่ในพอร์ตการลงทุน เอาไว้สำหรับซัดหุ้นเวลาที่ราคาลงมาถึงจุดที่เราต้องการยังไงล่ะ เฮาะๆ

แล้วแต่ว่าจะให้ความสำคัญกับสัดส่วนของเงินสดก้อนนั้นมากน้อยแค่ไหน จะเลือกถือเงินสดกับหุ้นแบบ 50:50 หรือ 30:70 อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความพอใจของแต่ละคน

เงินสดเหล่านั้นอาจจะอยู่ในรูปกองทุนรวมต่างๆที่มีสภาพคล่องสูงก็ได้

สำหรับคนที่ยังไม่มีความชำนาญในการบริหารสินทรัพย์เหล่านี้ ผมแนะนำให้ลงทุนผ่านกองทุนรวมแทน เพราะมีนโยบายลงทุนใน Asset class ที่ครบถ้วน และมีทางเลือกที่หลากหลาย

แถมยังมีผู้จัดการกองทุนคอยบริหารสินทรัพย์ให้ด้วย แต่ต้องทำความเข้าใจในข้อมูลและความเสี่ยงของกองทุนผ่าน Fund Fact Sheet ด้วยนะครับ ที่เหลือก็แค่เลือกกองทุนมาลงทุนตามสัดส่วนที่เราจัดไว้ก็พอ 

สำหรับคนที่กำลังบริหารเงินภาษีอยู่ แล้วปีนี้ต้องเสียภาษีเยอะ ก็ซื้อ LTF สะสมไปเถอะครับ ได้กำไรทางภาษีและอาจจะได้กำไรทางการลงทุนด้วยนะ นโยบายของ LTF คือลงทุนในหุ้นสามัญเป็นหลักอยู่แล้ว คิดให้เหมือนกับการซื้อหุ้น หรือกองทุนรวมในหุ้นนั่นแหละครับ 

ส่วนคนที่มองหาสินทรัพย์อื่นๆนอกจากหุ้นแล้วอยากได้สิทธิ์ทางภาษีด้วย RMF ก็มีกองทุนให้เลือกหลากหลายอยู่เหมือนกัน ทั้งตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ หรือลงทุนในตราสารต่างประเทศก็มีเหมือนกันนะ

แฮร่! ง่ายเลยใช่มั้ยล่ะ ส่วนหนี้สิน(Liabilities) ขออนุญาตยกไปบทความต่อไปเนาะ เขียนเยอะไปเดี๋ยวเพื่อนๆมึนกันซะก่อน

ถ้าเกิดใครทราบเรื่องนี้แล้วสนใจ อยากศึกษาเรื่อง Asset Allocation สามารถติดตามบทความสนุกๆแบบนี้กันได้ที่เพจ

นายปั้นเงิน-ปีศาจแห่งการลงทุน

หรือถ้าอยากพูดคุย มีข้อสงสัยในการบริหาร