หากติดตามบทความที่ผมเขียนมาตลอด เชื่อว่าหลายคนคงจะเริ่มเข้าใจถึงความไม่แน่นอนของชีวิต และการวางแผนเพื่อปกป้องคุ้มครองความไม่แน่นอนเหล่านั้น แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำ “ประกันสุขภาพ” เพราะมันคือการคุ้มครองความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินจำนวนมากไปกับค่ารักษาพยาบาล ให้กับตัวเราเองเต็มๆ

แต่คำถามต่อมาก็คือ “แล้วเราควรจะทำประกันสุขภาพเท่าไหร่ดี ถึงจะเหมาะสมกับตัวเรา?”

หรือ “มีสวัสดิการที่เป็นค่ารักษาพยาบาลของที่ทำงานอยู่แล้ว จะยังต้องซื้อประกันสุขภาพเองอีกรึเปล่า?” เป็นต้น

ดังนั้น วันนี้ผมจะมาบอกให้ฟังครับว่า "การทำประกันสุขภาพจริงๆแล้วนั้น มีหลักคิดยังไง"

หลักในการทำประกันสุขภาพ

1. สำรวจค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลที่เราต้องการใช้บริการ

โรงพยาบาลที่เราเลือกเบื้องต้น ควรจะเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ใกล้บ้าน หรือใกล้ที่ทำงาน เพราะเมื่อเจ็บป่วย หรือเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ไปรักษาตัวได้รวดเร็ว (ถ้าเป็นโรงพยาบาลรัฐอาจจะต้องรอคิว) โดยค่าใช้จ่ายที่เป็นค่ารักษาหลักๆที่เราควรจะสำรวจก็คือ ค่าห้อง / ค่าผ่าตัดใหญ่ / ค่ารักษาโรคร้ายแรง (เช่น มะเร็ง, หลอดเลือดหัวใจตีบ, เส้นเลือดในสมองแตก) อย่างไรก็ตาม ระดับค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลที่เราเลือก ก็ควรสอดคล้องกับฐานะความเป็นอยู่ของเราด้วยนะครับ เพื่อที่เราจะได้จ่ายค่าเบี้ยได้เหมาะสม และวงเงินค่ารักษาจะได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด เราจะได้ไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก (ถ้าเป็นไปได้)

2. สำรวจอาชีพการงานของเรา และสวัสดิการรักษาพยาบาลที่เรามีอยู่

อาชีพที่เราทำ มีผลต่อความจำเป็นในการทำประกันสุขภาพ และสวัสดิการค่ารักษาที่มีอยู่ เช่น คนที่ทำงานอิสระ มีอาชีพค้าขาย หรือคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจ  ควรจะต้องทำประกันสุขภาพส่วนตัว เพราะคงไม่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลใดๆ เนื่องจากเป็นนายตัวเอง (ยกเว้น สวัสดิการรักษาพยาบาลจากทางรัฐบาล ซึ่งตามปกติก็ครอบคลุมแค่โรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอความต้องการกรณีฉุกเฉิน)  ส่วนคนที่เป็นพนักงานออฟฟิศ ก็อาจจะมีสวัสดิการที่เป็นประกันกลุ่มอยู่ หรือคนที่เป็นข้าราชการ ก็จะมีสวัสดิการเบิกค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลของรัฐได้

3. สำรวจว่าสวัสดิการ หรือประกันสุขภาพที่เรามี ขาด/เกิน ไปจากค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลนั้นอยู่เท่าไหร่ ให้ทำเพิ่มจนเต็มส่วนที่ขาด

สำหรับคนที่ไม่มีสวัสดิการ และไม่มีประกันสุขภาพใดๆเลย ก็ให้ทำประกันสุขภาพเต็มวงเงินค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดเลย (เช่น โรงพยาบาลที่จะใช้บริหารมีค่าห้องเดี่ยวแบบปกติอยู่ที่ 3,000 บาทต่อคืน ค่ารักษาโรคมะเร็ง 500,000 บาท ก็ให้ทำแผนประกันสุขภาพแบบคุ้มครองค่ารักษา แบบที่ให้ค่าห้อง 3,000 บาท ทำประกันโรคมะเร็ง วงเงินคุ้มครอง 500,000 บาท เต็มๆไปเลย) ส่วนคนที่มีสวัสดิการอยู่แล้ว เช่น ประกันกลุ่ม หรือมีประกันสุขภาพอยู่แล้ว ก็ให้ดูส่วนที่ขาด แล้วให้ทำเพิ่มจนเต็ม เช่น ถ้าต้องการใช้โรงพยาบาลค่าห้อง 3,000 บาทเหมือนกัน  แต่มีประกันกลุ่ม / ประกันสุขภาพที่มีอยู่แล้ว ที่เบิกค่าห้องได้ 2,000 บาทต่อคืน  ก็ให้ทำประกันสุขภาพแบบคุ้มครองค่ารักษา แบบที่ให้ค่าห้อง 1,000 บาท เพิ่มเติม เป็นต้น ส่วนคนที่เป็นข้าราชการ ก็อาจเลือกแบบประกันสุขภาพคุ้มครองค่ารักษาแผนที่จ่ายค่าเบี้ยไม่สูงนัก เผื่อสำรองกรณีฉุกเฉินที่จำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลรัฐ เพิ่มเติมจากสวัสดิการโรงพยาบาลรัฐที่มีอยู่ก็ได้ครับ

4. ทำประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทั้ง ค่ารักษาพยาบาล กรณีอุบัติเหตุ และกรณีโรคร้ายแรง โดยให้ค่าเบี้ยประกันไม่เกิน 10% ของรายได้รวมทั้งปี

ทำประกันสุขภาพทั้งที ก็ควรจะให้ครอบคลุมทั้งแบบที่เป็นค่ารักษา แบบกรณีอุบัติเหตุ และแบบโรคร้ายแรง เพื่อชดเชยในกรณีที่เราอาจจะต้องเป็นคนทุพพลภาพ (จากอุบัติเหตุหรือจากโรคร้ายแรง) หรือชดเชยกรณีขาดรายได้ช่วงพักรักษาตัวด้วย แต่สิ่งสำคัญก็คือ ค่าเบี้ยประกันทั้งหมด ไม่ควรจะเกิน 10% ของรายได้รวมทั้งปีของเรา เพื่อให้เรามีกำลังจ่ายเบี้ยประกันไหวไปนานๆ (เพราะยิ่งอายุมาก ค่าเบี้ยประกันสุขภาพก็ยิ่งแพงขึ้นด้วย ต้องวางแผนจ่ายเบี้ยให้ดี โดยดูค่าเบี้ยในปีต่อๆไปล่วงหน้าไว้ด้วย) ซึ่งถ้ากรณีที่เราต้องทำประกันสุขภาพครบทุกประเภท และทำจนเต็มวงเงินค่ารักษาของโรงพยาบาลที่เราเลือก ทำให้เราต้องจ่ายค่าเบี้ยเกิน 10% ของรายได้ทั้งปี เราก็อาจจะต้องปรับ โดยอาจจะเลือกลดวงเงินคุ้มครองลงมาเพื่อให้ค่าเบี้ยถูกลง หรือเลือกเฉพาะตัวที่สำคัญที่สุดก่อน คือแบบคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล (ซึ่งถ้าเป็นแบบแยกค่าใช้จ่าย เบี้ยก็จะถูกกว่าแบบเหมาจ่ายค่ารักษา) ถ้างบเหลือ ก็ค่อยเพิ่มตัวที่เป็นแบบโรคร้ายแรงเข้าไปครับ

5. ทำประกันสุขภาพควบคู่กับประกันชีวิตตัวหลักที่เป็นแบบสัญญาคุ้มครองตลอดชีพ

ประกันสุขภาพ ควรจะต้องทำกับประกันชีวิตที่เป็นแบบตลอดชีพ (ถึงอายุ 90 หรือ 99) ไม่ควรจะทำควบคู่กับแบบสะสมทรัพย์ที่เน้นการออม เพราะจุดประสงค์ของการทำประกันสุขภาพ ก็เพราะเราต้องการการคุ้มครองสุขภาพในระยะยาว เราจึงต้องการแผนประกันชีวิตที่มีระยะเวลาสัญญาคุ้มครองที่ยาว เพื่อเป็นสัญญาหลักให้ประกันสุขภาพพ่วงคู่ไปด้วยได้นานๆ ถ้าเกิดเราไปทำกับประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งอาจมีระยะ