(*หมายเหตุ : บทความนี่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจอยากจะทำงานเป็นที่ปรึกษาหรือนักวางแผนทางการเงินใน บริษัทที่ปรึกษาการเงินอิสระ และข้อมูลที่ปรากฏ เป็นเพียงข้อมูลที่เกิดจากประสบการณ์และความคิดเห็นของตัวผู้เขียนเองเท่านั้น อาจมิใช่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเหมือนกันกับ บริษัทที่ปรึกษาการเงิน ทุกๆบริษัท โดยที่ผู้เขียนมิได้มีเจตนาโจมตี หรือเจาะจงไปที่บริษัทใดๆทั้งสิ้น โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน)

“พี่ครับ ผมอยากเป็นนักวางแผนการเงิน จะไปสมัครงานที่ไหนดีครับ?”

“พี่ครับ ผมเห็นบริษัท xxx เขารับสมัครที่ปรึกษาการเงิน บริษัทนี้เป็นไงบ้างครับพี่ ผมสมัครดีไหม?”

“พี่คะ ถ้าหนูจะเป็นนักวางแผนการเงิน ต้องไปเริ่มต้นที่ไหน?”

เหล่านี้คือคำถามที่มีคนส่งมาถามผมหลังไมค์ในเพจอยู่เป็นระยะ แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบัน เริ่มมีคนสนใจในอาชีพนักวางแผนการเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ (ศึกษาข้อมูลของอาชีพนักวางแผนการเงินได้ที่ 2 บทความนี้ “ตีแผ่อาชีพ”! นักวางแผนทางการเงินคือใคร? (ตอนที่ 1) และ “ตีแผ่อาชีพ”! นักวางแผนทางการเงินคือใคร? (ตอนที่ 2)) ผมจึงเห็นว่ามันเป็นประเด็นที่หลายคนสนใจ และอยากรู้ และที่สำคัญคือ ไม่เคยมีที่ไหนบอก และเอาข้อมูลข้างในมาตีแผ่ให้คนข้างนอกได้รับรู้จริงๆซักที ว่าการทำงานใน บริษัทที่ปรึกษาการเงิน เหล่านี้เป็นอย่างไร ทั้งๆที่มันก็เป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจทำอาชีพนี้ระดับหนึ่งเลยทีเดียว เนื่องจากสิ่งที่ทางหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจัดหาให้ มีแต่เพียงสถาบันที่ให้ความรู้ จัดสอบ และมอบคุณวุฒิอย่าง ตลาดหลักทรัพย์ (SET) หรือสมาคมนักวาวแผนทางการเงินไทย (TFPA) เท่านั้น แต่ไม่ได้ชี้แนะแนวทาง หรือจัดหาลู่ทางให้ว่า หลังจากมีความรู้ หรือได้รับวุฒิบัตรในด้านการวางแผนการเงินแล้ว ควรจะทำยังไงต่อ? เพื่อให้ปฏิบัติงานตามแนวทางการวางแผนการเงินจริงๆได้ ในสายอาชีพนี้ (ปัจจุบันเรียนจบแล้ว ก็ต้องไปหาวิธีการกันเอาเอง)

ดังนั้น วันนี้ผมจะขอพาใครก็ตามที่สนใจในอาชีพนี้ มาทำความรู้จัก บริษัทที่ปรึกษาการเงิน ต่างๆเหล่านี้กัน เพื่อดูว่า หากสนใจเข้าไปทำงานในบริษัทที่ปรึกษาการเงินเหล่านี้ เพื่อสานต่อเส้นทางเป็นนักวางแผนการเงินของแล้ว เราจะต้องเจอกับอะไรบ้าง

1. โครงสร้างภายนอกของบริษัท

เพื่อให้เห็นภาพ บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน เหล่านี้ โดยมากมักจะอยู่ในรูปแบบของ “ออฟฟิศ” ขนาดเล็ก โดยจะมีการเช่าพื้นที่อยู่ในอาคารสำนักงานต่างๆ ที่เปิดให้เช่าพื้นที่ ร่วมกับบริษัทอื่นๆ ภายในอาคารเดียวกัน โดยอาจจะมีขนาดของออฟฟิศไม่ได้กว้างขวางมากนัก อาจจะเป็นแค่ห้องเพียงห้องเดียว หรือหลายห้อง ในหลายชั้นก็ได้ แล้วแต่ขนาดของบริษัท

2. โครงสร้างการดำเนินงานภายในของบริษัท

เนื่องจากในการวางแผนการเงินจะมีการแนะนำสินค้าทางการเงินให้กับลูกค้าด้วย ซึ่งโดยมากก็จะหนีไม่พ้น “กองทุนรวม” กับ “ประกัน” (ชีวิต / สุขภาพ / อุบัติเหตุ / วินาศภัยอื่นๆ) เป็นหลัก ดังนั้น คนที่จะเป็นที่ปรึกษาหรือนักวางแผนการเงินของ บริษัทที่ปรึกษาการเงิน จึงจำเป็นต้องถือใบอนุญาตในการแนะนำสินค้าดังกล่าวด้วย สำหรับประกันชีวิต ก็คือ “ใบอนุญาตตัวแทนประกันชีวิต” และสำหรับการแนะนำสินค้าการลงทุน เช่น กองทุนรวม ก็จำเป็นต้องมี “ใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุน” ด้วย

รายได้ของที่ปรึกษาการเงินเหล่านี้จึงมาจากค่าคอมมิชชั่นของประกัน โดยเฉพาะประกันชีวิต เป็นหลัก เนื่องจากเป็นสินค้าที่จ่ายค่าคอมมิชชั่นสูงที่สุด (ประมาณ 25-40% ของเบี้ยประกันปีแรก) ส่วนรายได้จากค่าคอมมิชชั่นของการแนะนำกองทุนรวมจะค่อนข้างน้อย (ประมาณ 0.15% ของมูลค่าเงินลงทุนต่อปี แต่จะได้รับมากขึ้นเรื่อยๆ ตามฐานของมูลค่าเงินลงทุนที่สูงขึ้นทุกๆปี หากมีการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ)

เมื่อต้องทำงานโดยถือใบอนุญาตตัวแทนประกันชีวิตเช่นนี้ ก็ทำให้โครงสร้างภายในของบริษัทจริงๆ มีความเกี่ยวข้องกับโครงสร้างการทำงานของบริษัทประกันชีวิตอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยที่ ภายในบริษัท จะมี “หน่วยงานประกันชีวิต” อยู่ภายใน อาจจะมีเพียงหน่วยเดียว หรือหลายหน่วยก็ได้ ซึ่งแต่ละหน่วยก็จะมี “หัวหน้าหน่วย” ที่เป็นตัวแทนประกันชีวิตอาวุโส เป็นผู้ดูแลบริหารหน่วยอยู่ และหากมีการรับคนใหม่ๆเข้ามาเป็นที่ปรึกษาฯ ก็จะอยู่ในรูปของ “ตัวแทนประกันชีวิต” หน้าใหม่ ที่ต้องสังกัดเป็น “ลูกหน่วย” ของหัวหน้าหน่วยต่างๆเหล่านี้ด้วย การดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ปรึกษาการเงินเหล่านี้จึงถูก “ยึดโยง” กับบริษัทประกันชีวิตอย่างแยกไม่ออก (เพราะยังต้องรับผลตอบแทนโดยตรงจากบริษัทประกันชีวิตนั้นอยู่ ได้เพียงที่เดียว)

แต่นอกเหนือจากความเกี่ยวพันกับบริษัทประกันชีวิตแล้ว ผู้บริหารของ บริษัทที่ปรึกษาการเงิน เหล่านี้ ก็อาจจะมีการไปเจรจาธุรกิจกับธุรกิจการเงินอื่นๆ เพื่อเป็นตัวแทนขาย หรือเป็นผู้แนะนำสินค้าทางการเงินอื่นๆอีก นอกเหนือจากประกันชีวิต เช่น กองทุนรวมในไทย โดยผ่าน บริษัทหลักทรัพย์(บล.) หรือที่เรียกว่า “โบรคเกอร์” หรือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เพื่อให้ที่ปรึกษาไปขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนขายกองทุนรวมของบล.หรือบลจ.เหล่านี้ นอกจากนี้อาจจะยังมีสินค้าการอื่นๆ จากต่างประเทศ เช่น ประกันสุขภาพ, ตั๋วสัญญาใช้เงินต่างๆ หรือ การลงทุนในรูปแบบของกรมธรรม์ประกันชีวิต (Investment Link) ที่เป็นของบริษัทต่างประเทศ ที่บริษัทได้ไปเจรจามา เพื่อรับมาขายอีกด้วย

หรือในบางบริษัท ก็อาจมีการไปเจรจาร่วมธุรกิจกับธุรกิจ หรือหน่วยงานอื่นๆ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ ทำการตลาด หรือประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างแบรนด์ ให้กับของบริษัทตัวเองอีกด้วย เช่น การไปออกบูธงานเอ็กซโปทางการเงิน การออกสื่อ รายการทีวี หนังสือพิมพ์ หรือไปร่วมลงทุนในธุรกิจการเงินอื่น เป็นต้น