จากที่ผมได้เคยให้ความรู้ไปในเรื่องของวิธีการบริหารความเสี่ยง หรือความไม่แน่นอนต่างๆที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับชีวิตของเรา (เข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่ ลิงค์บทความ รู้ไหมชีวิตเรามีความเสี่ยงอะไร จะหาวิธีจัดการล่วงหน้ายังไงถึงจะเหมาะสม?) ทุกคนก็คงจะทราบแล้วว่า ตลอดชีวิตคนเราตั้งแต่เกิดจนตาย ล้วนแต่มีความไม่แน่นอน หรือความเสี่ยงต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่เรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วยเล็กๆน้อยๆ ไปจนถึงการเป็นโรคร้ายแรง, ทำงานก็เสี่ยงต่อการตกงาน ขาดรายได้, ประกอบวิชาชีพบางอย่าง ก็เสี่ยงที่อาจจะก่อความเสียหายให้แก่บุคคลอื่น, จะลงทุน ก็มีความไม่แน่นอนของผลกำไรหรือเงินที่จะได้, ทำธุรกิจก็เสี่ยงที่คู่ค้าจะเบี้ยวสัญญา, จะเกษียณก็มีความเสี่ยงว่าเงินที่เก็บมาจะพอใช้หรือเปล่า หรือจะไปไหนมาไหน ทำกิจกรรมอะไร ก็อาจจะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน ที่ทำให้เราทั้งบาดเจ็บ ทั้งสูญเสียเงินไปกับค่ารักษา หรือถ้าร้ายแรงก็อาจจะถึงขั้นพิกลพิการ เป็นคนทุพพลภาพ หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้

ที่น่ากลัวก็คือ เรื่องของอุบัติเหตุ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับการควบคุมของตัวเราคนเดียว แต่อยู่ที่สภาพแวดล้อม หรือบุคคลอื่นด้วย ต่อให้เรารอบคอบ ไม่ประมาทอย่างดีแล้ว แต่ถ้าสภาพแวดล้อมเกิดบกพร่อง หรือคนอื่นประมาท เราก็มีโอกาสได้รับความเสียหาย โดยที่เราคาดไม่ถึงด้วยเช่นเดียวกัน

ดังนั้น วิธีการหนึ่งซึ่งเราจะสามารถนำมาใช้เพื่อบริหารความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุได้ก็คือ การทำ “ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล” หรือ Personal Accident (PA) นั่นเองครับ ซึ่งรายละเอียดจะเป็นยังไง มีเรื่องอะไรที่เราควรจะต้องรู้เกี่ยวกับ ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (ต่อไปจะขอเรียกสั้นๆว่า PA นะครับ) บ้าง เราไปหาคำตอบกันจาก Q&A ในแต่ละข้อ กันเลยครับ!

1. PA คืออะไร? มีความจำเป็นยังไง?

PA คือการทำประกันประเภทหนึ่งที่อยู่ในส่วนของการประกันภัย ซึ่งบริษัทจะจ่ายเงินชดเชยให้เราหากเราเกิดความสูญเสียทางร่างกาย (บาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะ พิการ เสียชีวิต) ในกรณีที่เกิดจากอุบัติเหตุเท่านั้น (ถ้าเกิดจากการป่วยเป็นโรค ไม่จ่าย) สาเหตุที่เราควรจะต้องทำ PA ก็เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงที่จะสูญเสียความมั่งคั่ง (เงินในกระเป๋า) ไปกับค่ารักษาพยาบาล หากเราประสบอุบัติเหตุ ซึ่งเราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่า จะมีโอกาสเกิดขึ้นเมื่อไหร่? และถ้าเกิดขึ้นแล้วจะมีค่ารักษาเท่าไหร่? หากเป็นอุบัติเหตุร้ายแรง อาจทำให้เราต้องเสียค่ารักษาผ่าตัดเป็นจำนวนมากจนกระทบต่อความมั่งคั่งของเราได้ ร้ายแรงกว่านั้นหากเราสูญเสียอวัยวะ เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ นอกจากต้องเสียค่ารักษาแล้ว อาจจะทำให้เราไม่สามารถทำงานต่อไปได้ ทำให้สูญเสียรายได้ที่จะสามารถหาได้ในอนาคต หรือหากเราเสียชีวิต ก็อาจจะทำให้คนที่เราเลี้ยงดูอยู่มีความเดือดร้อนทางการเงินจากการจากไปของเราได้ ดังนั้น เราจึงโอนความเสี่ยงเหล่านี้ไปให้บริษัทประกันแบกรับแทน ด้วยการทำประกัน แลกกับการจ่ายเบี้ยจำนวนหนึ่งเป็นค่าทำประกัน ซึ่งเป็นการตีกรอบความเสียหาย ให้อยู่ในขอบเขตที่เราสามารถจัดการได้ โดยไม่กระทบกระเทือนต่อเงินในกระเป๋าของเรานั่นเอง

2. PA ครอบคลุมค่าชดเชยในกรณีใดบ้าง?

PA จะจ่ายเงินชดเชยให้กับการเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุทั้ง 7 ประเภท ดังนี้

  • เสียชีวิต สูญเสียอวัยวะและสายตา (ADD)
  • ทุพพลภาพโดยสิ้นเชิง (PD)
  • ค่ารักษาพยาบาล (ME)
  • เงินชดเชยกรณีกระดูกแตกหัก (BB)
  • ค่าเลี้ยงดูสำหรับบุคคลในครอบครัวเป็นรายเดือน (FCG)
  • ค่าชดเชยรายได้ระหว่างการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล (HU)
  • ค่าเลี้ยงดูรายเดือนสำหรับการดำรงชีพ (MLB)

ซึ่งจะครอบคลุมกรณีการเกิดอุบัติเหตุจากเหตุพิเศษ (นอกจากอุบัติเหตุทั่วไป) ดังนี้

  • กรณีถูกฆาตกรรมหรือลอบทำร้าย (MA)
  • กรณีเสียชีวิตจากการขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ (MC)
  • กรณีอุบัติเหตุขณะเดินทางโดยรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (PP)
  • กรณีอุบัติเหตุในวันหยุดนักขัตฤกษ์ (PH)
  • กรณีอุบัติเหตุอันเกิดจากภัยธรรมชาติ (ND)

ซึ่งก็แล้วแต่ PA แต่ละแพคเกจ หรือแต่ละบริษัท ว่าจะครอบคลุมกรณีไหนบ้าง (อาจจะไม่ครบทุกข้อ) ส่วนจะจ่ายเท่าไหร่ ก็ต้องไปดูวงเงินของแต่ละแพคเกจเอาครับ

3. ถ้ามีประกันสุขภาพอยู่แล้ว จำเป็นต้องทำ PA ด้วยไหม?

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่าประกันสุขภาพที่เป็นอนุสัญญาทั้งหลาย จะมีการจ่ายเงินชดเชยให้ก็ต่อเมื่อเราต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเท่านั้น (ยกเว้นอนุสัญญาที่เป็น OPD ที่จ่ายเงินชดเชยค่ารักษากรณีเป็นผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล) ดังนั้น หากเราเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น จากการเกิดอุบัติเหตุ หกล้ม หัวแตก มีดบาด ฯลฯ ที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ก็ไม่สามารถใช้ประกันสุขภาพที่มีอยู่ได้ แต่หากมี PA ที่จ่ายชดเชยค่ารักษาพยาบาลไว้ด้วยก็สามารถใช้ PA เบิกชดเชยค่ารักษาได้ ถามว่าถึงขั้นจำเป็นไหม ก็อาจจะไม่ถึงขั้นนั้น เพราะการรักษาที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล มักจะมีค่ารักษาที่ไม่สูงมาก เราอาจรับภาระค่าใช้จ่ายตรงนี้เองได้ ยกเว้น การรักษาบางอย่าง หรือไปรักษาในโรงพยาบาลชั้นนำ ที่มีค่ารักษาแพง ถ้ามี PA ไว้ก็อาจจะช่วยได้มากกว่าไม่มีครับ

4. อนุสัญญาของประกันสุขภาพที่เป็นตัวชดเชยกรณีอุบัติเหตุ แตกต่างจาก PA ยังไง?

ประกันสุขภาพนั้น มีอยู่กลุ่มหนึ่งที่จ่ายชดเชยกรณีอุบัติเหตุโดยเฉพาะ (คือกลุ่มที่มีชื่อย่อว่า AI, ADD หรือ ADB หรืออ.1, อ.2, อ.3 แล้วแต่บริษัท) ซึ่งก็จะมีส่วนที่เหมือนกับ PA คือจ่ายเงินชดเชยกรณีที่เสียชีวิต, สูญเสียอวัยวะ, ค่ารักษาพยาบาล และชดเชยกรณีนอนโรงพยาบาล เหมือนกัน (ในกรณีถ้าเทียบกับ AI)  แต่จะแตกต่างจาก PA ตรงที่ว่า

  • อนุสัญญาอุบัติเหตุ จะสามารถเลือกวงเงินทุนประกัน