การวางแผนการเงินไม่เพียงแต่จะมองหาแต่การจะลงทุนอะไรเท่านั้น แต่ต้องเริ่มจากการใช้จ่ายอย่างเหมาะสมด้วย

ดังนั้นการใช้จ่ายของคนทุกวันนี้ ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นไปแบบไม่มีการวางแผน

เพราะเห็นด้วยหรือไม่ว่า การจ่ายเงินแบบที่ไม่วางแผนมาก่อน มักจะทำให้เราได้ของมาก่อน แต่สุดท้ายยังไม่ได้ใช้

บางคนซื้อมาแล้วก็เก็บไว้ก่อน พอนานไปเข้าก็ลืมไปว่าซื้อมา พอวันนึงหาเจอก็มักจะกลับมานึกว่า เราซื้อไปทำไม ซื้อไปได้อย่างไร

ซึ่งบทความวันนี้ก็จะมาขอยกเคสจากชีวิตจริงๆในปัจจุบันว่า จากการที่เราไม่วางแผนการซื้อก่อน นอกจากจะได้ของที่อาจยังไม่จำเป็นแล้ว บางทีการไม่วางแผนการซื้อมาก่อน ก็จะทำให้เราจ่ายแพงกว่า การวางแผนก่อนก็ได้

ดังเช่นตัวอย่างที่ผมยกเอามาให้อ่านสัก 4-5 สินค้าที่ "ถ้าเราวางแผนก่อน เราจะจ่ายได้ถูกกว่าแน่นอน"

ตัวอย่างค่าใช้จ่ายที่มักจะแพงกว่าเสมอถ้าไม่วางแผนการซื้อมาก่อน

1. ค่าที่พัก

เห็นด้วยหรือไม่ว่า การที่เราจะวางแผนไปเที่ยวแบบกะทันหัน มักจะได้ค่าห้องพักที่แพงกว่าการจองห้องพักล่วงหน้า ดังนั้น การที่เราวางแผนล่วงหน้าว่าเดือนไหนเราจะไปเที่ยวไหนกัน ก็จะทำให้เราจองค่าที่พักล่วงหน้าได้ถูกมากยิ่งขึ้น

2. ค่าตั๋วเครื่องบิน

ก็เช่นเดียวกับค่าที่พัก เพราะ ค่าตั๋วจะยิ่งแพง เมื่อยิ่งใกล้ถึงวันเดินทาง ตัวอย่างที่ผ่านมาจองตั๋วเครื่องบินไปอเมริกา จองก่อน1เดือน ก็ยังแพงกว่าคนที่จองล่วงหน้าก่อน 2 เดือน เป็นหมื่นบาท ดังนั้น ก็ควรต้องวางแผนการเดินทางล่วงหน้าให้ดี จะได้จองตั๋วได้ถูกลง

3. ค่าเล่าเรียนบุตร

เรื่องนี้อาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่เด็กเล็กๆที่เพิ่งเกิดมาเลย เพราะ เดี๋ยวนี้มีบางโรงเรียนมีเปิดให้ซื้อใบจองเข้าเรียนได้ก่อนเลย ตั้งแต่แรกเกิดเลยเพื่อคงราคาค่าเทอมล่วงหน้าไว้ก่อนจะเข้าเรียนจริงๆ ดังนั้นเด็กที่ไม่ได้จองก่อน ก็จะเสียค่าเทอมที่สูงกว่า ขอบอกว่าเป็นหลักหมื่นเลยทีเดียว ดังนั้นท่านที่รีบวางแผนให้ลูกเรียนที่ไหนได้ก่อน ก็จะมีสิทธิได้ค่าเทอมที่ถูกกว่าอีกด้วย  รวมไปถึงอาจจะวางแผนซื้อสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ เช่นคอนโด หรือ บ้าน ไว้ล่วงหน้า ถ้ารู้ว่าลูกจะเรียนที่ไหน จะได้มีโอกาสซื้อไว้ก่อน ก็จะได้ราคาที่ถูกกว่าอีกด้วย

4. การเดินทาง

หัวข้อนี้จะขออธิบายเป็นตัวอย่างเช่น ถ้าเราจะเดินทางจากแถวสาทร เพื่อไปหาเพื่อนที่ บางนา หากเราไม่มีการวางแผนการเดินทางไว้ก่อนว่าจะไปเส้นทางไหน ก็จะทำให้เราต้องอาจจะพบกับรถติด เสียเวลา เสียค่าน้ำมัน รวมไปถึงหากไม่มีการนัดหมายกับเพื่อนปลายทาง ก็อาจจะทำให้หลงไปอีก ก็จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไปด้วย ดังนั้นควรต้องวางแผนตั้งแต่การติดต่อกับปลายทางว่าอยู่หรือไม่ รวมถึงดูจาก Google Map เป็นต้นว่า มีเส้นทางไหนไปบ้างที่รถไม่ติด หรือมีทางลัดมั้ย แถมยังรู้ด้วยว่าจะถึงภายในกี่นาที รับรองประหยัดขึ้นแน่นอน

5. ค่ารักษาพยาบาล

หัวข้อนี้อาจจะไม่เกี่ยวกับค่าสินค้า คือค่ารักษาพยาบาลซึ่งปกติก็จะมีการขึ้นราคาบ่อยๆอยู่แล้ว แต่ประเด็นนี้คือ การไม่วางแผนจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพไว้ล่วงหน้า ก็จะทำให้เวลาเราหรือคนในครอบครัวเจ็บป่วย หรือเป็นโรคร้ายแรง ก็จะได้ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่แพงมากๆ ในวันที่เรายังไม่ทันตั้งตัว

ซึ่งการทำประกันชีวิต สุขภาพ และโรคร้ายแรง คือการวางแผนจ่ายเบี้ยประกันไว้ก่อน เพื่อเอาไว้รองรับเหตุไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะสูญเสียมากกว่าค่าเบี้ยประกันหลายร้อยเท่าก็เป็นได้

ดังนั้นจากตัวอย่างที่นำมาฝาก ก็คงเป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแบบไม่ตั้งตัว ซึ่งการวางแผนการซื้อไว้ก่อนว่าเราต้องการซื้อเพื่ออะไร จำเป็นมั้ย มีขายที่ไหนบ้าง ก็จะช่วยให้เรามีเงินเหลือเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ดังนั้น จากนี้ไปจะซื้ออะไรก็ตาม ควรต้องมีการวางแผนก่อนซื้อเสมอ นะครับ

"มุ่งให้คนไทยทุกๆคนมีสุขภาพการเงินดี"

by
สุรกิจ พิทักษ์ภากร
นักวางแผนการเงิน CFP
CEO บริษัท เวลท์แพลนเนอร์ จำกัด

ติดตามบทความอื่นๆได้ที่ www.surakit.com