วางแผนหนี้ดี ชีวิตมีแต่ได้กับได้

 

     ‘การไม่หนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ’ เชื่อว่าหลายคนก็คงจะคิดแบบเดียวกัน นั่นเพราะในชีวิตที่ต้องทำงานและต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการทำงาน การซื้อของเพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตย่อมเพิ่มมากขึ้นจนทำให้ในบางครั้งเราเองก็ก่อหนี้โดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่ Notebook ที่ต้องเปลี่ยนเพื่อรองรับการทำงาน แต่ก่อนก่อหนี้ทุกครั้งหากวางแผนให้ดี การมีหนี้ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว

 

     อันดับแรกของการก่อหนี้คือ ตั้งสติ!!! นั่นเพราะเราต้องเข้าใจว่าหนี้นั้นมีทั้งหนี้และหนี้ไม่ดี เพราะอย่างนั้นถ้าเราแยกแยะไม่ได้ว่าหนี้ที่กำลังจะก่อคือ ‘หนี้ดี’ หรือ ‘หนี้เสีย’ ก็จะทำให้ชีวิตการเงินของเราติดหล่ม ออกจากวงจรหนี้ไม่ได้แน่ๆ

 

พักสักนิด ก่อนคิดก่อหนี้

 

     หนี้นั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ‘หนี้ดี’ และ ‘หนี้เสีย’ หนี้ทั้ง 2 แบบเกิดขึ้นจากการกู้ยืมเงินทั้งสิ้น แต่กลับให้ผลลัพธ์แตกต่างกัน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรคือหนี้ดีและอะไรคือหนี้เสีย?

 

ก่อหนี้ดี มีแต่ได้ไม่มีเสีย

 

     ‘หนี้ดี’ คือ ‘หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้’ ถ้าสงสัยว่ามีหนี้แบบนี้ด้วย? นั่นก็เพราะในชีวิตประจำวันของเราส่วนใหญ่จะไม่ค่อยก่อหนี้ดีเท่าไหร่ หนี้ดีเป็นหนี้ที่เมื่อเราก่อนขึ้นแล้วกลับช่วยสร้างรายได้หรือความร่ำรวยให้กับเราเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เช่น

 

  1. หนี้เพื่อการศึกษา เพราะการศึกษาคือการลงทุน ถือเป็นใบเบิกทางสำหรับอนาคต และการศึกษายังช่วยเพิ่มโอกาสในหน้าที่การงาน และยังช่วยสร้างรายได้ต่อยอดจากสิ่งที่ศึกษาได้ในอนาคต
  2. หนี้เพื่อความมั่นคง ได้แก่ หนี้ที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย เพราะเมื่อเราผ่อนหมด บ้านจะกลายเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มมูลค่าขึ้น และสามารสร้างรายได้ต่อโดยการขายหรือให้เช่าต่อไปได้
  3. หนี้เพื่อสร้างอาชีพ เช่น การกู้เงินมาเพื่อลงทุนทำธุรกิจหรือซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับทำให้ธุรกิจสามารถขยายโอกาสและเพิ่มรายได้จากการผลิตให้มากขึ้น

 

สร้างแต่หนี้เสีย ชีวิตเพลียแน่!!!

 

     เมื่อมีหนี้ดีก็ต้องมีสิ่งตรงข้ามนั่นก็คือ  ‘หนี้เสีย’ หนี้ชนิดนี้เป็น 'หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้' เกิดจากการใช้เงินเพื่อสนองความต้องการ (Want) หรือเป็นหนี้ที่ทำให้ความมั่งคั่งหรือสภาพการเงินของเราไม่มั่นคง หนี้แบบนี้จึงเป็นหนี้ที่ทุกคนควรระวังให้ดีก่อนคิดจะก่อ

 

  1. หนี้เพื่อความสะดวกสบาย เช่น การผ่อน 0% เพื่อซื้อโทรทัศน์, โทรศัพท์มือถือ, บัตรคอนเสิร์ต (เราอยู่ในยุคที่บัตรคอนเสิร์ตก็ต้องผ่อนแล้ว)
  2. หนี้ที่ก่อให้เกิดภาระทางการเงิน เช่น การซื้อรถยนตร์ที่ต้องใช้เงินจำนวนมากในการผ่อนและต้องใช้ระยะเวลาในการผ่อน

 

     แต่ข้อมูลด้านบนไม่ใช่ตัวตัดสินว่าการก่อนหนี้ตามที่ได้กล่าวจะเป็นไปตามนั้นทั้งหมด การซื้อรถยนตร์มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นหนี้เสียให้กับเราแต่หากเราคำนวณแล้วว่าการซื้อรถจะช่วยประหยัดค่าเดินทางได้มากกว่าการเดินทางแบบอื่น หรือสามารถสร้างรายได้พิเศษเพิ่มเติมหากซื้อรถยนตร์ ก็ถือว่าการซื้อรถยนตร์เป็นการก่อหนี้ดี หรือแม้แต่การซื้อบ้าน หากเราซื้อบ้านและผ่อนจ่ายทุกเดือนโดยไม่กระทบการเงินของเรานั่นคือหนี้ดี แต่หากซื้อบ้านแล้วทำให้สภาพการเงินเสียหายนั่นก็นับเป็นหนี้เสีย

 

คิดให้ดี มีหนี้ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น

 

     ดังนั้นก่อนจะคิดก่อหนี้ใดๆก็ตาม ให้ลองพิจารณาปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้ก่อน

2

(ตารางจาก https://www.set.or.th/education/th/start/start_start_3_3.pdf)

 

     ถ้าคำตอบเป็นข้อ A ทั้งหมด นั่นคือหนี้ก้อนนี้มีเหตุผลที่จะก่อ และไม่น่าจะทำให้เกิดปัญหาทางการเงินในอนาคต

 

     ดังนั้นการก่อหนี้เป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละบุคคลเพราะแต่ละคนมีปัจจัยในการดำรงชีวิตแตกต่างกัน หากเราทำอาชีพพนักงานขายหรืออาชีพที่ต้องเดินทางติดต่อกับผู้คนตลอดเวลา การซื้อรถยนตร์ย่อมเป็นการประหยดทั้งเงินและเวลาให้กับเรามากกว่าคนที่มีอาชีพที่ไม่ต้องเดินทาง

 

     แต่การพิจารณาก่อนก่อหนี้นั่นคือ สภาพทางการเงิน และ ขนาดหนี้ที่ก่อ เพราะถึงแม้เราจะมีรายได้มาก แต่การมีหนี้มากก็ไม่ได้ช่วยสร้างความมั่งคั่งแต่อย่างใด กลับกลายเป็นวงจรหนี้ที่ต้องหาเงินมาเพื่อชดใช้ให้หนี้หมดไปในแต่ละเดือนเท่านั้น

 

     ไม่ว่าจะเป็น ‘หนี้ดี’ หรือ ‘หนี้เสีย’ ก็ควรคุมกำเนิดหนี้ให้มีขนาดจำกัด นั่นคือหนี้สินรวมไม่ควรมีขนาดเกิน 50% ของรายได้ทั้งหมด เพราะในแต่ละเดือนยังมีรายจ่ายเข้ามาตลอด หากมีหนี้มากกว่ารายได้ย่อมทำให้สภาพทางการเงินติดลบจนนำไปสู่การก่อหนี้ก้อนใหม่วนไปไม่รู้จบ

 

อ้างอิงข้อมูล

ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย. (มปป). การบริหารหนี้สิน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.1213.or.th/th/moneymgt/debtmgt/Pages/debmgt.aspx. สืบค้นวันที่ 8 กรกฎาคม 2559.

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. (2558).  วางแผนหนี้สิน.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.set.or.th/education/th/start/start_start_3_3.pdf.  สืบค้นวันที่ 8 กรกฎาคม 2559.