เข้าสู่ช่วงปลายปีแล้ว หลายคนคงอาจจะกำลังมองหาตัวช่วยลดหย่อนภาษีอยู่ใช่ไหมล่ะครับ? ซึ่งการซื้อประกัน ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง ที่สามารถซื้อแล้วนำไปเป็นค่าลดหย่อน เพื่อช่วยให้เราประหยัดภาษีเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากทางรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้ประชาชนได้มีประกันไว้คุ้มครองความเสี่ยงให้ตัวเอง โดยมีเงื่อนไขคร่าวๆ ในการซื้อประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษี ก็คือ :

  • ประกันชีวิตแบบทั่วไป (ตลอดชีพ, ชั่วระยะเวลา, สะสมทรัพย์) ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท (ถ้าคู่สมรสไม่มีรายได้ ก็เอาค่าเบี้ยประกันของคู่สมรสมาลดหย่อนภาษีให้เราได้อีก สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท)
  • ประกันชีวิตแบบบำนาญ ใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้ ไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปี สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับ RMF, เงินจ่ายสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD), เงินจ่ายสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), เงินจ่ายสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และเงินจ่ายสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ต้องรวมกันแล้วไม่เกิน 500,000 บาท

คำถามก็คือ "เมื่อเรารู้สิทธิ์ที่ใช้ประกันชีวิตในการลดหย่อนภาษีแล้ว แล้วเราควรซื้อประกันชีวิตแบบไหน? และซื้อเท่าไหร่ยังไง? เพื่อเอาไปลดหย่อนภาษีตามเงื่อนไขดีล่ะ? ถึงจะคุ้มค่า ตอบโจทย์ที่สุด" นั่นคือสิ่งที่เราจะมาหาคำตอบกันในวันนี้ครับ!

แต่ก่อนที่จะไปดูว่าเราควรซื้อประกันชีวิตแบบไหน เราควรจะต้องถามตัวเองก่อนครับว่า “ทำไมเราถึงจะต้องลดหย่อนภาษีด้วยการซื้อประกันชีวิตด้วย?” เพราะถ้าอยากจะลดหย่อนภาษี ก็มีสินค้าทางการเงินตัวอื่น อย่างเช่น RMF หรือ LTF ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้เหมือนกัน

ดังนั้นแปลว่า ถ้าเราจะลดหย่อนภาษีด้วยการซื้อประกันชีวิต ก็แปลว่า “เราอยากได้คุณประโยชน์เฉพาะตัวของประกันชีวิต ที่โปรดักอื่นไม่มี” ถูกต้องไหมครับ? ซึ่งคุณประโยชน์เฉพาะตัวของประกันชีวิตที่โปรดักอื่นไม่มีเนี่ย มันก็คือความสามารถในการ “การันตี” เงินที่จะได้ นี่แหละครับ

เพราะฉะนั้น สรุปก็คือ ถ้าเราอยากจะซื้อประกันชีวิต เพื่อลดหย่อนภาษี ให้คุ้มค่าที่สุด เราต้องมาสำรวจตัวเอง หรือหาจุดประสงค์ตัวเองให้เจอครับว่า “เราอยากทำประกันชีวิตเพราะต้องการการันตีเรื่องอะไร?” (ดังนั้นต่อไปนี้ห้ามตอบว่า “ที่อยากทำประกันชีวิตก็เพื่อนำไปลดหย่อนภาษี” อีกนะครับ เพราะนั่นไม่ใช่จุดประสงค์ที่แท้จริงของการทำประกันชีวิตครับ 555)

ซึ่งประกันชีวิตจะช่วยการันตีเรื่องอะไรให้เราได้บ้าง?
ใครที่เหมาะสมกับจุดประสงค์แบบนั้น?
แบบประกันชีวิตแบบไหนที่จะตอบโจทย์?
และ ควรจะต้องทำเท่าไหร่ถึงจะตอบโจทย์?

ผมมีคำแนะนำให้ดังนี้ครับ :

1. การันตีได้ว่า “ถ้าวันนึงเราจากไปแบบกะทันหัน คนที่เขาต้องพึ่งพาเรา จะได้เงินชดเชยแน่ๆก้อนหนึ่ง เพื่อไว้บรรเทาความเดือดร้อน”

ใครที่เหมาะสม? : เหมาะกับ คนที่ต้องเลี้ยงดูครอบครัว คนที่เป็นเจ้าของธุรกิจ หรือคนที่มีคนอื่นๆต้องดูแล

ประกันชีวิตแบบไหนที่เหมาะสม? : “แบบตลอดชีพ” หรือ “แบบชั่วระยะเวลา” ที่ไม่เน้นเงินคืน หรือผลตอบแทน แต่เน้นจ่ายเบี้ยน้อย ความคุ้มครองสูงๆครับ

ทำเท่าไหร่ถึงจะตอบโจทย์? : ทำให้ทุนประกัน (วงเงินคุ้มครอง) ครอบคลุมค่าดูแลในแต่ละปี ไปจนกว่าจะหมดภาระดูแล

2. การันตีได้ว่า “ถ้าวันนึงเราจากไปแบบกะทันหัน คนอื่นจะไม่ต้องมารับภาระหนี้สินที่ยังเหลืออยู่ของเรา”

ใครที่เหมาะสม? : คนที่มีหนี้สินที่ยังเหลืออยู่ เช่น หนี้รถ หนี้บ้าน

ประกันชีวิตแบบไหนที่เหมาะสม? : “แบบคุ้มครองหนี้สิน” ที่วงเงินคุ้มครองจะลดลงเรื่อยๆตามหนี้สินที่ทยอยลดลง จากการทยอยผ่อนชำระ

ทำเท่าไหร่ถึงจะตอบโจทย์? : ทำให้ทุนประกันครอบคลุมมูลค่าหนี้สินที่เหลืออยู่ ณ ตอนนั้น

3. การันตีได้ว่า “ถ้าอยากจะออมเงิน โดยไม่มีความเสี่ยงในการขาดทุน และจะได้เงินก้อนหนึ่งเอาไว้ใช้เองแน่ๆในอนาคต”

ใครที่เหมาะสม? : คนที่ต้องการออมเงิน แล้วไม่อยากเจอความเสี่ยง หรือความผันผวนของผลตอบแทน อยากมีเงินแน่ๆก้อนหนึ่ง ไว้ใช้ในอนาคต

ประกันชีวิตแบบไหนที่เหมาะสม? : “แบบสะสมทรัพย์” หรือที่ชอบเรียกกันว่าแบบออมทรัพย์ ที่มีเงินคืนในแต่ละปี ครบสัญญาได้เงินก้อนใหญ่นั่นแหละครับ

ทำเท่าไหร่ถึงจะตอบโจทย์? : ทำให้เงินคืนทั้งหมดรวมถึงเงินครบสัญญา เท่ากับเงินที่เราวางแผนอยากจะได้ในอนาคต (เช่น อยากจะมีเงิน 500,000 ในอีก 10 ปีข้างหน้า ก็คำนวณให้เงินคืนทั้งหมดเท่ากับ 5 แสน แล้วค่อยคำนวณกลับมาเป็นเบี้ยที่จะจ่าย)

4. การันตีได้ว่า “ถ้าถึงอายุเกษียณ เราจะมีเงินก้อนหนึ่งที่จะได้แน่ๆ ในทุกๆปี ให้เราเอาไว้ใช้ยามเกษียณในแต่ละปี”

ใครที่เหมาะสม? : คนที่วางแผนจะเกษียณตอนอายุ 55 หรือ 60 ปี แล้วได้เงินก้อนหนึ่งที่แน่นอนเอาไว้ใช้หลังเกษียณ ในทุกๆปี

ประกันชีวิตแบบไหนที่เหมาะสม? : “แบบบำนาญ” ที่จะจ่ายเงินบำนาญให้เราทุกปี ตั้งแต่เราเกษียณตอน 55 หรือ 60 ปี ไปจนถึงอายุ 85 ปีเป็นอย่างน้อยครับ

ทำเท่าไหร่ถึงจะตอบโจทย์? : ทำให้เงินบำนาญที่จะได้ในแต่ละปี เท่ากับจำนวนเงินขั้นต่ำสุดเพื่อให้เรามีชีวิตรอด (เช่น คิดว่าเงินขั้นต่ำสุดที่จะทำให้เราพออยู่พอกินในแต่ละเดือนคือ 8,000 บาท ปีหนึ่งก็ 96,000 ก็ให้ทำประกันบำนาญ โดยคำนวณให้ได้เงินบำนาญปีละ 96,000 บาท++ ต่อปี (เผื่อเงินเฟ้อไว้ด้วยครับ)

สรุปวิธีวางแผนซื้อประกันชีวิต เอาไว้ลดหย่อนภาษี ให้คุ้มค่าที่สุด

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เรารู้แล้วว่าควรจะทำเท่าไหร่ถึงจะตอบโจทย์ แต่บางทีมันก็อาจจะไม่เหมาะสมก็ได้ เพราะโจทย์ที่เราต้องการหรือมีความจำเป็น อาจจะต้องจ่ายเบี้ยเยอะเกินกว่าที่เราจะจ่ายไหว ก็ควรจะต้องดูกำลังความสามารถของตัวเองด้วย ว่าจะจ่ายไหวประมาณเท่าไหร่ โดยทั่วไปแล้ว ค่าเบี้ยประกันชีวิตทั้งหมดที่เหมาะสม ควร