ถ้าถามว่าวันนี้คุณมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลมั้ย คนส่วนใหญ่ถ้าอยู่ในวัยทำงานก็มักจะบอกว่า มีประกันกลุ่มของบริษัทบ้าง มีสิทธิเบิกของรัฐหรือขององค์กรบ้าง หรือไม่ก็มีประกันชีวิตส่วนตัวบ้าง หรือถ้าบางคนไม่มีประกันที่ซื้อไว้ อย่างน้อยก็มีประกันสังคม หรือสิทธิประกันสุขภาพทั่วหน้า 30 บาท รักษาทุกโรค

แต่ตามที่ส่วนใหญ่พอเข้าใจคือ สวัสดิการที่เป็นของภาครัฐ ก็อาจจะมีเงื่อนไขการเข้ารับการรักษาพอสมควร เช่นใช้ได้เฉพาะโรงพยาบาลของรัฐ หรือเบิกยาได้เฉพาะในบัญชีที่ระบุไว้ รวมถึงการบริการก็อาจจะไม่สะดวกสบายมากเท่ากับ การรักษากับสถานพยาบาลที่เป็นของเอกชน

ดังนั้นบางคนจึงมักจะเลือกที่จะซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติม หรือบางบริษัทก็อาจจะมีประกันกลุ่มเพิ่มให้กับพนักงาน ซึ่งก็ถือว่าเป็นทางเลือกเพิ่มหากต้องเจ็บป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล

ซึ่งปัจจุบันนี้ คงได้ยินข่าวว่า ปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนใหญ่ๆ ก็มีอัตราเพิ่มสูงมากขึ้น เช่นค่าห้องพักแบบเดี่ยวธรรมดา โรงพยาบาลชั้นนำย่านฝั่งธน เดี๋ยวนี้ มากกว่าคืนละ 5,000 บาท เลยทีเดียว ถ้าเป็นโรงพยาบาลชั้นนำ ค่าห้องเดี่ยวก็คืนละเป็นหมื่นๆแล้วครับ

ส่วนสาเหตุที่ค่ารักษาโรคต่างๆ ในปัจจุบันที่เพิ่มในอัตราสูงขึ้น ก็เนื่องมาจาก วิวัฒนาการทางการแพทย์ดีขึ้น อุปกรณ์ต่างๆก็ใช้เป็นระบบคอมพิวเตอร์มากขึ้น บางคนเลยอาจจะเรียกการรักษาพยาบาลในปัจจุบันว่า “ถ้าอยากเจ็บตัวน้อย ก็ต้องจ่ายหนัก”

รวมไปถึงคนที่เป็นโรคร้ายแรงในสมัยนี้ก็สามารถมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ถ้าได้ยาที่มีคุณภาพดีระดับเกรดเอ และยาบางตัวอาจต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งก็คงมีราคาที่สูงมากๆอีกด้วย

ดังนั้น คนที่มีความคาดหวังที่ต้องการได้ระดับการรักษาที่ดีขึ้น ได้ความสะดวกสบายมากขึ้น อยากได้อุปกรณ์การรักษาดีๆ หรือยาดีๆ ก็มักจะที่จะเลือกซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติม ตามกำลังที่จ่ายเบี้ยประกันได้ต่อปี

ซึ่งปัจจุบันนี้ บริษัทประกันหลายๆบริษัทก็มี แผนให้เลือกมากมายได้แก่ แผนคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล แผนชดเชยรายได้หากต้องนอนโรงพยาบาล แผนคุ้มครองโรคร้ายแรง แผนคุ้มครองมะเร็ง แผนคุ้มครองอุบัติเหตุ เป็นต้น

แต่ปัจจุบันก็มักจะพบคนที่ล้มเหลวทางการเงิน เพราะต้องเผชิญกับการเจ็บไข้ได้ป่วยแบบไม่ตั้งตัว ทำให้ต้องเสียเงินเสียทองที่มากกว่าที่คาดไว้ เช่น เป็นไส้ติ่งอักเสบ ก็ต้องรีบรักษาทันที หรือ บางคนถึงขั้นเป็นมะเร็ง ก็ต้องใช้เงินรักษามากมายและยาวนานเป็นต้น

ดังนั้นจึงได้รวบรวมข้อผิดพลาดในการวางแผนประกันสุขภาพ ไว้ดังนี้ เพื่อมิใช้แผนการเงินล้มเหลวได้ในอนาคต

1. ทำประกันสุขภาพช้าเกินไป ( เรียกง่ายๆว่า ทำประกันไม่ทัน นั่นเอง)

กลุ่มนี้มักจะบอกตัวเองว่า เราอายุน้อย ยังแข็งแรงอยู่ น่าจะยังไม่ป่วยอะไร ซึ่งแต่พอเกิดเหตุก็ทำไม่ทันเสียแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นคนส่วนใหญ่เลยทีเดียวที่คิดแบบนี้ ส่วนใหญ่ก็มักจะคิดว่า ซื้อประกันไปตอนนี้ก็ยังไม่ได้ใช้แล้วก็จะกลายเป็นจ่ายเบี้ยประกันฟรีๆ เอาเงินไปทำอย่างอื่นจะดีกว่า

ซึ่งการที่คิดแบบนี้ถือว่าไม่ผิดแต่อย่างใด แต่ก็อาจจะถือว่าประมาทมากเกินไป ดังนั้นใครก็ตามที่คิดแบบนี้ ก็อาจจะลองเปิดใจมองตัวอย่างอื่นๆ เช่น ในโฆษณาทีวีเราจะเห็นว่ามีคนป่วยมะเร็งปอด ทั้งที่ไม่ได้สูบบุหรี่ ก็มี หรือปัจจุบันนี้โรงพยาบาลเด็กก็มีเด็กที่ป่วยเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้นจึงอยากให้คนในกลุ่มนี้คิดว่า การทำประกันสุขภาพคือการโอนความเสี่ยงให้บริษัทประกันรับผิดชอบ หากเกิดเหตุแบบไม่ตั้งตัวต้องเข้ารักษาพยาบาล ก็ลดความเดือดร้อนเรื่องค่ารักษาพยาบาลลงได้ ซึ่งประกันโรคร้ายแรงถ้าซื้อตอนอายุน้อยๆ เบี้ยก็ไม่สูงอีกด้วย

2. ทำประกันสุขภาพวงเงินคุ้มครองน้อยเกินไป

กลุ่มนี้ก็ถือว่าได้ซื้อประกันสุขภาพไว้แล้วแต่อาจจะซื้อเพราะ ไม่อยากเสียเบี้ยประกันสูงๆ เพราะเป็นเบี้ยเสียเปล่าจึงซื้อไว้ไม่เยอะ หรืออาจคิดไปว่าอายุน้อยซื้อแต่นี้ก่อนเดี๋ยวอายุมากๆ ค่อยซื้อเพิ่ม

ดังนั้นปัญหากลุ่มนี้จะพบว่าพอตัวเองต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล แล้วกลับต้องมาเสียเงินเพิ่มอีกมากมาย ก็ทำให้กระทบกับแผนการเงินด้านอื่นเหมือนกัน

ดังนั้นกลุ่มนี้จึงควรตรวจสอบกรมธรรม์ของตัวเองด้วยว่า วงเงินคุ้มครองที่ตัวเองมีอยู่เพียงพอที่ต้องการมั้ย ควรต้องซื้ออะไรเพิ่ม

3. ลืมคิดไปว่าค่ารักษาพยาบาลจะปรับขึ้นทุกๆปี

อย่าลืมว่าค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลมีแนวโน้มที่แพงขึ้นทุกๆปี เฉลี่ยแล้วปีละ 7-10% ต่อปี ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันเราอาจจะซื้อประกันสุขภาพในระดับที่เหมาะสมแล้ว แต่ก็อาจจะไม่พอกับค่ารักษาพยาบาลในอนาคตได้

ดังนั้นจึงควรต้องหมั่นตรวจสอบกรมธรรม์ของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อมีโอกาสปรับเพิ่มต่อๆไป ให้พอกับภาวะปัจจุบันเสมอๆ

4. ความคุ้มครองของประกันสุขภาพที่มีอยู่สั้นเกินไปไม่พอถึงยามหลังเกษียณ

กลุ่มนี้มักจะเป็นกลุ่มที่มีประกันกลุ่มขององค์กรอยู่แล้ว เลยยังไม่คิดที่จะซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติม ซึ่งปัญหาที่จะตามมาคือเมื่อถึงยามเกษียณอายุคือสิ้นสุดการทำงานจากองค์กร สวัสดิการที่บริษัทให้ก็มักจะหมดไปด้วย (เรียกง่ายๆ ว่าสวัสดิการติดกับตำแหน่ง ไม่ติดกับตัวเรา)

ซึ่งถ้าอยากจะมีสวัสดิการต่อไปหลังเกษียณก็ต้องหาซื้อใหม่เอง แต่ปัญหาส่วนมากที่ตามมาคือ โอกาสในการซื้อจะยากขึ้น เนื่องจากเมื่อสูงอายุขึ้น ก็มักจะมีโรคประจำตัว เช่นความดัน เบาหวาน รวมถึงมีประวัติการการรักษาโรคอื่นๆมาก่อน

ดังนั้นหากเราพอจะซื้อประกันสุขภาพก่อนตั้งแต่อายุน้อยๆ ก่อนเกษียณได้ก็จะปลอดภัยและอุ่นใจกว่าในระยะยาว

5. ลืมประมาณการค่าเบี้ยประกันสุขภาพที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นในอนาคต (ข้อนี้น่าจะเป็นข้อที่คนละเลยมากที่สุด)

ข้อนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ แต่คนส่วนใหญ่มักจะละเลยปัญหาที่จะตามมาแน่นอนคือ เมื่ออายุมากๆเบี้ยประกันสุขภาพบางตัวเช่น แผนค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาล แผนคุ้มครองโรคร้ายแรง อาจจะมีค่าเบี้ยที่สูงมากด้วยเช่นกัน
เพราะ เบี้ยประเภทนี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะปรับตามอายุ เช่นตอนอายุน้อยๆ ดูแล้วเบี้ยไม่แพงเลย เราเองก็เลยไม่สนใจเพราะจ่ายไหว แต่พอเมื่อถึงวัยเกษียณวันนั้นเราอาจอยากพักผ่อน เพราะไม่มีรายได้ แต่กลับต้องมาเจอปัญหาเรื่องเบี้ยประกันสุขภาพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากเราจ่ายเบี้ยไม่ไหวก็อาจทำให้ต้องทิ้งแผนคุ้มครองสุขภาพนั้นไปก็ได้
ดังนั้นเราจึงควรตรวจสอบเบี้ยประกันสุขภาพในอนาคตที่ต้องชำระตั้งแต่วันนี้ เผื่อเตรียมแผนการรับมือ โดยอาจจะวางแผนเรื่องการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อเตรียมพร้อมกับเบี้ยประกันที่ต้องชำระในอนาคตได้

สุดท้ายนี้หลังจากได้ทราบถึง 5 ข้อผิดพลาดดังกล่าวแล้ว ก็จะทำให้ทุกท่านมีการจัดการเรื่องแผนคุ้มครองสุขภาพให้ตัวเองและครอบครัวได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

ซึ่งต้องบอกว่า “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน” นั้นเกิดขึ้นกับทุกคนได้เสมอ ดังนั้นหากเรามีการวางแผนเรื่องประกันสุขภาพอย่างดีพอ ก็จะเป็นการลดความเสี่ยงของความล้มเหลวในการวางแผนการเงินของทุกๆท่านอย่างแน่นอนอีกด้วย

***  มุ่งให้คนไทยทุกๆคนมีสุขภาพการเงินดี ***

by
สุรกิจ พิทักษ์ภากร
นักวางแผนการเงิน CFP
 #wealthplanner

ติดตามบทความวางแผนกาเงินอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ www.surakit.com
#สนใจวางแผนการเงิน #สนใจเป็นนักวางแผนการเงิน