วันนี้ขอเอาเรื่องหลักการวางแผนการเงินตามหลักสากลทั่วโลกมาเล่าให้ฟังครับ อาจจะยาวไปหน่อยแต่เชื่อว่าถ้าได้อ่านแล้วจะเข้าใจการวางแผนการเงินมากขึ้นแน่นอนครับ ซึ่งหลายๆคนมักจะมาถามผมในการสัมมนา หรือในเพจของผมว่า "อยากวางแผนการเงินครับ ช่วยแนะนำให้หน่อยว่า ควรจะแนะนำให้ลงทุนอะไรดี  หรือ ตอนนี้ลงทุนสินทรัพย์ตัวนี้อยู่ ดีมั้ยครับ"

ซึ่งผมขอบอกว่าเป็นการเข้าใจคำว่า การวางแผนการเงิน ไม่ถูกต้องนักหรือตีความหมายแคบไป เพราะ การวางแผนการเงินนั้นไม่ใช่มีแต่เพียงการเลือกว่าเราจะเอาเงินไปลงทุนอะไรดี หรือพูดง่ายๆว่า การวางแผนการเงิน เป็นมากกว่าการวางแผนการลงทุนครับ

ซึ่งคำว่าการวางแผนการเงินแบบให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการจัดการทรัพย์สินทุกอย่างๆที่เรามีอยู่แล้ว และรวมไปถึงการจัดสรรรายรับรายจ่ายของเรา เพื่อที่จะสามารถทำให้เราบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการได้ แม้ว่าอาจจะไม่ได้ครบทุกเป้าหมายที่ต้องการทั้งหมด แต่ก็ควรต้องบรรลุเป้าหมายในส่วนที่สำคัญๆก่อนเสมอ (แน่นอนว่าทุกๆคนก็ต้องการหลายเป้าหมาย แต่ถ้างบประมาณเรามีไม่ถึงก็คงเอาเท่าที่ได้จริงมั้ยครับ)

ดังนั้นจึงอาจจะกล่าวได้ว่า การวางแผนการลงทุน การวางแผนการเกษียณอายุ การวางแผนการประกัน การวางแผนภาษี เป็นต้น ก็คือส่วนหนึ่งของการวางแผนการเงิน นั่นเอง แต่ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญให้เหมาะสมว่าควรจะต้องจัดการเป้าหมายไหนก่อน แล้วค่อยๆไล่ไป จึงจะถูกต้อง

ซึ่งเป้าหมายการเงินที่เป็นของส่วนบุคคลนั้นได้แก่
1. เป้าหมายเรื่องการเกษียณอายุ
2. เป้าหมายเรื่องการศึกษาบุตร
3. เป้าหมายเรื่องความคุ้มครองรายได้ครอบครัว
4. เป้าหมายเรื่องคุ้มครองอุบัติเหตุสุขภาพโรคร้ายแรง
5. เป้าหมายเรื่องวางแผนภาษี
6. เป้าหมายเรื่องวางแผนมรดก
เป็นต้น

และจากเป้าหมายทั้งหมดข้างต้น จะเห็นว่ามีหลายเรื่องมากๆที่ต้องวางแผน แล้วเราจะวางแผนเป้าหมายอะไรก่อนหลังดีล่ะ?

ซึ่งตามหลักที่ทุกหลักสูตรวางแผนการเงินทั่วโลกใช้กัน ก็คือ การวางแผนการเงินตามหลักของปิรามิดทางการเงิน ( Financial Planning Pyramid)  ซึ่งหากท่านลองไป search คำว่า Financial Planning Pyramid ใน Google เราก็จะพบกับรูปปิรามิดมากมายหลายแบบเลยทีเดียว

แต่ทุกๆรูปมีหลักยึดเดียวกัน ซึ่งสามเหลี่ยมท่ีว่านั้น ก็คือ "ปิรามิดทางการเงิน"

หลักของการวางแผนการเงินตามหลักสากล นั้นก็ต้องเริ่มมาจากฐานรากของปิรามิด ซึ่งก็คือ

1. การวางแผนรายรับรายจ่าย (Cash Flow Management)

เพราะ เรื่องการบริหารรายรับรายจ่าย คือ พื้นฐานหรือฐานรากของการวางแผนการเงินจริงๆ เพราะ มันคือจุดชี้วัดว่าคนๆนี้ จะสามารถก้าวไปสู่เป้าหมายสุดท้ายที่คุณต้องการได้หรือไม่ คือ เงินเพื่อการเกษียณ เพราะ หากเรามีรายรับ น้อยกว่ารายจ่าย หรือ รายรับไม่มากกว่ารายจ่าย แบบนี้ แน่นอนว่า คุณไม่มีเงินเหลือเก็บเลยนะครับ แถมถ้าเราเกิดเป็นหนี้ โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต จะมีเงินเหลือมาจัดการเป้าหมายอื่นมั้ย?  ดังนั้นหากมีหนี้ที่ไม่ใช่เกี่ยวกับการผ่อนสินทรัพย์ ก็ควรต้องรีบจัดการก่อนเป็นอย่างแรก

และหากเราจัดการหนี้อย่างดีแล้ว และบริหารให้มีรายรับมากกว่ารายจ่ายแล้ว ก็ควรต้องมีเงินสำรองฉุกเฉิน 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เพื่อเกิดวันนึงเราเกิดต้องตกงาน หรือ หยุดงานกระทันหัน เราก็ยังพอเงินมากพอที่จะกินอยู่ ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ อย่างน้อยก็ 3 -6 เดือน ครับ  โดยสรุปง่ายๆของขั้นที่ 1 นี้ก็คือการมีวินัยทางการเงินของเรานั่นเอง ซึ่งหลังจากตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงขั้นตอนต่อไปคือ

2. การวางแผนจัดการความเสี่ยง ( Risk Management)

ซึ่งวัตถุประสงค์ของขั้นนี้คือ การประเมินว่าถ้ามีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับชีวิต ทั้งตัวเราและครอบครัว เช่นการจากไปก่อนวัยอันควร การเจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล การป่วยโรคร้ายแรง รวมถึงกับทรัพย์สินของเราเช่นรถ,บ้าน เช่น ขับรถชน ไฟไหม้บ้าน เราจะเดือดร้อนมั้ย ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าเกิดเหตุดังที่กล่าวมา ก็มักจะทำให้เราต้องสูญเสียเงินก้อนใหญ่ ซึ่งเป็นเงินก้อนที่ไม่ตั้งตัว อาจจะเป็นเงินก้อนที่ตั้งใจเก็บไว้เพื่อเกษียณ แต่ต้องเอามาจ่ายค่าเสียหายในเหตุการณ์ดังกล่าว

ดังนั้นก็เหมือนกับว่า เรามีเงินเก็บในตู้เซฟแต่ ตู้เซฟนั้นมีรูรั่วอยู่ ดังนั้นเก็บๆไป ก็อาจจะต้องถอนมาก่อนเวลาที่ตั้งใจ เป็นต้น ซึ่งการวางแผนจัดการความเสี่ยงที่ถูกต้องคือการโอนความเสี่ยงให้บริษัทประกันรับผิดชอบดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือประกันวินาศภัย เป็นต้น ซึ่งหากมีการโอนความเสี่ยงที่ดีพอ ก็จะไม่ไปกระทบกับแผนการเงินอื่นๆ เช่นกองทุนเกษียณ หรือกองทุนการศึกษาบุตร เป็นต้น

3. การวางแผนเพิ่มพูนความมั่งคั่ง ( Wealth Creation )

ในข้อนี้ก็คือการวางแผนที่จะทำให้เรามีมูลค่าสินทรัพย์ที่เพิ่มพูนขึ้น เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่สำคัญในอนาคต ซึ่งจะมีอยู่ 2 ส่วนสำคัญคือ

3.1 การออมเพื่อเป้าหมายสำคัญในชีวิต ( Saving for goal )

ซึ่งก็คือ การออมเพื่อเป้าหมายเกษียณอายุ กับ การออมเพื่อทุนการศึกษาบุตร  ซึ่งทั้ง 2 เป้าหมายนี้คือเป้าหมายสำคัญที่เราจะพลาดไม่ได้เลย เพราะ ทั้งเงินเพื่อเกษียณและเงินเพื่อให้ลูกเรียนนั้น มันไม่มีไม่ได้ บางคนเลยเรียกการออมในส่วนนี้ว่า "Serious Money" คือเงินต้องมี ณ วันที่ต้องการใช้ ดังนั้น สินค้าการเงินที่จะทำให้เงินเพิ่มพูนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้จึงควรต้องมีความเสี่ยงที่ไม่สูง และในส่วนการออมเพื่อการเกษียณนั้นก็ควรต้องมีสภาพคล่องที่ต่ำ และควรมีระยะเวลาที่ยาวพอเพื่อให้ได้เงินก้อน ณ วันที่ เกษียณพอดี เช่นการออมผ่านประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ แบบบำนาญ กองทุนสำรองเสี้ยงชีพ กองทุน RMF หรือกองทุนตราสารหนี้ก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่คนเรามักจะไม่อดทนพอกับการออมระยะยาว เลยทำให้มักจะออมสั้นๆ สุดท้ายวันที่เกษียณก็มีเงินไม่พอใช้

3.2 การลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงย ( Investment )

ซึ่งส่วนที่ 2 นี้ก็ต้องทำหลังจากการออมเงินเพื่อเป้าหมายสำคัญเรียบร้อยแล้ว และยังมีเงินสดส่วนเหลือที่เกินจากการวางแผนส่วนที่ผ่านมา ซึ่งส่วนนี้เอง ที่คนส่วนใหญ่มักที่จะถามกันมาเยอะ ว่าจะไปลงทุนอะไรดี แน่นอนครับว่า ส่วนการลงทุนนี้ก็เพื่อทำให้เรามีโอกาสเพิ่มพูนความมั่งคั่งได้เร็วขึ้น ซึ่งถ้าเกิดการลงทุนนั้นมันเกิด Work ขึ้นมา เช่นผลตอบแทนเกิดเติบโตได้มากกว่าที่คาดหวัง เช่น Port การลงทุนดันโตถึง 15-20%  ต่อปีพอดี ก็อาจจะทำให้เราถึงเป้าหมายเกษียณเร็วขึ้น แต่การลงทุนที่จะได้ผลตอบแทนสูงๆนั้น มักจะไม่กินเวลานานเช่น อาจจะโตปีนี้ แต่ปีถัดไปอาจจะติดลบ 50% ก็ได้

ดังนั้นคนที่มีเงินเหลือแล้วมาลงทุนในส่วนนี้จึงอาจจะต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญและ สามารถรับความเสี่ยงได้สูงด้วย และที่สำคัญคือ หากเกิดภาวะการลงทุนเราไม่เป็นไปตามที่คาดหวังเช่น ผ่านไป 5 ปี Port ของเรากลับติดลบไป 20% ก็จะไม่กระทบกับเป้าหมายเกษียณของเรา เพราะ เราได้ทำการออมเพื่อเป้าหมายสำคัญในข้อ 3.1 เรียบร้อยแล้ว จริงมั้ยครับ

แต่ส่วนมากคนมักจะข้ามขั้น ไม่มีการออมเพื่อเป้าหมายสำคัญเลย โดยเอาเงินมาลงทุนในส่วนนี้เลยเช่น เอามาลงทุนหุ้น หรือกองทุนหุ้น เลย ถ้าเกิดมันเติบโตก็โชคดีไป แต่ถ้าดันไปพลาดขาดทุนตอนใกล้เกษียณนี่ ก็แทบจะกลับมาเริ่มใหม่ยากแล้วครับ ดังนั้นในส่วนนี้จึงขอแนะนำให้ทำในส่วนที่1 คือการออมเพื่อเป้าหมายสำคัญให้ดีก่อน ถ้ามีเงินเหลือค่อยมาจัดแผนการลงทุนเพื่อต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้นต่อไป

4. การส่งมอบความมั่งคั่ง ( Wealth Distribution )

ซึ่งส่วนนี้ก็คือส่วนสุดท้ายของการวางแผนการเงิน เพราะ พอทำงานนานๆ ก็มักจะมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นได้แก่ บ้าน ที่ดิน รถยนต์ โรงงานเป็นต้น ซึ่งหากวันนึงเจ้าของสินทรัพย์นี้เกิดจากไป ทรัพย์สินต่างๆที่เรียกว่า มรดก ก็จะต้องถูกส่งมอบให้กับทายาทต่อไป ไม่ว่าจะเป็น บุตร หลาน เป็นต้น ซึ่งหากก่อนเสียชีวิตไม่ได้มีการเขียนพินัยกรรมไว้ ก็ต้องมาแบ่งมรดกตามผู้สืบสันดาน ซึ่งหลายๆครอบครัวก็เกิดปัญหาคือแบ่งมรดกไม่ลงตัว เกิดทะเลาะกันต่อไปได้

ดังนั้นจึงควรวางแผนส่งมอบสินทรัพย์ ที่เรียกว่า "การวางแผนมรดก" ก่อนจะเสียชีวิต ก็คือการ จัดทำพินัยกรรม เพราะการทำพินัยกรรมคือการระบุคนรับมรดกตามเจตนาของเจ้ามรดกอย่างแท้จริง รวมถึงตอนนี้มีกฎหมายภาษีมรดกมาบังคับใช้แล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องวางแผนมรดกอย่างรอบคอบมากขึ้นอีกด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีมรดกมากเกินความจำเป็น

สุดท้ายในภาพปิรามิดวางแผนการเงินจะมีส่วนของการวางแผนภาษี ซึ่งตามหลักวางแผนการเงินจะถือว่าเป็นผลพลอยได้จากการวางแผนการออม เช่นทำอย่างไรให้เสียภาษีน้อยลง รัฐบาลก็เลยสนับสนุนให้คนที่วางแผนการออมระยะยาว เช่นลงทุนกับกองทุน RMF การซื้อประกันชีวิต และประกันบำนาญเป็นต้น ให้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้น ซึ่งหากเราทำออมเงินเพื่อเกษียณ แล้วได้ลดหย่อนภาษีเพิ่มด้วยก็ถือว่าเราได้ผลตอบแทนจากการออมนั้นเพิ่มขึ้นไปด้วย

ดังนั้น สรุปการวางแผนการเงินตามหลักของ Financial Planning Pyramid จึงเป็นการวางแผนการเงินตามหลักสากลที่ทั่วโลกใช้กัน แต่ต้องสอดคล้องกับงบประมาณที่เรามี สินทรัพย์ที่เรามี วินัยการเงินที่เรามี รวมถึงรายรับรายจ่ายของเราด้วยว่า เราสามารถวางแผนการเงินได้ถึงระดับขั้นไหน ซึ่งไม่ควรอย่างยิ่งที่จะวางแผนข้ามขั้น เช่นหากเราละเลยการจัดการความเสี่ยงที่ดีพอ แล้วไปให้ความสำคัญกับการลงทุนเลย ก็อาจจะมีปัญหาได้หากต้องเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรง เพราะต้องเอาเงินจาก Port การลงทุนมารักษาตัว เป็นต้น

ดังนั้นหากเราต้องการให้แผนการเงินของมีความมั่งคั่งและยั่งยืน ก็ลองมาวางแผนตามปิรามิดวางแผนการเงินกันนะครับ

*** มุ่งให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพการเงินดี ***

by
สุรกิจ พิทักษ์ภากร
นักวางแผนการเงิน CFP
CEO บริษัท เวลท์แพลนเนอร์ จำกัด
#wealthplanner

ติดตามบทความอื่นๆได้ที่นี่ www.surakit.com