‘เกมต่อจิ๊กซอว์’ น่าจะเป็นหนึ่งในเกมที่เรียบง่ายและเพลิดเพลินที่สุดเกมหนึ่งบนโลกใบนี้

เราคุ้นเคยกับมันเป็นอย่างดี เล่นกันมาตั้งแต่เด็ก ค่อยๆ ต่อไปทีละชิ้น จนได้ภาพออกมาเหมือนภาพตัวอย่างบนกล่องที่สวยงาม

ที่จริงแล้วหลักแนวคิดเรื่องการลงทุนก็มีความคล้ายคลึงกันอย่างน่าประหลาด

หากเรามองว่า ‘ข้อมูล’ คือ ‘จิ๊กซอว์’ การลงทุนก็เหมือนการประกอบร่าง ‘เชื่อมโยง’ ข้อมูลเหล่านี้เข้าด้วยกันเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนและถูกต้องมากที่สุด

เพียงแต่ว่าในการลงทุนนั้นเราไม่เห็นภาพบนกล่อง ดั่งที่คุณ วีระพงษ์ ธัม นักลงทุนเน้นคุณค่าและอดีตนายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่าเขียนเอาไว้ในหนังสือ “30 กลยุทธ์หุ้นเปลี่ยนชีวิต” ว่า

“การลงทุนคือ ‘ศาสตร์แห่งการคาดเดาอนาคต’ […] ส่วนที่ยากของการลงทุนคือมันเป็นเกมจิ๊กซอว์ที่เราไม่เห็นกล่องว่าภาพนั้นคือภาพอะไร จุดเริ่มต้นจึงไม่ต่างจาก ‘คนตาบอดคลำช้าง’ ที่ลองผิดลองถูกไปตาม ‘ข้อมูล’ ที่ได้รับ”

เมื่อเราได้รับชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ข้อมูลแล้วจึงจะค่อยๆ ปะติดปะต่อ จินตนาการภาพออกมาว่ามันเป็นภาพอะไร

แต่สิ่งสำคัญคือ เราจะโฟกัสอยู่แค่ ‘สิ่งที่เรา’ และ ‘สิ่งที่เราไม่รู้’ ไม่ได้

คุณวีรพงษ์บอกว่า “ส่วนที่อันตรายมากกว่าคือ ‘สิ่งที่เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้’ และ ‘สิ่งที่เราคิดว่าเรารู้แต่เราไม่รู้’”

ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของความผิดพลาดในการลงทุน

แล้วเราจะลดปัญหานี้ยังไงดี?

📌 1. โจทย์แรกของจิ๊กซอว์หุ้นคือเราต้องเชื่อมโยงระหว่างภาพเล็กและภาพใหญ่

ไม่ว่าเราจะหาหุ้นโดยมองภาพใหญ่ (Top Down) ดูอุตสาหกรรมก่อน หรือภาพเล็ก (Bottom Up) ดูบริษัทที่น่าสนใจ สุดท้ายก็ต้องเชื่อมภาพสองด้านนี้เข้าด้วยกันอยู่ดี

หยิบจิ๊กซอว์แต่ละชิ้นมาวางเรียงกัน วิเคราะห์ข้อมูลแนวลึกและแนวกว้าง

ภาพที่เราอยากเห็นเป็นยังไง ข้อมูลที่ได้รับมาเพียงพอรึเปล่า อุตสาหกรรมดีไหม ธุรกิจนี้ไปต่อได้รึเปล่า

สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือ ‘วินัย’ อย่าประเมินโดยไม่มีข้อมูลที่มากพอ ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจนั้นผิดพลาดได้

📌 2. ข้อมูลมีมาก ต้อง ‘เลือก’ ข้อมูล และ ‘แยก’ เป็นหมวดหมู่

เมื่อเราเริ่มหาข้อมูลของธุรกิจหรืออุตสาหกรรม มันจะมีมากมายจนนับไม่หมด สิ่งสำคัญคือเลือกข้อมูลที่เชื่อถือได้ มีประโยชน์ แยกส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป แบ่งเป็นหมวดหมู่ เช่นคู่แข่ง ตลาด ผลกำไร แนวโน้ม ทิศทาง ฯลฯ

อย่าลืมว่าเวลาเลือกที่จะลงทุนให้พยายามอยู่ในขอบเขตความเชี่ยวชาญของตัวเองก่อน สิ่งที่เราถนัด สิ่งที่เรามองออกว่า มันทำงานยังไง อย่าเพิ่งรีบกระโจนออกไปยังอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่เราไม่คุ้นเคย

📌 3. ระวังการ ‘เข้าใจผิด’

คุณวีระพงษ์บอกว่า “การต่อจิ๊กซอว์ ชิ้นที่ต่อยากที่สุดคือ ชิ้นที่เราเข้าใจผิดว่ามันเป็นอย่างหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วมันอาจจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่เป็นจริงในธุรกิจหรือหุ้นบ่อยครั้งอาจจจะเป็นคนละเรื่อง”

ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเราดูงบการเงินของธุรกิจที่ผ่านมามันบอกว่าธุรกิจนี้เติบโตได้เป็นอย่างดี แต่บังเอิญมันไปอยู่ในอุตสาหกรรมดาวร่วงที่กำลังจะตาย สิ่งที่เห็นตอนนี้ อาจจะไม่เป็นจริงอีกต่อไปในอนาคต

ความเข้าใจผิด ทำให้เรา ‘ด่วนสรุป’

อย่าคิดว่าเห็นจิ๊กซอว์แค่ไม่กี่ชิ้นก็เอามาสรุปอธิบายทั้งหมดได้

📌 4. ข้อมูลที่ได้ เอามาเชื่อกับ ‘ความรู้’ ที่เรามี

เมื่อเรามีข้อมูล สิ่งที่เราต้องทำต่อมาคือการเชื่อมมันกับ ‘ความรู้’ ที่เรามี

ข้อมูลมันบอกแค่ว่าธุรกิจทำอะไร แต่ไม่ได้บอกว่ามันจะไปทางไหน

แผนอนาคตจะยังไง การตลาดเป็นแบบไหน ผู้บริหารคือใคร เรื่องเงินเป็นยังไงบ้าง การแข่งขัน เติบโตได้อยู่ไหม ฯลฯ

ตรงนี้ต้องอาศัยการวิเคราะห์ที่ลึกลงไปอีกขั้นหนึ่ง

📌 5. จิ๊กซอว์ตัวแรกที่ควรหยิบคือ ‘งบการเงิน’

ไม่ว่าเราจะสนใจธุรกิจไหน สำหรับนักลงทุนเน้นคุณค่า จิ๊กซอว์ตัวแรกที่ต้องหยิบขึ้นมาดูเลยคือ ‘งบการเงิน’

ตัวเลขเหล่านี้จะสะท้อนภาพความสามารถต่างๆ ของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา

เจอวิกฤติอะไรมาบ้าง ประวัติศาสตร์และการพัฒนาของมันเป็นยังไง ภาพของงบการเงินจะบอกว่าสิ่งที่เราคิดถูกต้องรึเปล่า

📌 6. ระวังการขาดจิ๊กซอว์ ‘ชิ้นสำคัญ’ ในการลงทุน

“เราจำเป็นต้องได้จิ๊กซอว์ ‘ชิ้นสำคัญ’ ให้ครบมากที่สุด เพื่อที่ไม่ให้การลงทุนของเราล้มเหลว ไม่สำคัญว่าเราจะต่อจิ๊กซอว์หุ้นได้ภาพกว้างแค่ไหน แต่ถ้าเราจาดชิ้นส่วนสำคัญเราก็สามารถผิดพลาดได้เสมอ” คุณวีระพงษ์อธิบาย

ยกตัวอย่างเช่นข้อมูลที่เราได้มาดูดีหมด เพียงแต่เราไม่ทันได้สังเกตเรื่องปัญหาการขาดสภาพคล่อง หรือผู้บริหารไม่โปร่งใส ทำให้ทุกอย่างที่เราคิดมาถูกแล้ว กลายเป็นสิ่งที่ผิดไปหมดเลย

📌 7. ต่อจิ๊กซอว์ครบให้ทำตามที่เห็น

นี่อาจจะเป็นเรื่องที่ยากที่สุด แบ่งนักลงทุนที่ชาญฉลาดกับนักทฤษฎีที่ชาญฉลาด

บางครั้งตลาดกำลังพุ่ง หุ้นวิ่งรุนแรง แต่ภาพจิ๊กซอว์ที่เราต่อได้คือเราไม่ควรลงทุนในหุ้นนี้ เราก็ต้อง ‘ฝืน’ ฝูงชนอยู่บ้าง ไม่สนใจและหาหุ้นที่เราสนใจต่อไป

หรือบางครั้งตลาดเงียบเหงา แต่เห็นแล้วว่าภาพจิ๊กซอว์ที่ต่อนั้นมันถือว่าดีมากๆ เราอาจจะต้อง ‘ฝืน’ ตัวเองเพื่อลงทุนกับภาพในจินตนาการที่ต่อขึ้นมา

สำหรับใครก็ตามที่สนใจหรือกำลังลงทุนในตลาดหุ้นอยู่ ลองนำหลักการนี้ไปใช้กันดู

ฝึกต่อภาพจิ๊กซอว์หุ้นบ่อยๆ เชื่อมโยงข้อมูลเข้าหากัน วิเคราะห์ด้วยความรู้และความเชี่ยวชาญที่ถนัด ภาพในจินตนาการกับภาพที่เกิดขึ้นจริงๆ มันอาจจะกลายเป็นภาพเดียวกัน และคุณมีโอกาสได้เห็นมันเป็นคนแรกๆ