บางคนอาจจะเริ่มสงสัยว่า เฮ้ย! ทำได้ด้วยเหรอ ปล่อยกู้แบบถูกกฏหมายเนี่ยนะ?

ได้สิครับ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ตราสารหนี้” หรือ ที่เราเรียกกันติดปากว่า “หุ้นกู้” นั่นแหละครับ เพราะนิยามของตราสารหนี้แบบกว้าง ๆ เขียนไว้ว่า

“ตราสารหนี้” คือ ตราสารทางการเงินที่แสดงถึงพันธะสัญญาการเป็นหนี้ระหว่างผู้ออกตราสาร (ผู้ขอกู้เงิน) และผู้ถือตราสาร (ผู้ให้กู้เงิน)

หรือก็คือ บริษัทต่าง ๆ ที่ออกหุ้นกู้มาขาย คือ ผู้มาขอกู้เงิน จากเราซึ่งเป็นนักลงทุน ก็คือ ผู้ให้กู้เงิน นั่นเอง

อ่านแล้วงงใช่มั้ยครับ? งั้นลองมานึกภาพตามกัน

นายบอล เปิดร้านทำขนมเป็นของตัวเองมาระยะหนึ่งและมียอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง ต่อมาอยากจะปรับปรุงและขยายร้าน ซึ่งต้องใช้เงินทุนจำนวนหนึ่ง แต่นายบอลมีภาระเงินกู้ SME จากธนาคารอยู่แล้ว แถมมีดอกเบี้ยค่อนข้างสูงอีกต่างหาก ถ้าไปกู้เพิ่มก็จะยิ่งโดนดอกเบี้ยสูงอีกหรืออาจกู้ไม่ผ่านด้วยซ้ำ

นายบอลเกิดคิดถึงนายแมคเพื่อนซี้ซึ่งจัดว่ามีฐานะ จึงติดต่อกับนายแมคเพื่อขอทำสัญญายืมเงิน โดยจะระบุชัดเจนในสัญญานี้ว่า จะขอยืมเงินเป็นเวลากี่ปี จ่ายดอกเบี้ยปีละกี่เปอร์เซ็นต์ และจะจ่ายดอกเบี้ยปีละกี่ครั้ง รวมถึงข้อกำหนดและเงื่อนไขอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งนายแมคก็เห็นว่าร้านของนายบอลนั้นดูก็คนเยอะตลอด มีออร์เดอร์ต่อเนื่อง และนายบอลก็รู้จักกับนายแมคมานานน่าจะเชื่อถือได้ คงไม่โดนเบี้ยว จึงยินยอมทำสัญญา

จากการตกลงดังกล่าว จึงเกิดสัญญาอันหนึ่งขึ้นระหว่าง นายบอล กับ นายแมค โดย นายบอล คือ ผู้ออกตราสาร (ผู้ขอกู้เงิน) เพราะเป็นผู้ร่างสัญญา ส่วน นายแมค คือ ผู้ถือตราสาร (ผู้ให้กู้เงิน) เพราะเป็นคนถือสัญญา และสัญญานี้นี่เองที่เรียกว่า "ตราสารหนี้" นั่นเอง มันคือสิ่งที่แสดงถึงข้อตกลงระหว่างลูกหนี้ (นายบอลผู้ขอกู้เงิน) กับเจ้าหนี้ (นายแมคผู้ให้กู้เงิน) นั่นแปลว่า นายบอลก็มีหน้าที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้ทุกปีตามที่ตกลงในสัญญาจนครบกำหนดปีสุดท้ายก็จะคืนเงินที่ยืมทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยงวดสุดท้ายให้กับนายแมค

ประโยชน์ที่นายบอลหรือผู้ออกตราสารหนี้ได้ คือ การได้เงินทุนไปใช้สำหรับปรับปรุงหรือขยายกิจการ ด้วยต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการไปกู้จากธนาคาร

ประโยชน์ที่นายแมคหรือผู้ถือตราสารหนี้ได้ คือ การได้รับผลตอบแทนที่แน่นอนในรูปดอกเบี้ยอีกทั้งยังสูงกว่าการนำเงินไปฝากธนาคารอีกด้วย ซึ่งตรงนี้แหละครับ คือ สิ่งที่เราในฐานะนักลงทุนจะได้จริง ๆ เวลาที่เราลงทุนในการซื้อตราสารหนี้หรือหุ้นกู้

ในชีวิตจริง ผู้ออกตราสารหนี้ (ผู้ขอกู้เงิน) จะเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ 1) รัฐบาล / รัฐวิสาหกิจ 2) บริษัทเอกชน ขณะที่ผู้ถือตราสารหนี้ (ผู้ให้กู้เงิน) จะเรียกโดยรวมว่า นักลงทุน ซึ่งมีตั้งแต่บุคคลธรรมดาทั่วไปอย่างเรา ๆ นี่แหละครับ รวมไปถึงนักลงทุนสถาบันต่าง ๆ เช่น กองทุน ธนาคาร บริษัทประกัน เป็นต้น

1) ตราสารหนี้ที่ผู้ออกเป็น ‘รัฐบาล / รัฐวิสาหกิจ’

- ถ้าอายุของตราสารหนี้ที่ออกอายุมากกว่า 1 ปี จะเรียกว่า ‘พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond)’ / ‘พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (State-Own-Enterprise Bond หรือ SOE Bond)’

- ถ้าอายุของตราสารหนี้ที่ออกอายุไม่เกิน 1 ปี จะเรียกว่า ‘ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill หรือ T-Bill)’

2) ตราสารหนี้ที่ผู้ออกเป็น ‘บริษัทเอกชน’ จะเรียกว่า ‘หุ้นกู้ (Corporate Bond)’ ซึ่งมีทั้งอายุไม่เกิน 1 ปี (Short-term corporate bond) และ มากกว่า 1 ปี (Long-term corporate bond)

น่าสนใจใช่มั้ยครับ ดูได้ผลตอบแทนค่อนข้างเสถียรดี ว่าแต่ แล้วคนทั่ว ๆ ไป อย่างเรา ๆ เนี่ย สามารถไปซื้อพวกพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้ได้เองเลยรึเปล่า? แล้วไปซื้อได้ที่ไหนบ้าง? เพราะปกติก็จะคุ้นเคยกับการซื้อขายกองทุนตราสารหนี้กันมากกว่า

ถ้าอยากรู้ก็ต้องขอให้อดใจรอและติดตามกันต่อในตอนต่อไปนะครับ

#เรื่องราวการลงทุนอ่านง่ายแบบพอดีคำ

Disclaimer: บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเท่านั้น มิได้มีวัตุประสงค์ในการชี้นำหรือแนะนำในการตัดสินใจในการลงทุนใด ๆ