ผมเชื่อว่าถ้าเราพูดถึงประกันชีวิตแล้วล่ะก็ คนส่วนใหญ่คงจะนึกถึงประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเป็นแบบประกันชีวิตที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุด ทั้งจากที่ตัวแทน บริษัทประกันชีวิต และธนาคาร โหมกระหน่ำกันเสนอขาย รวมถึงเป็นแบบประกันที่เรามักจะซื้อกันเพื่อใช้ลดหย่อนภาษีมากที่สุดอีกด้วย

แต่เราจะรู้ได้ยังไง ว่าประกันสะสมทรัพย์ที่เราซื้อไปนั้น มันจะตอบโจทย์ มีประโยชน์ หรือคุ้มค่ากับเงินที่เราจ่ายไปที่สุด?

ก่อนอื่นเลย เราต้องทราบก่อนว่า หน้าที่หรือจุดประสงค์หลักของประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ก็คือ “การการันตีเงินเป้าหมายในอนาคต” คุ้มครองความเสี่ยงเรื่องความไม่แน่นอนของการที่จะไม่มีเงิน หรือมีเงินก้อนสำหรับเป้าหมายในอนาคตไม่เพียงพอ ดังนั้น หากเราจะซื้อประกันสะสมทรัพย์เราก็ควรจะต้องซื้อเพื่อจุดประสงค์นี้เป็นหลักถึงจะตอบโจทย์จริงๆ ไม่ใช่จุดประสงค์อื่น (เช่น เพื่อลดหย่อนภาษี – เพราะประกันชีวิตแบบอื่นๆ หรือ RMF LTF ก็สามารถลดหย่อนได้ หรือเพื่อคุ้มครองชีวิตเป็นหลักอย่างเดียว – เพราะมีประกันชีวิตแบบอื่นที่เหมาะสมกว่า เช่นแบบตลอดชีพ หรือแบบชั่วระยะเวลา อาทิ 10/1 , 10/10 เป็นต้น)

เอาล่ะ! เมื่อเราทราบแล้วว่า ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์มีไว้เพื่อการันตีเงินเป้าหมายแล้ว เราก็ค่อยไปดูรายละเอียดของเงินเป้าหมายที่เราต้องการต่อไป เพื่อจะได้หาประกันสะสมทรัพย์ที่เหมาะสมกับเป้าหมายนั้นได้ แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ผมอยากจะขออธิบายการทำงานหรือ “ไส้ใน” ของประกันชีวิตกันสักหน่อย เพื่อจะได้เข้าใจที่มาที่ไป และเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงควรจะเลือกซื้อประกันตัวนั้นกัน

โดยทั่วไปแล้ว สิ่งที่ทำให้เกิดประกันชีวิตแบบต่างๆ (ตลอดชีพ, ชั่วระยะเวลา, สะสมทรัพย์, บำนาญ, ยูนิตลิงค์) คือความแตกต่างระหว่างสัดส่วนของ “เงินคุ้มครอง” กับ “เงินออม” เพราะเบี้ยประกันที่เราจ่ายไป บริษัทจะจัดสรรเบี้ยส่วนหนึ่งไปเป็นค่าใช้จ่ายในการทำประกันชีวิต อีกส่วนจะเอาไปลงทุน บริหารจัดการให้ได้ดอกผลมาจ่ายเป็นผลตอบแทนส่วนหนึ่งคืนให้แก่ผู้ทำประกัน ดังนั้นหากจัดสัดส่วนในค่าใช้จ่ายในการทำประกันชีวิตมากๆ ก็จะเป็นประกันชีวิตที่เน้นคุ้มครองชีวิต วงเงินคุ้มครองสูง แต่ไม่มีผลตอบแทน (เงินคืน) หรือมีเพียงแต่มูลค่าเงินสดในกรมธรรม์ เช่นแบบตลอดชีพ หรือแบบชั่วระยะเวลา หากจัดสัดส่วนในเงินออมเยอะ วงเงินคุ้มครองก็จะต่ำ แต่จะมีผลประโยชน์และผลตอบแทนที่มากกว่า ก็จะกลายเป็นแบบสะสมทรัพย์ หรือแบบบำนาญ(รีไทร์เรดดี้ 85/55 , 85/60) นั่นเองครับ

เมื่อเข้าใจแล้วก็จะเห็นว่า “สเกล” ระหว่าง “เน้นคุ้มครอง” กับ “เน้นเงินออม” นี้เองที่ทำให้เกิดประกันแบบต่างๆกันออกไป ซึ่งตัวประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เอง ก็มีความแตกต่างของระดับของสเกลตัวนี้อยู่เช่นเดียวกัน ตั้งแต่แบบ “เน้นเงินออม เกือบ 100%” คือเบี้ยทั้งหมดเอาไปเป็นเงินออมเกือบทั้งหมด แทบจะไม่มีส่วนค่าใช้จ่ายในการประกันชีวิตเลย ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์แบบนี้ก็แทบจะเหมือนกับ “เงินฝากประจำ” ยังไงยังงั้น (ผลตอบแทนประมาณ 2-3% ต่อปี จ่ายเบี้ยเท่าไหร่ ถ้าเสียชีวิตก็ได้เบี้ยที่จ่ายมาคืน หรืออาจจะได้มากกว่านิดหน่อย) ก็จะเหมาะกับคนที่ต้องการออมเงิน เน้นการันตีผลตอบแทนอย่างเดียว ไม่ต้องการการคุ้มครองชีวิตเลย หรือแบบ “เน้นออมไปพร้อมๆกับการคุ้มครองด้วย” ก็จะมีสัดส่วนของเงินคุ้มครองเพิ่มเข้ามา ผลตอบแทนก็อาจจะน้อยกว่าแบบออมแต่เพียงอย่างเดียว แต่ก็จะได้วงเงินคุ้มครองชีวิตที่สูงขึ้น เหมาะกับคนที่ต้องการการันตีผลตอบแทนไปพร้อมๆกับคุ้มครองชีวิต เช่น คนที่ต้องการวางแผนการศึกษาบุตร (เพราะต้องการการันตีเงินทุนการศึกษาให้ลูก ไม่ว่าตัวเราจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม – ถ้าเสียชีวิต ก็จะได้ทุนประกันชีวิตที่สูงกว่าเบี้ยที่จ่ายไป มาเป็นทุนการศึกษาให้ลูก / ถ้ามีชีวิตอยู่จนครบสัญญา ก็จะได้ผลตอบแทนเป็นเงินก้อนเมื่อครบสัญญา มาเป็นทุนการศึกษาให้ลูกเช่นเดียวกัน)

พอเรารู้แล้วว่า เราต้องการใช้ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เพื่อการันตีเงินเป้าหมาย และรู้แล้วว่าเราต้องการสัดส่วนของเงินออมกับเงินคุ้มครองมากน้อยแค่ไหน ต่อไป เราก็มาดูถึงเป้าหมายที่เราต้องการกันได้แล้วครับ ซึ่งสิ่งที่เราต้องดูก็คือ “ระยะเวลา” “จำนวนเงินที่ต้องการ” นั่นเอง

เนื่องจากประกันแบบสะสมทรัพย์มีมากมายหลายแบบมาก ทั้งแบบเน้นออม 100%, แบบออมและคุ้มครองเท่าๆกัน, แบบสัญญาระยะสั้น – กลาง – ยาว, แบบจ่ายเบี้ยสั้น – กลาง – ยาว (แบบสัญญาระยะสั้นหรือระยะเวลาคุ้มครองสั้น ก็มักจะจ่ายเบี้ยสั้นๆอยู่แล้ว ส่วนแบบสัญญาระยะยาว ก็มีให้เลือกทั้งจ่ายเบี้ยสั้น หรือจ่ายเบี้ยยาว) ดังนั้น เราต้องมาสำรวจก่อนว่า :

     - เป้าหมายที่เราต้องการการันตีน่ะ มีระยะเวลาอีกกี่ปีกว่าจะถึงเป้าหมาย?
     - เป้าหมายนั้นเป็นเงินเท่าไหร่?
     - และเราสะดวกที่จะจ่ายเบี้ยกี่ปี? สั้น หรือยาว (ยิ่งสั้น เบี้ยจะยิ่งสูงกว่าแบบจ่ายยาว)

ยกตัวอย่างเช่น เป้าหมายของเราคือ การันตีเงินทุนการศึกษาระดับมัธยม + ปริญญาตรีให้ลูก ซึ่งคำนวณแล้วเป็นเงิน 5 แสนบาท โดยมีระยะเวลาอีก 10 ปี ก่อนจะถึงเป้าหมาย (สมมติตอนนี้ลูกอายุ 2 ขวบ) เราก็ไปซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ที่มีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปี ทุนประกัน 5 แสนบาท และได้เงินคืนทั้งหมดออกมารวมไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท ส่วนจะจ่ายเบี้ยกี่ปี จ่ายเท่าไหร่ ก็ให้ดูงบประมาณที่เราจะจ่ายได้ในแต่ละปี ถ้ามีเหลือมาก ก็อาจจะเลือกสั้นๆได้ เช่น 10/3 (คุ้มครอง 10 ปี จ่ายเบี้ย 3 ปี) แต่ถ้ามีงบมากหน่อย ก็อาจเลือกแบบประกัน เช่น 10/5 หรือ 10/4 เป็นต้น

หรืออีกกรณี หากเราต้องการเน้นออมทรัพย์อย่างเดียว หรือต้องการแหล่งพักเงินระยะสั้น-กลาง (3-5 ปี) โดยไม่สนเรื่องการคุ้มครองชีวิตเลย  เราก็อาจเลือกประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ระยะสั้น เน้นเงินออมเป็นหลัก เช่น 5/1 (คุ้มครอง 5 ปี จ่ายเบี้ยครั้งเดียว)