"อยากออมเงินแบบง่ายๆ หรืออยากเอาเงินไปวางไว้ที่ที่

เงินงอกเงยแถมความเสี่ยงต่ำ"

มาดามว่านี่คือความต้องการของหลายคน...

ตัวเลือกในการออมเงินแบบนั้นมีอยู่หลากหลาย แต่ที่แน่ๆ คนออมเงินส่วนใหญ่อยากให้มีใครมาการันตีให้อุ่นใจหน่อย ว่าเงินที่เก็บออมจะไม่สูญหายไป ตัวอย่างง่ายๆ ของการออมที่มีคนมารับประกันเงินต้นที่รู้ๆกัน ก็อย่างเงินฝากประจำหรือพันธบัตรรัฐบาล

ถ้าเธออยากออมเงินนานหน่อย

อยากได้อะไรที่มากไปกว่าการคุ้มครองเงินต้นและดอกเบี้ย

มาดามว่า “ประกันแบบสะสมทรัพย์” ตอบโจทย์

เพราะนอกจากเงินต้นถูกคุ้มครอง ได้เงินคืนทยอยมาเรื่อยๆ

มันมีเรื่องของการลดหย่อนภาษี แถมยังมีความคุ้มครองชีวิตด้วยล่ะเธอ

ถ้าออพชั่นนี้ฟังแล้วดูดีเร้าใจมาดามว่า เราต้องคิดนิดนึงตามนี้นะว่า...

จริงๆแล้วเราเหมาะกับประกันสะสมทรัพย์ไหม และจะทำยังไงให้เราซื้อได้คุ้มค่าที่สุด

คำถามที่เธอต้องถามตัวเองก่อนเลือกซื้อ ”ประกันสะสมทรัพย์”

เป้าหมายในการซื้อครั้งนี้คืออะไร?

ประกันสะสมทรัพย์ ชื่อมันก็บอกอยู่ชัดๆ ว่าเป้าหมายหลักคือเพื่อ “สะสม”

มันเน้นคุ้มครองตัวเงินต้นเป็นหลัก ความเสี่ยงต่ำ ไม่เหมือนพวกหุ้นพวกอะไร

มันคือการเก็บออมเงินรูปแบบนึงค่ะ แต่แทนที่จะเอาไปฝากที่ธนาคาร ก็เอามาซื้อเป็นกรมธรรม์ เอาเงินไปฝากไว้ที่เค้า บริษัทประกันก็ทยอยจ่ายผลตอบแทนในรูป “เงินคืน” ให้เราตามสัญญา เมื่อกำหนดสิ้นสุดสัญญาก็จะจ่าย “เงินครบสัญญา” เป็นเงินก้อนใหญ่คืนกลับมาให้เรา

ถ้าเป้าหมายเธอไม่ใช่การออมเงินแบบการันตีเงินต้นแล้วล่ะก็..

มาดามว่าเธอไปซื้อประกันประเภทอื่นจะเหมาะกว่า เช่นว่าอยากเน้นความคุ้มครองชีวิต ก็ไปซื้อประกันแบบตลอดชีพ หรือแบบชั่วระยะเวลาจะตรงใจกว่านะ

จำนวนเงินที่อยากออมคือเท่าไหร่ จะออมบ่อยแค่ไหน?

เธอต้องถามตัวเองก่อนว่าจะออมยังไง เท่าไหร่

ออมเป็นรายเดือน ออมเป็นรายปี

หรือออมทีเดียวเป็นเงินก้อนโยนลงไปตูมเดียวจบ เอาโจทย์ให้ชัดก่อน

ส่วนใหญ่มาดามเห็นเค้าชอบออกมาแบบรายปี ซึ่งมาดามว่ามันต้องเป็น...

“เงินเย็น” คือเป็นจำนวนเงินที่เธออยากออมโดยวางไว้นิ่งๆ

ไม่ใช่ว่ามีเรื่องเดือดร้อนอะไรก็จะวิ่งมาถอนตรงนี้ไป เดี๋ยวจะไม่ได้ประโยชน์เอา

ดังนั้น ขอให้ไม่ต้องมากแบบเต็มแม็กซ์ แต่เป็นจำนวนที่ตั้งใจออม ออมได้ โดยไม่แตะต้องเลยจนจบสัญญาจะดีที่สุด

อยากออมเงินก้อนนี้นานแค่ไหน?

ถ้าจะได้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีด้วย มันต้องออมอย่างต่ำ 10 ปีนะ

ตามเงื่อนไขของท่านสรรพากรเค้า ดังนั้น เตรียมใจไว้เลยว่าเงินนี้จะนอนนิ่งๆอย่างปลอดภัย แล้วจะกลับมาในอ้อมกอดเธอ โน่น..อย่างน้อย 10 ปีข้างหน้า

แบบนานกว่านั้นก็มีนะ ก็จะเป็นพวกสะสมทรัพย์แบบยาวๆ แบบนานๆ ก็ว่ากันไป

อยากได้ความต้องการการคุ้มครองด้วยไหม? เน้นอะไรเป็นหลัก?

ขึ้นชื่อว่าเอาเงินไปฝากไว้ในมือบริษัทประกัน ธุรกิจหลักของเค้าก็คือรับประกัน ดังนั้น ความคุ้มครองต้องมาด้วยเสมอ

ทีนี้มันอยู่ที่เธอแล้วว่าจะเอามากน้อยแค่ไหน ยังไงมันต้องมีการซื้อความคุ้มครองชีวิตกรณีเสียชีวิตเป็นขั้นต่ำ ไม่งั้นการซื้ออันนี้ก็จะไม่เรียกว่า “ประกัน”สะสมทรัพย์เข้าใจมั้ย

มาดามว่ามีไว้มันอุ่นใจนะ โดยเฉพาะถ้าเธอเป็นคนที่ 

“มีเงินเก็บหรือทรัพย์สินอย่างอื่นไม่เยอะ และ มีคนที่ต้องพึ่งพิงรายได้จากเธอ”

เพราะถ้าเธอเป็นอะไรไป คนข้างหลังคงจะลำบากอยู่พักใหญ่

นี่ไม่ใช่การแช่งตัวเอง ในภาษาการเงินเค้าเรียก “บริหารความเสี่ยง”

ถ้าเธอมีเงินเก็บหรือทรัพย์สินเยอะ ก็ไม่ต้องเน้นความคุ้มครองก็ได้ เพราะคนข้างหลังเค้าจะได้ตรงนั้นจากเธอ แต่ถ้ายังเบี้ยน้อยหอยน้อย การมีวงเงินคุ้มครองมันเพิ่มความอุ่นใจ ถือว่าซื้อความสงบจิต

ผลตอบแทนมันคำนวณยังไงกันแน่ จะรู้ได้ยังไงว่ามีทั้งความคุ้มค่าและการคุ้มครองที่ดี

การคิดอัตราผลตอบแทน (ภาษาชาวบ้านเรียกดอกเบี้ยที่ได้) มันต้องใช้สูตรคำนวณ IRR จ้ะ Internal Rate of Return จะมาดูการคำนวณที่ตัวแทนบอกหรือโบรชัวร์ บางทีมันไม่เป็นไปตามนั้นอ่ะเธอ

โชคดีเหลือเกินที่เดี๋ยวนี้มันมีเว็บไซท์ช่วยคำนวณให้แบบแสนง่าย

นี่เลยเธอ https://www.itax.in.th/market

เค้าช่วยคำนวณอัตราผลตอบแทนแถมเจาะข้อมูลทุกแผนทุกบริษัทประกันที่เค้ามีข้อมูลในมือ

(ซึ่งมาดามว่ามันก็ครอบคลุมแทบจะทั่วฟ้าเมืองไทยแล้วล่ะ)

บอกอัตราผลตอบแทนเสร็จสรรพ พร้อมให้เอามาเปรียบเทียบกันหลายๆอันได้ด้วย แค่กรอกเพศ อายุ จุดประสงค์ของประกันที่จะซื้อ!

มาดามยกตัวอย่างง่ายๆ ให้ละกันน้า

มาดามอยากส่งเงินออม 7 ปี แล้วคุ้มครองหรือได้เงินคืนประมาณหลังจากนี้ไป 14 ปี

มาดามลองใช้โจทย์ตุ๊กตาที่

  • ผู้หญิง
  • อายุ 30 ปี
  • เน้น”ออมทรัพย์” (ออมเงิน มากกว่าเน้นคุ้มครอง)
  • อยากออมโดยส่งเบี้ยรายปี ปีละ 50,000 บาท
  • เลือกบริษัทที่มีขายแผนประกันที่ลงท้ายชื่อว่า 14/7

เพียงไม่นาน..มาดามเจอของประกัน 2 เจ้า ได้ผลตามนี้

1.บริษัท M

  • ทุน (ความคุ้มครอง) 220,000 บาท
  • อัตราผลตอบแทน 1.82%
  • ส่งเบี้ยที่ 49,500 บาท (จะออกมาไม่เป๊ะที่เราต้องการ แต่ใกล้เคียงเท่าที่บริษัทนั้นมีขายค่ะ)

2.บริษัท T

  • ทุน (ความคุ้มครอง) 240,000 บาท
  • อัตราผลตอบแทน 2.21%
  • ส่งเบี้ยที่ 48,696 บาท (จะออกมาไม่เป๊ะที่เราต้องการ แต่ใกล้เคียงเท่าที่บริษัทนั้นมีขายค่ะ)