[caption id="attachment_24176" align="aligncenter" width="600"]Personal Shopper ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Personal Shopper (2017) แหล่งที่มา : http://www.imdb.com/title/tt4714782/ [/caption]

 

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา (22 เมษายน 2560) ได้มีการฉายภาพยนตร์เรื่อง Personal Shopper กำกับโดย ดอลิเวียร์ แอซสาแยส รอบแรกในไทย ภาพยนตร์ได้นักแสดงสาว คริสเตน สจ๊วจ มาสวมบทบทเป็น มอรีน หญิงสาวผู้ทำอาชีพเป็น Personal Shopper ให้กับเซเลบริตี้ชื่อดังในปารีส เธอมีพี่ชายฝาแฝดคนหนึ่ง แต่เขาได้เสียชีวิตลงเนื่องด้วยปัญหาโรคหัวใจ ก่อนที่เขาจะตายทั้งคู่ได้สาบานกันไว้ว่า หากใครใครที่ตายก่อน คนนั้นจะต้องติดต่อหรือส่งสัญญาณมาหาอีกคนเรื่อยๆ ด้วย

 

 

Personal Shopper Trailer

 

 

สิ่งน่าสนใจที่ MONEY IDEAS อยากจะพูดถึงเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้คืออาชีพของมอรีนตัวเอกของเรื่องนั่นเองค่ะ เธอประกอบอาชีพเป็น Personal Shopper ทำหน้าที่คอยให้คำปรึกษาและคำแนะนำด้านแฟชั่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ ให้สอดคลอดกับอาชีพและรสนิยม รวมถึงการเลือกซื้อเสื้อผ้าแทนลูกค้า รู้อย่างนี้แล้วหนุ่ม-สาวนักช็อปคงพอมองเห็นช่องทางในการหารายได้เพิ่มแล้วใช่มั้ยล่ะ? :D

 

 

แต่นอกเหนือจากความรักในเรื่องแฟชั่นและการแต่งตัวแล้ว การที่จะเป็น Personal Shopper ได้นั้นยังต้องอาศัยทักษะด้านอื่นๆ มาเสริมอีกด้วย หากใครสนใจที่จะทำอาชีพนี้ มาเช็คตัวเองกันเลยว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนรึเปล่า!

 

1. ทักษะการสื่อสาร ทำไมทักษะนี้จึงจำเป็นกับการเป็น Personal Shopper น่ะเหรอคะ เพราะการทำงานในฐานะผู้ให้คำปรึกษาและแนะนำด้านแฟชั่นนั้น การพูดคุยกับลูกค้าเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ไม่เพียงแต่เป็นการพูดเพื่อให้คำปรึกษาเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการสอบถามลูกค้าเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่จะช่วยให้เราสามารถออกแบบและแนะนำเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าได้ ตัวอย่างคำถาม เช่น ชอบหรือไม่ชอบอะไร, ประกอบอาชีพอะไร, สไตล์เสื้อผ้าที่อยากสวมใส่, ชื่นชอบไสตล์ในการแต่งตัวของดารา นักแสดงคนไหนเป็นพิเศษมั้ย หรือมองใครเป็นไอดอลด้านการแต่งตัวรึเปล่า, ต้องการชุดลำลอง ทางการ หรือออกงานสังคม, งบประมาณ ฯลฯ

 

2. ความรู้ด้านแฟชั่น นี่เป็นทักษะที่สำคัญมาก เพราะถ้าคุณจะเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านแฟชั่นกับผู้อื่น ตัวคุณเองต้องมีความรู้ด้านนี้อย่างดีเสียก่อน รู้ทริกว่าคนผอมควรใส่เสื้อแบบไหนเพื่อให้ออกมาดูดี หรือคนอวบสามารถพรางร่างกายได้ด้วยเสื้อผ้าชิ้นไหน หรือแม้กระทั่งคู่สีที่จับมาแมทช์กันแล้วเข้ากันดี๊ดี เป็นต้น และที่สำคัญต้องชอบอัพเดตเทรนด์เสื้อผ้าใหม่ๆ เป็นนิสัย เพื่อให้การแต่งกายของลูกค้าที่คุณคอยให้คำปรึกษาไม่เอ้าท์

 

3. ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่แตกต่าง ข้อนี้จะละเลยหรือมองข้ามไม่ได้เลย เพราะคนเรามีความปัจเจกบุคคล ในด้านของความชื่นชอบ วัฒนธรรม สังคม และขนบธรรมเนียบที่แตกต่างกัน การที่ผู้ให้คำปรึกษาเข้าใจถึงความแตกต่างเหล่านี้ในแต่ละบุคคล ก็จะช่วยให้สามารถทำงานร่วมกับลูกค้าได้ง่ายและตอบโจทย์มากขึ้น

 

4. ทักษะด้านการจัดการและตัดสินใจ การทำงานในฐานะ Personal Shopper นั้น ในบางครั้งคุณอาจจะต้องตัดสินใจเลือกซื้อเสื้อผ้าแทนลูกค้า หากคุณมีทักษะด้านการจัดการและตัดสินใจที่ดีเลิศ งานแค่นี้สบายจิ๊บจ๊อย!

 

5. รู้จักเลือก ในที่นี้เราไม่ได้หมายความถึงแค่เรื่องการแนะนำหรือเลือกซื้อเสื้อผ้าให้ถูกใจลูกค้าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเลือกแหล่งซื้อ-ขายสินค้าแฟชั่นที่ดี ราคาเหมาะสม และเหนือไปกว่านั้นคือหูตาไวเรื่องของลดของเซลล์ area ไหนตั้งป้ายส่วนลด คุณจะรู้ก่อนใครเค้า! เพื่อนำสินค้าที่ดีแต่ราคาย่อมเยาว์มาเสิร์ฟแก่คุณลูกค้าที่รัก

 

 

จบไปแล้วกับทักษะ 5 ข้อที่เราลิสต์มาให้ ลองตรวจเช็คกันอยู่นะคะว่าคุณมีทักษะเหล่านี้อยู่รึเปล่า ถ้ามีแต่ยังไม่ครบถ้วน ก็ลองฝึกปรือทักษะที่ยังขาดให้ดีและโดดเด่นขึ้น เมื่อทักษะของคุณครบถ้วนเมื่อไหร่ อาชีพ Personal Shopper ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมค่ะ!

 

อย่ามองข้ามสิ่งที่คุณชอบและรักที่จะทำนะคะ ถ้าหากคุณพัฒนามันให้ถูกทางและถูกวิธี มันอาจจะกลายเป็นสิ่งที่สร้างรายได้ให้คุณในอนาคตก็ได้

 

 

ด้วยรัก, MONEY IDEAS

 

 

 

 

 

*เอกสารอ้างอิง

Barbara Farfan. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://www.thebalance.com/personal-shopper-job-description-2892473. 24 เมษายน 2560.

National Careers Service. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://nationalcareersservice.direct.gov.uk/job-profiles/personal-shopper. 24 เมษายน 2560.

Spoiler8. 2560. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.spoiler8.com/personal-shopper-2016/. 24 เมษายน 2560.

นุ่น (senseonfilms). (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.senseonfilms.com/personal-shopper-standing-ovation/. 24 เมษายน 2560.