สวัสดีคร้าบบบบ ก่อนอื่นขอแนะนำตัว ในฐานะ Aommoney Guru คนใหม่กันก่อนนะครับ กระผมคือ Insuranger (ชื่อ เอ้ ครับผม ^^) ผู้พิทักษ์ที่จะมาคอยช่วยเหลือให้คำแนะนำในเรื่องการวางแผนประกัน และวางแผนการเงินในองค์รวมแก่คนไทยทั้งประเทศ!! (ว่าไปนั่น)

ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะครับ ^^

เอาล่ะ ในเมื่อผมต้องเขียนเรื่องการวางแผนประกันตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ผมจึงขอนำเสนอบทความแรกอันเป็นพื้นฐานที่สุดในเรื่องการทำประกัน เพื่อให้ทุกคนได้เริ่มต้นไปพร้อมๆกัน นั่นก็คือว่า เมื่อพูดถึงคำว่า “ประกัน” แล้ว มันคืออะไรกันแน่? มันมีความสำคัญกับชีวิตเราหรือไม่ ยังไง? แล้วจำเป็นไหม ที่เราต้องทำประกัน?

โดยพื้นฐานแล้ว คำว่า “ประกัน” ก็คือการ "การันตี" หรือการ "รับประกัน" ที่เป็นอะไรที่ "ได้ชัวร์ๆ" หรือ "แน่นอน 100%" ตามชื่อของมันนั่นแหละครับ เพราะฉะนั้นแล้ว แนวคิดของการทำประกันก็คือ คนซื้อต้องการความ "ชัวร์" ว่าจะได้แน่ๆ (ในกรณีประกันชีวิต) หรือเสียหายไม่เกินที่กำหนดไว้แน่ๆ (ในกรณีประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ และประกันทรัพย์สินอื่นๆ)

ยกตัวอย่างเช่น

1. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment) ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดี ซึ่งเป็นแบบจ่ายเบี้ยแล้วมีเงินคืน นั่นก็คือการออมเงินเพื่อรับประกันว่า ในอนาคตจะมีเงินคืนเป็นจำนวนที่แน่นอน ตายตัว 100% เท่านั้นชัวร์ๆ ไม่มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนหรือได้เงินผันแปรไปจากนี้ ดังนั้น ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์หรือแบบบำนาญจึง “ไม่ใช่การลงทุน” เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง แต่การออมทรัพย์ในระบบประกันชีวิตไม่มี (ดังนั้น ถ้ามีตัวแทน หรือเจ้าหน้าที่คนไหนบอกว่าเป็นการ “ลงทุน” ก็เท่ากับว่าคนคนนั้นไม่มีความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับประกัน โปรดระมัดระวังกันไว้นะครับ) ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์จึงเป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่เราใช้เพื่อ “การันตีเงินเป้าหมายในอนาคตที่เราต้องการ” มุ่งหวังความแน่นอน มากกว่าเรื่องของผลตอบแทนสูงๆ (เราจึงไม่ควรเอาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ไปเทียบกับการลงทุน แล้วคิดว่าการลงทุนดีกว่า เพราะผลตอบแทนสูงกว่า เนื่องจากจุดประสงค์ของสินทรัพย์แต่ละประเภทนั้นต่างกันครับ ลงทุน = ต้องการผลตอบแทน แต่ประกัน = ต้องการความแน่นอน และเมื่อไม่มีความเสี่ยง ผลตอบแทนก็เลยไม่สูง ตามหลัก low risk low return)

2. ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity) ก็เป็นการออมเงินเพื่อการันตีเงินในอนาคตเช่นเดียวกับประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ต่างกันตรงที่แบบบำนาญจะเป็นการ เน้นการการันตีเงินในอนาคต "ตอนเกษียณ" โดยเฉพาะ ว่าหลังเกษียณ (ซึ่งก็สามารถเลือกได้ตั้งแต่อายุ 55, 60 หรือ 65 ปี) ต้องการการันตีว่า อยากมีเงินคืนปีละเท่าไหร่

3. ขณะที่ประกันสะสมทรัพย์หรือประกันบำนาญ มีไว้เพื่อการันตีเงินที่เราต้องการ “ในขณะที่เรามีชีวิตอยู่” ประกันชีวิตแบบเน้นความคุ้มครอง (เช่นแบบตลอดชีพ (Whole Life) หรือแบบชั่วระยะเวลา (Term)) ก็มีไว้เพื่อการันตีเงินที่เราต้องการ “เมื่อเราจากไป” นั่นเอง ดังนั้น การทำประกันชีวิตแบบเน้นความคุ้มครองจึงมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการการันตีให้เราแน่ใจว่า ถ้าเราจากไปอย่างกะทันหัน คนที่เรามีภาระรับผิดชอบเลี้ยงดู จะมีเงินทุนที่เพียงพอไว้ใช้ดำเนินชีวิตต่อไปได้เหมือนเดิมอย่างแน่นอน (ส่วนเงินทุนที่เพียงพอ จะควรจะมีเท่าไหร่นั้น เราก็ต้องมาคำนวณการหามูลค่าคุ้มครอง หรือทุนประกันที่เหมาะสมกันต่อไป ซึ่งผมจะสอนวิธีคำนวณให้ภายหลังครับ ^^)

4. ส่วนประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ หรือประกันทรัพย์สินอื่นๆ (เช่นประกันรถยนต์ ประกันอัคคีภัย) ก็มีไว้เพื่อการันตีว่า หากเกิดความเสียหายต่อสุขภาพ ร่างกาย หรือทรัพย์สินขึ้นมา ไม่ว่าความเสียหายทางตัวเงินจะมีมากแค่ไหน คุณก็จะล็อคความเสียหายไว้ไม่เกินแค่เบี้ยประกันที่จ่ายแน่นอน (เช่น ถ้าเราเกิดประสบอุบัติเหตุต้องเสียค่าผ่าตัดและค่ารักษาพยาบาลรวม 1 ล้านบาท แทนที่เราจะต้องจ่าย 1 ล้านบาท เราอาจจะจ่ายแค่ 2 หมื่นบาทจากค่าเบี้ยประกันสุขภาพเท่านั้นเอง)

ซึ่งจุดนี้บางคน (หรืออันที่จริงอาจจะหลายคน) ก็อาจจะคิดว่า เบี้ยประกันประเภทนี้เป็นเบี้ยประกันแบบ “จ่ายทิ้ง” แปลว่า ถ้าปีไหนไม่ได้มีการเคลมหรือเรียกร้องค่าชดเชย ก็เท่ากับว่าเสียค่าเบี้ยประกันทิ้งไปฟรีๆ ฟังดูแล้วอาจจะคิดว่า “ไม่คุ้ม” เอาซะเลย

แน่นอนครับว่า ถ้าเรารู้แน่ๆว่าเราไม่ต้องเคลมประกันเลยตลอดชีวิต มันก็คงจะไม่คุ้มแน่ๆ แต่ในความเป็นจริง จะมีใครมั่นใจได้ 100% ไหมล่ะครับว่า ตลอดชีวิตนี้เราคงจะไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่มีทางเป็นโรคร้ายแรง ไม่มีทางประสบอุบัติเหตุ หรือไม่มีทางเกิดเรื่องร้ายๆกับชีวิตของเราอย่างแน่นอน และหากมันเกิดขึ้น ลองคิดดูว่ามันจะส่งผลกระทบกับการเงินของเราขนาดไหน? เงินเก็บทั้งหมดที่เราสะสมมาจะเหลือเท่าไหร่? ถ้าเงินเก็บไม่พอจะต้องไปขายทรัพย์สินหรือพอร์ตการลงทุนของเราทิ้งเพื่อนำมาเป็นค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นรึเปล่า?

สำหรับการเงินของเราแล้ว เสียหายแค่จุดเดียว ก็อาจส่งผลกระทบลุกลามไปทุกส่วนของชีวิตได้

ดังนั้นแล้ว เราไม่สามารถมองประกันความเสียหายประเภทนี้ในแง่ของความคุ้มค่าของ “ผลที่จะได้” (ได้เงินชดเชยถึงจะคุ้ม) ได้หรอกครับ เพราะมันถูกออกแบบมาเพื่อการการันตี “ผลที่จะเสีย” ให้อยู่ในขอบเขตที่เรารับผิดชอบได้อย่างไม่ลำบาก (ซึ่งก็คือจำนวนเบี้ยประกันที่เราจ่าย) มากกว่า

และอันที่จริง อาจจะไม่มีคำว่า “คุ้มค่า” ในเรื่องของชีวิตและสุขภาพของเราเลยก็ได้ เพราะต่อให้เราได้เงินชดเชยมามากขนาดไหน แต่ถ้าต้องแลกก็ความเจ็บปวดทรมานจากการเจ็บป่วย เราก็คงจะไม่อยากแลกมันหรอก จริงไหมล่ะครับ?

นั่นแหละครับ คือพื้นฐานความหมายที่แท้จริงของคำว่า "ประกัน"

ส่วนถ้าจะถามว่า ประกันสำคัญสำหรับเราขนาดไหน? เราจำเป็นต้องทำประกันรึเปล่า? มันก็ต้องถามตัวเองกลับไปจากการที่เราเข้าใจความหมายของประกันแล้วล่ะครับว่า แล้วตกลง เรามีความจำเป็นหรือต้องการการการันตีในเรื่องอะไรรึเปล่า? เช่น สำหรับคนที่รวยมากๆ มีทรัพย์สินหลาย